เจาะอุตสาหกรรมใหม่ที่จะขับเคลื่อนภายใต้ eec

เจาะอุตสาหกรรมใหม่ที่จะขับเคลื่อนภายใต้ eec

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวของการลงทุนและอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ลดต่ำลง โดยในช่วงปี พ.ศ. 2549 - 2557 เป็นต้นมา ประเทศไทยอัตราการขยายตัวของการลงทุนเฉลี่ยเหลือเพียงร้อยละ 2 ต่อปี และมีอัตราการขยายตัวของ GDP เฉลี่ยเพียงร้อยละ 3.4 ต่อปี นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงส่วนแบ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI)  มาสู่ประเทศไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีส่วนแบ่งการลงทุนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในอาเซียน โดยมีส่วนแบ่ง FDI ลดลง ร้อยละ 6 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งทำให้ไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

ปัจจุบันประชากรไทย มีรายได้เพียง 5,410 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี แต่หากประเทศไทยต้องการสามารถหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี พ.ศ. 2575 ประชากรต้องมีรายได้มากกว่า 12,746 เหรียญสหรัฐต่อปีนั่นหมายถึง ประเทศไทยจะต้องมีการ ลงทุนขยายตัวร้อยละ 10 ต่อปี และมี GDP ขยายตัวร้อยละ 6 ต่อปี อย่างต่อเนื่อง ในอีก 17 ปีข้างหน้า

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น ทำให้รัฐบาลได้ตั้งเป้ากำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ชัดเจน เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และพัฒนาเศรษฐกิจจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิต ไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจการผลิตยุคใหม่ที่ใช้การผลิตและเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มและพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการโดยมีมาตรการสนับสนุนเพื่อชักจูงการลงทุนบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกให้มาลงทุนในประเทศไทย

การส่งเสริม และต่อยอดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง 10 อุตสาหกรรมสำคัญ จึงเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ได้รับการต่อยอด ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยีระดับสูง การแปรรูปอาหาร และการท่องเที่ยว และสนับสนุนให้เกิดอีก 5 อุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การบินและอากาศยานครบวงจร การแพทย์และการดูแลสุขภาพครบวงจร ไอโออีโคโนมี และเทคโนโลยีดิจิตอล

สำหรับในการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ภายใต้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจระเบียงภาคตะวันออก หรือ EEC จึงเป็นอีกยุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อนให้เกิดการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวในพื้นที่อีอีซีโดยการส่งเสริมให้เกิดการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้เป็นรูปธรรม ในการดำเนินการระยะ 5 ปีแรกได้แก่  แผนพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอากาศยานและการบิน หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย และเตรียมยกระดับสู่การเป็น “มหานครการบินภาคตะวันออก” ในอนาคต

การต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์สู่ยานยนต์อนาคต เพื่อเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยเริ่มจากการส่งเสริมผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เดิมไปสู่อุตสาหกรรมแบตเตอรี่และระบบขับเคลื่อนรถไฟฟ้า การขยายธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมยานส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงในการผลิต เป็นต้น

การประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจังหวัดระยอง แผนพัฒนาเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและไบโออีโคโนมี จังหวัดระยอง

อีกอุตสาหกรรมด้านการบริการ คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภูมิภาคอาเซียน การสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงควรมีการเพิ่มทิศทางสำหรับอนาคต นั่นคือ การเพิ่มระดับประสบการณ์เพื่อดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้ระดับสูง โดยเป้าหมายในอนาคตคือการยกระดับสู่การท่องเที่ยวคุณภาพ

รวมถึงการจัดตั้งศูนย์กลางนวัตกรรม 2 แห่ง คือ อีอีซีไอ พัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี รับผิดชอบโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะใช้พื้นที่วังจันทร์ จ.ระยองของ ปตท.และศูนย์อีอีซีดี จะเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิตอลเทคโนโลยี ภายใต้กระทรวงดิจิตอล ในพื้นที่ของแคท เทเลคอม แถวศรีราชา จ.ชลบุรี

 ที่มา สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก