โฉมหน้าใหม่ 3 เมืองตะวันออก ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา อีก 5 ปี

โฉมหน้าใหม่ 3 เมืองตะวันออก ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา อีก 5 ปี

 

โฉมหน้าใหม่ 3 เมืองตะวันออก ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา อีก 5 ปีข้างหน้า

กระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศที่มีความผันผวน นับเป็นความท้าทาย และจุดเปลี่ยนสําคัญที่ทําให้ภาคอุตสาหกรรมไทยจําเป็นต้องปรับทิศทางการพัฒนา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ซึ่งหากคลี่แผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ โครงการที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ ย่อมหนีไม่พ้นโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC ) บนพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยถึงความจำเป็นที่ต้องมีอีอีซีเกิดขึ้นในขณะนี้ว่า

“นับแต่โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นต้นมา การพัฒนาประเทศก็หายไป ทำให้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยแทบไม่มีบริษัทใหม่ที่มาลงทุน ขณะเดียวกันเรื่องของ  Technology Disruptive ที่กำลังเข้ามาส่งผลเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมทั่วโลกครั้งใหญ่ ดังนั้นอีอีซีจะเป็นหัวหอกของไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นการสร้างฐานการลงทุนและฐานเทคโนโลยีให้กับคนไทยในอนาคต และเป็นโอกาสสร้างงานใหม่ให้คนรุ่นต่อไปในพื้นที่”

ซึ่งเมื่อมองถึงศักยภาพพื้นที่เดิมของโครงการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดแห่งนี้มีความพร้อมที่สุด จากความเป็นเมืองท่าสำคัญ ซึ่งจะเป็นประตูสู่การค้าขายกับนานาชาติ

“หลายคนมักถามทำไมต้องเป็นบ้านฉันล่ะ หนึ่งอีสเทิร์นซีบอร์ดเป็น Gateway ทางธรรมชาติที่สำคัญของประเทศไทยมีเรื่องที่น่าสังเกตว่า จังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวสูงไม่ใช่กรุงเทพฯ แต่เป็นระยอง สอง อัตราส่วนคนยากจนในสามจังหวัดนี้น้อยมากกว่าพื้นที่อื่น สะท้อนว่าการพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ผ่านมาช่วยยกระดับพอสมควร ซึ่งการที่มีพื้นฐานโครงสร้างค่อนข้างดีอยู่แล้วอนาคตหากจะลงทุนต่อ ก็จะเป็นการลงทุนน้อย แต่ได้ผลสำเร็จค่อนข้างมาก”

ดร.คณิศชี้แจงต่อว่า ลักษณะการพัฒนาที่กำลังเกิดขึ้นนี้ถือเป็นรูปแบบที่ใกล้เคียงกับแนวทางการพัฒนาเมืองทั่วโลก ที่จะแยกส่วนระหว่างเมืองหลวงกับเมืองท่าชัดเจนอย่างเช่น ในประเทศญี่ปุ่นจะมีเมืองหลวงคือโตเกียว และมีเมืองท่าอุตสาหกรรมที่โยโกฮามา หรือในเกาหลีใต้ก็ยังมีกรุงโซลเป็นเมืองหลวง และมีอินชอนเป็นเมืองท่า ดังนั้น โครงสร้างที่วางในอีสเทิร์นซีบอร์ด จึงเป็นโครงสร้างที่เดินทางอย่างถูกต้อง แต่ที่ผ่านมาติดที่ไม่ได้รับการพัฒนาต่อเท่านั้น

หลังปักหมุดเดินหน้าประเทศไทยผ่านอีอีซี คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจึงได้วางยุทธศาสตร์ดำเนินโครงการ เรื่องสำคัญทั้งหมด 5 ประเด็นด้วยกัน ที่ทั้งสามจังหวัด ดังกล่าวและคนไทยทั้งประเทศจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า

เรื่องแรกคือ การปรับโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ใหม่โดยในการพัฒนาครั้งนี้มีสองกลุ่มสำคัญหนึ่งคือการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อม 3 สนามบิน และจะวิ่งผ่านถึงเข้าไปภายในท่าอากาศยานอู่ตะเภาเลย

