Redefining the Good Life คุณภาพชีวิตที่ดี เริ่มจากแบรนด์

Redefining the Good Life คุณภาพชีวิตที่ดี เริ่มจากแบรนด์

 

Redefining the Good Life คุณภาพชีวิตที่ดี เริ่มจากแบรนด์ที่ยั่งยืน

เมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา มีการจัดงานประชุมสัมมนาด้านการสร้างแบรนด์เพื่อความยั่งยืนระดับโลก Sustainable Brands 2017 Bangkok ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจากสุดยอดผู้นำของแบรนด์ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศกว่า 82 คน มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่จะช่วยนำพาธุรกิจและประเทศให้ก้าวไปสู่การเป็นแบรนด์ที่ยั่งยืน ภายใต้การร่วมกันนิยามคุณภาพชีวิตที่ดี หรือ Redefining the Good Life

Good Advertising…Make People Cry or Buy

นายโธมัส โคลสเตอร์ นักโฆษณามือหนึ่ง ผู้ก่อตั้ง Goodvertising เอเจนซี่โฆษณาที่เชี่ยวชาญในการสื่อสารเรื่องความยั่งยืน และเจ้าของผลงานหนังสือ Goodvertising: Creative Advertising that Cares ได้มาแบ่งปันความรู้เรื่องของการทำโฆษณา โดยเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามชวนคิดว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในทุกวันนี้ นักการตลาด ควรให้แบรนด์มุ่งแสวงหากำไรและยอดขาย ด้วยการผลักให้ผู้บริโภคซื้อหาสินค้ามากเกินกว่าที่จำเป็น หรือควรหันกลับมาใส่ใจกับระบบนิเวศโดยรวม ด้วยการมองผู้บริโภคอย่างเข้าใจ และพัฒนาสินค้า หรือบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างแท้จริง

“การทำงานโฆษณาในหลายทศวรรษที่ผ่านมาอาจไม่ได้ยืนอยู่บนฐานความคิดที่ถูกต้องเท่าไหร่นัก วันนี้เราคงต้องสร้างสินค้าและบริการให้สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค มากกว่าที่จะผลักให้พวกเขาไปซื้อหาอะไรที่เกินความจำเป็น ผมมองว่าโจทย์ที่เปลี่ยนไปเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้นสำหรับนักการตลาด และนักโฆษณา โลกของการตลาดจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน เราต้องทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันให้ถ่องแท้ และเราต้องสื่อสารความจริงให้กับผู้บริโภค เพราะผลลัพธ์จะเกิดขึ้นกับแบรนด์คือความรักและความผูกพันระยะยาวจากผู้บริโภค” นายโธมัสกล่าว

How JAPANESE Brands Define “GOOD”

คาสิโอแบรนด์ชั้นนำจากญี่ปุ่นถ่ายทอดเรื่องราวการสร้างแบรนด์ให้ยั่งยืนผ่านกิจกรรมมากมายที่ถูกออกแบบให้กับพนักงานและผู้บริหารได้สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและประชาชน หนึ่งในนั้นคือการสนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษาภายใต้แนวคิดของ Gakuhan โครงการที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ของคาสิโอให้แข็งแกร่งและยังคงยืนหยัดอยู่บนความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมาได้จนถึงทุกวันนี้

นายโนริอากิ คิมุระ ผู้บริหารจากคาสิโอ กล่าวว่า สินค้าที่เป็นที่รู้จักและเป็นหัวใจสำคัญของคาสิโอก็คือเครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์ ที่มีฟังก์ชั่นในการทำงานมากกว่าเครื่องคิดเลขธรรมดา แต่น้อยคนนักที่จะได้ใช้ประโยชน์ทั้งหมดจากเครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์ ยกเว้นแต่บุคคลากรในสายอาชีพวิศวกร หรือนักวิทยาศาสตร์

“เมื่อมองไปถึงเป้าหมายในการออกแบบและพัฒนาสินค้า มันคือเรื่องของการศึกษา นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คาสิโอลงลึกเรื่องการส่งเสริมการศึกษา และสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาทั่วโลก"

นายโนริอากิ กล่าวต่อว่า ในแต่ละปี เด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยกว่า 25 ล้านคนทั่วโลกจะรู้จักเครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเครื่องคิดเลขสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ช่วยให้เด็กสามารถแก้ปัญหาโจทย์ในการคำนวณค่าทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้อย่างรวดเร็วขึ้นกว่าวิธีการคิดแบบดั้งเดิม

