“พอแล้วดี” The Creator ปีที่ 2

“พอแล้วดี” The Creator ปีที่ 2

 

“พอแล้วดี” The Creator ปีที่ 2 สิ่งแวดล้อมยั่งยืน แบรนด์ก็ยั่งยืน

หลังจากโครงการ “พอแล้วดี” The Creator รุ่นที่ 2 ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ทั้ง 18 คน เมื่อเดือนมีนาคม – มิถุนายน ที่ผ่านมา แต่ละคนได้น้อมนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้พัฒนากลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของตนเองในแนวทางที่แตกต่างกันออกไป เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

บรรจุภัณฑ์สีเขียว รักษ์สิ่งแวดล้อม
คุณภัทรา คุณวัฒน์ (ต่าย) อายุ 40 ปี ผู้บริหารบริษัท บางกอกแพค จำกัด เล่าถึงที่มาของการทำธุรกิจออกแบบบรรจุภัณฑ์จากกระดาษว่า เดิมเธอกับสามีได้เริ่มประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ทั่วไป แต่ช่วงที่ผ่านมาธุรกิจประเภทนี้มีการแข่งขันที่สูงขึ้น อีกทั้งผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมน้อยมาก ทำให้เธอและสามีเริ่มมองหาโอกาสในการสร้างให้ธุรกิจมีจุดยืนที่แตกต่างและชัดเจนด้วยการใช้ทุนเดิมของกิจการมาผนวกกับความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เรียนมา แล้วขยายเป็นธุรกิจออกแบบบรรจุภัณฑ์จากกระดาษที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมดังเช่นในปัจจุบัน

แต่การทำธุรกิจของคุณภัทรานั้นก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป เนื่องจากในช่วงแรกของการดำเนินธุรกิจยังไม่มีการกำหนดทิศทางหรือการวางแผนที่ชัดเจน มุ่งเน้นที่ปริมาณงานและยอดขายมากกว่าคุณภาพ อีกทั้งลืมคำนึงถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น แต่หลังจากมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการ “พอแล้วดี” The Creator ในปีนี้ ทำให้เธอตระหนักว่า การจะดำเนินธุรกิจให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนได้นั้น เจ้าของธุรกิจต้องรู้จักประเมินศักยภาพของตนเองเพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งบางกอกแพคได้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ตั้งแต่กระบวนการดำเนินงาน ให้มีความพอประมาณและมีเหตุผล เช่น การใช้ต้นทุนเดิมจากสิ่งที่เรียนมา การใช้เครือข่ายที่รู้จักมาต่อยอดสนับสนุนให้ธุรกิจคล่องตัวมากขึ้น การเลือกรับงานที่พอดีกับกำลังและเลือกรับลูกค้าที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม การนำเครื่องมือมาใช้ทดสอบความแข็งแกร่งของบรรจุภัณฑ์สำหรับใช้ทดสอบคุณภาพของงานเพื่อลดการสูญเสียกระดาษ นอกจากนั้นบริษัทยังได้เริ่มวางแผนบริหารความเสี่ยง ตลอดจนการพัฒนางานให้มีความสร้างสรรค์ และมีคุณภาพอยู่เสมอ เพื่อให้งานที่ผลิตขึ้นมานั้น ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากที่สุด และเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด อีกทั้งการเข้าร่วมโครงการพอแล้วดี ยังทำให้เธอมองเห็นจังหวะของการขยายธุรกิจในอนาคตได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืน

“จุดเด่นของบางกอกแพค อยู่ที่แนวคิดการออกแบบ การผลิตที่ใช้กระดาษให้น้อยและคุ้มค่าที่สุด อีกทั้งชิ้นงานต่างๆ ต้องสามารถนำกลับไปสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ เพื่อลดการทิ้งวัสดุเหลือใช้โดยเปล่าประโยชน์ เราใส่ใจตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เช่น การออกแบบกล่องบรรจุภัณฑ์จากเดิมต้องใช้กระดาษจำนวนมากรองรับสินค้าภายใน รวมแล้วราว 3 กิโลกรัม แต่มีการปรับการออกแบบใหม่ โดยใช้กระดาษแผ่นเดียวขึ้นรูปเป็นกล่องซึ่งมีน้ำหนักเหลือเพียง 300 กรัม ทำให้ง่ายต่อการขึ้นรูป มีขนาดเล็กลง ช่วยลดพื้นที่ในการจัดเก็บ ประหยัดค่าขนส่งและค่าใช่จ่าย แต่ยังคงมีความแข็งแรงทนทาน และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้”

นอกจากตัวอย่างชิ้นงานดังกล่าวแล้ว ทางบริษัทยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมาย โดยล่าสุดบรรจุภัณฑ์ห่อหุ้มโคมไฟแบบ Flat Pack ที่สามารถถอดประกอบเป็นชิ้นเล็กขนาดเท่ากระดาษ A3 ทำให้ช่วยลดพื้นที่ขนส่งได้ถึง 83 % ยังได้รับรางวัลการออกแบบจากงาน Design Excellence Award 2017 และ Good Design Winner Japan 2017 อีกด้วย