“อู่ตะเภาที่จำเป็นต้องมี เพราะปัจจุบันทั้งสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองกำลังรองรับผู้โดยสารเกินความสามารถคือ17 ล้านคนแล้ว แต่สองสนามบินเองก็ไม่มีความพร้อมที่จะขยายด้วยข้อจำกัดหลายเรื่อง ดังนั้นหากเราสามารถใช้อู่ตะเภา โดยมีรถไฟความเร็วสูงทำหน้าที่เชื่อมโยงสามารถวิ่งกลับจากอู่ตะเภามากรุงเทพฯ ภายในเวลา 45 นาที จะทำให้อู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่สามของประเทศที่ช่วยลดความคับคั่งของการจราจรทางอากาศได้ ขณะเดียวกันพื้นที่รอบอู่ตะเภายังเหมาะสำหรับการพัฒนาเป็นเมืองการบิน ที่เรียกว่า Aerotropolis ซึ่งจากการศึกษารุ่นใหม่เขาบอกว่าที่ไหนมีสนามบินที่นั่นเกิดเมือง โดยในระยะสามสิบกิโลเมตร เป็นแหล่งอุตสาหกรรม เกิดการจ้างแรงงาน และเป็นการพัฒนาเมืองที่ซ้อนอยู่ในสนามบิน”

แนวคิด “มหานครแห่งการบิน” นี้ จะเป็นการพัฒนาสนามบินและพื้นที่โดยรอบ โดยขยายการพัฒนาออกไปจากศูนย์กลางที่เป็นสนามบิน สู่แนวระเบียงการพัฒนาที่สอดรับกับกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน หรือเชื่อมโยงกับสนามบิน (Airport Corridor) ที่ครอบคลุมพื้นที่ของการพัฒนาเมืองด้านต่างๆ  ทั้งอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อม

ดร.คณิศกล่าวถึงอีกโครงสร้างพื้นฐานที่จะได้รับการพัฒนาในเวลาเดียวกัน คือ ท่าเรือทั้งสามแห่ง ได้แก่ ท่าเรือแหลงฉบัง มาบตาพุด และสัตหีบ (จุกเสม็ด) ซึ่งแม้ทั้งหมดจะเป็นโครงการที่มีการวางแผนพัฒนาอยู่ก่อนแล้ว แต่สิ่งที่จะถูกเติมเต็มมากขึ้น คือการพัฒนารถไฟรางคู่ ซึ่งสามารถวิ่งขนส่งสินค้าได้ถึงหน้าท่าเรือ

“ที่ผ่านมาบ้านเราใช้เส้นทางขนส่งทางถนนเป็นหลัก ส่วนทางรถไฟมีเพียงร้อยละ 2 ซึ่งถือว่าต่ำมาก เพราะมาตรฐานโลกอยู่ที่ร้อยละ 30 ดังนั้นในอนาคตต้องเปลี่ยนจากขนส่งทางถนนมาเป็นระบบรถไฟให้มากขึ้นจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้กับประเทศ”

ในการพัฒนากลุ่มที่สองคือ การผลักดันประเทศไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ ด้วย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเห็นเป็นรูปธรรมครั้งแรกในแผนพัฒนาของอีอีซี

ภาพที่เกิดขึ้นแน่นอนคือ ยานยนต์ไฟฟ้าที่จะมีขึ้นแน่  อีกอุตสาหกรรมที่เข้ามาคือ อากาศยาน คาดกันว่าในอนาคตเครื่องบินจะมาลงในเอเชียมากกว่าร้อยละ 50 ทำให้แอร์บัสมองว่าต้องเพิ่มศูนย์ซ่อม 10 ศูนย์ทั่วโลกต้องเพิ่มอีก 9 ศูนย์ โดยเลือกอู่ตะเภาเป็นหนึ่งในนั้น”

“เราพยายามคิดว่าจะทำอย่างไรให้พื้นที่ตรงนี้มีการพัฒนาเท่าเทียมกับกรุงเทพฯ ซึ่งหากได้รับการยกระดับเท่ากัน เชื่อว่าคุณภาพชีวิตเขาจะดีกว่าคนกรุงเทพฯ ก็เลยมองว่าน่าจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ที่น่าจะเหมาะสมสำหรับอนาคตต่อไปลูกหลานของคนในสามจังหวัดนี้จะไม่ต้องทำงานที่อื่นไกลๆ