“เป้าหมายของเราไม่ใช่แค่การขายเครื่องคิดเลขให้ได้มากที่สุด แต่เราต้องการสนับสนุนนโยบายด้านการศึกษาที่ต้องการพัฒนาทักษะการใช้เครื่องคิดเลขในการเรียนการสอนให้กับคุณครูและนักเรียน โดยตลอดการดำเนินของโครงการ Gakuhan ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้กับโรงเรียนที่เป็นเครือข่ายทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เริ่มตั้งแต่การจัดทำอุปกรณ์การเรียนการสอน การอบรมคุณครูและนักเรียน การแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ และการจัดนิทรรศการด้านการศึกษาตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังมีการให้การสนับสนุนความร่วมมือกับองค์กรด้านการศึกษาอีกมากมาย อาทิ การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเรื่องการออกแบบบทเรียนสำหรับนักศึกษาสายวิศวกรรมศาสตร์ อีกทั้งสนับสนุนการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ซึ่งทางโครงการฯ ตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากจะสร้างโรงเรียนต้นแบบด้านการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในสถาบันการศึกษาของไทยให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกับระดับโลก”

นายโนริอากิ กล่าวสรุปว่า Gakuhan ได้สร้างเครือข่ายโรงเรียนในประเทศไทยซึ่งเริ่มเห็นผลสัมฤทธิ์ โดยมีทีมวิศวกรจิตอาสา และทีมอบรมซึ่งเป็นพนักงานของคาสิโอ ลงพื้นที่ทำกิจกรรมกับครูและนักเรียนกว่า 162 โรงเรียนทั่วประเทศไทย และมีครูเครือข่ายกว่า 473 คน เพราะเราชื่อว่าการศึกษาจะนำมาซึ่งคุณภาพที่ดี และสินค้าของเราต้องตอบโจทย์เรื่องการศึกษาที่ดีขึ้น

Sustainable Destination

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การวางตำแหน่งประเทศไทยให้เป็นจุดหมายในการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกเหมือนเช่นทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องที่ได้มาโดยง่าย แต่ความท้าทายที่สำคัญกว่าคือการพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยให้กลายเป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้ในอนาคต

อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นหนึ่งในรายได้หลักที่สำคัญ ซึ่งในปีนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนไม่ต่ำกว่า 31 ล้านคน แต่ปัจจุบันการจะพัฒนาการท่องเที่ยวให้นำไปสู่ความยั่งยืนได้นั้น ไม่ใช่มองแค่ปัจจัยในเรื่องรายได้เพียงอย่างเดียว ไทยต้องคำนึงถึงผลกระทบในด้านอื่นๆ เช่น สังคม สิ่งแวดล้อมประกอบอีกด้วย  ดังนั้นแนวคิดเรื่อง Sustainable Destination จึงเป็นวาระสำคัญที่ทุกประเทศหันมาให้ความสนใจ โดยล่าสุดองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization: UNWTO) ได้ประกาศให้ปี 2560 เป็นปี International Year of Sustainable Tourism for Development เพื่อให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงเรื่องคนอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น

นายยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของประเทศไทย หากเราจะพัฒนาการท่องเที่ยวให้ไปสู่ความยั่งยืนได้นั้น เราต้องไม่ให้ความสำคัญแค่ในเรื่องเศรษฐกิจ หรือให้ความสนใจแค่เฉพาะบางเรื่อง เช่น การกำจัดขยะ การบำบัดน้ำเสีย การบริการโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป เพราะฉะนั้นการจะพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็น Sustainable Destination หรือเป็น Good Destination ได้ ไทยต้องเข้าใจและให้ความสำคัญกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยพร้อมที่จะเรียนรู้และปรับตัว ซึ่งมี 2 เรื่องที่สำคัญ ดังนี้ เรื่องแรก การปรับปรุงกฎหมาย กฎเกณฑ์ให้เท่าทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เรื่องที่สอง การบริหารความเสี่ยง ในโลกยุคสมัยใหม่มีความผันผวน ซับซ้อน และคาดเดาได้ยาก ความเสี่ยงสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เช่น ภัยคุกคามทางไซเบอร์ การก่อการร้าย โรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนสะท้อนเรื่องความยั่งยืนของการท่องเที่ยวทั้งสิ้น ถ้าเราไม่มีการควบคุมที่รัดกุม การบริหารความเสี่ยงที่ดีแล้ว ความยั่งยืนก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก

Sustainable Destination เป็นเรื่องการอนุรักษ์ การรักษาและส่งเสริมความหลากหลายทางธรรมชาติ โดยเฉพาะการรู้จักการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างพอดี ไม่บริโภคเกินความจำเป็น รวมไปถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อให้เกิดการบูรณาการในการทำงานร่วมกันกับหลายภาคส่วน ที่สามารถรักษามรดกทางธรรมชาติ มรดกทางวัฒนธรรม ทรัพยากรทางสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนและพัฒนาไปสู่การเป็น Good Destination ได้

"พอแล้วดี" บทสรุปสร้างแบรนด์อย่างพอเพียง

อีกหนึ่งเวทีย่อยที่มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก คือเวที “พอแล้วดี” The Creator ที่ได้นำเหล่านักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรงจากโครงการฯ ทั้งรุ่นที่ 1-2  มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนมุมมองที่ดีของการนำแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ผสมผสานกับ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ไปปรับใช้กับการวางแผนและการดำเนินธุรกิจของตนเองเพื่อสร้างความมั่งคงและยั่งยืน

ตัวแทนจากโครงการ “พอแล้วดี” The Creator รุ่นที่ 1 นายอภิวรรษ สุขพ่วง เจ้าของไร่สุขพ่วง เล่าถึงสิ่งที่เขาได้รับจากโครงการฯ ว่า ตอนแรกตนคิดว่าความพอเพียงคือแค่ทำให้เรากินดี อยู่ดี แต่พอได้มาเรียนรู้จากโครงการฯทำให้ค้นพบว่าความพอเพียงไม่ใช่แค่เรื่องนี้ เราไม่สามารถทำให้ตัวเองอยู่รอดได้แค่คนเดียว แต่ครอบครัวและสังคมต้องอยู่รอดได้ด้วย ดังนั้นราต้องรู้จักการแบ่งปันให้คนรอบข้างและสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแบ่งปันองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และสิ่งสำคัญเราต้องรู้จักพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อที่จะสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคมต่อไป

ตัวแทนจากโครงการ “พอแล้วดี” The Creator รุ่นที่ 2 นายกวี สุดจิตต์ เจ้าของธุรกิจ กิน-ได้-ดี (Allergy friendly Recipes) เล่าว่า ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการฯ มองว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแค่เรื่องของภาคการเกษตรเท่านั้น  จนเราไม่รู้ว่าตนเองจะนำมาใช้ยังไง แต่พอได้เข้าร่วมโครงการฯ ตนกลับได้แง่คิดว่าจริงๆ แล้วสามารถใช้ได้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ นอกไปจากนั้นคนรุ่นใหม่ยังสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางของการดำเนินชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

ธุรกิจ กิน-ได้-ดี เกิดจากความไม่พอเพียงและไม่พอดี ในเรื่องของการบริโภคซึ่งสะท้อนจากตัวของเขาเอง เพราะเดิมเราเป็นภูมิแพ้ เราก็พบว่าเรารับประทานอาหารอย่างไม่ใส่ใจ นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ตนหันมาใส่ใจเรื่องการกิน รู้จักดูแลสุขภาพซึ่งประโยชน์ที่ได้ไม่ได้แค่ตนเอง ยังส่งต่อไปถึงเพื่อน ครอบครัว ตนจึงอยากนำแนวคิดนี้มาบอกต่อให้กับคนอีกมากมายที่เจอกับปัญหานี้เหมือนกัน

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการโครงการพิเศษ มูลนิธิมั่นพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการ Sustainable Brands ประจำประเทศไทย กล่าวสรุปว่า ตัวแทนคนรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ดี ที่น้อมนำศาสตร์ของพระราชา มาใช้ในการวางกรอบแนวคิด และวิถีทางของการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นตัวอย่างที่สามารถจับต้องและบอกต่อได้

"ทุกคนที่มารวมตัวกันนั้นไม่ได้เกิดมาจากการที่คนอื่นผลักดัน แต่เกิดมาจากตัวของพวกเขาเอง และความสำเร็จของคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ ‘พอแล้วดี’ The Creator เหล่านี้เป็นสิ่งที่สท้อนที่สำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่หรือคนในสังคมเห็นว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราจูงมือเพื่อนๆ ให้เดินไปด้วยกัน ความสำเร็จมันก็จะเกิดขึ้นพร้อมกันได้ ดั้งนั้นการจะทำให้แบรนด์ดีขึ้น เราต้องรู้จักคำว่าแบ่งปันให้กับสังคมรอบข้าง และพวกเราทุกคนต้องช่วยกันเพื่อให้สังคมไทยดีขึ้น"

ติดตามรายละเอียดกิจกรรมและข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมของงาน Sustainable Brands ได้ที่เว็บไซต์ www.sustainablebrandsbkk.com หรือ เว็บไซต์และเฟซบุ๊กของมูลนิธิมั่นพัฒนา