อีกงานในลำดับต่อมาที่ต้องต่อเนื่องคือ การยกระดับการท่องเที่ยว มีการวางเป้าหมายพัฒนาสามจังหวัดอีอีซีให้เป็นเมืองท่องเที่ยวสมัยใหม่เชิงคุณภาพ รวมถึงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสามจังหวัดให้เป็นพื้นที่เมืองใหม่ ในรูปแบบสมาร์ทซิตี้

“สมาร์ทซิตี้ที่เราพูดถึงคือ การใช้ระบบไอทีเข้ามาบริหารจัดการมากขึ้น ยกตัวอย่างเรื่อง พลังงาน ก็ต้องทำสมาร์ทกริดที่สามารถวางแผนการใช้ไฟที่เหมาะสม แต่เรื่องนี้เรายังไม่ได้ไปไกลมาก เพราะอยากทำแผนเรื่องอุตสาหกรรมให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยมาดูเรื่องการวางผังเมืองใหม่”

การพัฒนาเมืองใหม่ยังตั้งเป้าให้ “ฉะเชิงเทรา” เป็นเมืองน่าอยู่รองรับการขยายของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก “ชลบุรี” เป็นศูนย์กลางการศึกษาและพัฒนาทักษะนานาชาติ “ศรีราชา-แหลมฉบัง” เป็นเมืองอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่เชื่อมสู่การผลิตภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน “พัทยา-สัตหีบ-อู่ตะเภา” เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงธุรกิจครอบครัว สุขภาพและสันทนาการระดับโลก รวมถึงศูนย์ธุรกิจการบินและโลจิสติกส์แห่งอาเซียน และยกระดับ “มาบตาพุด-ระยอง” เป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในอาเซียน และอุตสาหกรรมพลังงานเคมี ชีวภาพ วิจัยอาหารและไบโออีโคโนมี

ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็ต้องสร้างแรงงานมาป้อน อีกภารกิจที่ ดร.คณิศยอมรับว่า เป็นเรื่องที่นายรัฐมนตรีให้ความสำคัญอย่างมากคือ “อยากให้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างรายได้ โดยไม่ทิ้งใครอยู่ข้างหลัง” นั่นคือการพัฒนา “คนไทย 4.0” ให้มีความรู้ความสามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมทุกเซคเตอร์ โดยจะมุ่งเน้นต่อยอดพัฒนาแรงงานอาชีวะสู่แรงงานทักษะเทคโนโลยีขั้นสูง

“แต่อีอีซีไม่เพียงจะสร้างงานเฉพาะอุตสาหกรรมโมเดิร์นเซคเตอร์แต่ยังสร้างงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาคบริการที่จะโตถึงในสัดส่วน 1.5 เท่า ฉะนั้นถ้าถามว่าชาวบ้านได้อะไร นอกจากอุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้แล้ว เขาจะมีโอกาสงานมากขึ้นทั้งงานที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมและงานที่เชื่อมโยงภาคบริการ”

“ซึ่งภายใน 1 ปีผมต้องเริ่มวางแกนพวกนี้และทำงาน เช่นในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ที่ไม่เกินมีนาคมปี 2561 ต้องประมูลให้หมดฉะนั้นภายใน 5 ปี ถ้าเป็นไปได้ เราก็จะมีสนามบินอู่ตะเภามาใช้ประโยชน์คู่กับสนามบินอีกสองแห่ง และมีรถไฟความเร็วสูง ภายใน 6-7 ปี ก็จะมีท่าเรือใหม่ที่มีรถไฟรางคู่วิ่งเข้าไปเชื่อมเส้นทาง โครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่น่าจะใกล้เสร็จ ขณะเดียวกันเวลานั้นอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งหลายเขาจะเริ่มมาลงทุนแล้วเช่นกัน” ดร.คณิศเอ่ยทิ้งท้าย