จากเศษเหล็กไร้ราคา สู่คุณค่างานออกแบบ
คุณศรุตา เกียรติภาคภูมิ (ปิ่น) อายุ 32 ปี นักออกแบบรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบในงานศิลปะ และเห็นคุณค่าของเศษเหล็กที่ไร้ค่า นำมาสร้างสรรค์เป็นเฟอร์นิเจอร์และของประดับตกแต่งบ้าน ภายใต้แบรนด์ PiN (พิน) เล่าว่า แต่เดิมเธอมีความคิดที่ไม่ชอบธุรกิจของครอบครัวซึ่งเป็นโรงงานผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เช่น บานพับประตู กุญแจ ฯลฯ จนเมื่อครั้งทำศิลปนิพนธ์ สมัยมหาวิทยาลัย จึงมีโอกาสได้พูดคุยกับช่างในโรงงาน และจากจุดนั้นเอง ทำให้เธอได้เห็นคุณค่าของคนงาน และคุณค่าของอาชีพที่ครอบครัวทำมากว่า 30 ปี สิ่งนั้นได้เปลี่ยนทัศนคติของเธอให้หันกลับมาต่อยอดธุรกิจของครอบครัว เธอจึงเริ่มศึกษาหาข้อมูล วิเคราะห์ และทดลอง เกิดเป็นแนวคิดในการนำเศษเหล็กที่เหลือจากโรงงานมาผนวกกับการออกแบบสมัยใหม่ที่เธอเชี่ยวชาญ สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้านที่ทันสมัย เช่น นาฬิกา โคมไฟ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า Upcycle

“เราใช้ทุกอย่างอย่างรู้คุณค่า จากเศษเหล็กที่ไม่มีราคา ชั่งกิโลขายได้ราคาไม่กี่บาท นำมาออกแบบ ดัดแปลงต่อยอด และพัฒนาปรับมาเป็นผลิตภัณฑ์บนแนวคิด zero waste ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่อีกครั้ง”

คุณปิ่น เล่าว่า ที่ผ่านมาตนเองไม่ได้คำนึงถึงระบบการบริหารจัดการธุรกิจเท่าที่ควร โดยเฉพาะเรื่องการจัดการบริหารผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงาน (stakeholder) และด้านการบริหารการเงิน อีกทั้งยังขาดเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจในส่วนอนาคตว่าจะเดินไปในทิศทางไหน ทำให้จนวันหนึ่งได้มารู้จักและมีโอกาสเข้าร่วมการอบรมในโครงการ“พอแล้วดี” The Creator นี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เพราะทำให้เธอได้เข้าใจความหมายของคำว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น ที่แต่เดิมเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อได้มาเรียนรู้จากโครงการฯ กลับพบว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาใช้ได้กับทุกคน ทุกเรื่อง ทุกธุรกิจเธอจึงได้นำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจของตัวเอง โดยเริ่มจากความพอประมาณ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเร่งยอดขายหรือสร้างกำไรสูงสุด แต่เน้นความสบายใจที่จะทำงานกับลูกค้าที่เห็นคุณค่าของเศษเหล็ก และไม่เคยคิดลงทุนสร้างโรงงานใหม่ เพราะเห็นว่าพื้นที่ผลิตงานเดิมซึ่งอยู่รั้วเดียวกับโรงงานเหล็กของครอบครัวก็ยังใช้การได้ดี นอกจากนี้ธุรกิจที่เธอสร้างขึ้นมาจะเติบโตไปในอนาคตและยั่งยืนได้ คุณปิ่นมองว่าการส่งต่อองค์ความรู้ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

“เราต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เรามี ไปให้กับบุคคลอื่นที่สนใจ ซึ่งปิ่นอยากจะนำความรู้เรื่องช่าง ไปช่วยพัฒนาฝีมือช่างเชื่อม โดยเริ่มจากการให้ความรู้กับช่างอยู่ในบริเวณใกล้เคียงโรงงาน เพื่อฝึกฝนสร้างสรรค์งานฝีมือ”

การเข้าโครงการพอแล้วดี ทำให้ตัวเองได้เรียนรู้คำว่า “พอ” ซึ่งไม่ใช่พอแค่เรา แต่ต้องพอสำหรับคนอื่นด้วย ตอนนี้จึงมีแผนพัฒนาช่างเชื่อมในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดให้มีฝีมือเพื่อผลิตงานออกแบบจากเศษเหล็ก และนำไปจัดแสดงนิทรรศการเพื่อรวบรวมฝีมือช่างเชื่อมไทยให้โลกได้รับรู้

ข้าวอารมณ์ดีวิถีเกษตรพอเพียง
คุณเกริกกฤษณ์ กมลวิมุตศานต์ (เบนซ์) อายุ 39 ปี ทายาทธุรกิจเหล็กเส้นที่หันหลังให้กับธุรกิจครอบครัว แล้วผันตัวเองมาเป็นชาวนาต้นแบบ ปลูกข้าวอินทรีย์ปลอดสารเคมีภายใต้แบรนด์ ข้าวเพลงรัก เล่าถึงที่มาของการเริ่มทำอาชีพเกษตรกรรมว่ามาจากการที่ตนเองเกิดคำถามภายในจิตใจมาตลอดว่า ทำไมชาวนาไทยถึงไม่สามารถสร้างรายได้ให้พอเพียงและเลี้ยงครอบครัวได้ นำมาสู่การมีปัญหาหนี้สิ้นตามมา ซึ่งตนอยากจะหาคำตอบจึงได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์กับมูลนิธิข้าวขวัญในปี 2557 และเริ่มทดลองปลูกข้าวบนที่ดินเช่าจำนวนครึ่งไร่ที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งเริ่มทำนาแบบไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ไม่ฉีดยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลง รวมถึงบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด ผลจากการทดลองในครั้งนั้นทำให้ได้ผลผลิต 400 กิโลกรัม ซึ่งใกล้เคียงกับการปลูกข้าวทั่วไป ตนจึงขยับขยายไปสู่นาเช่าแปลงใหม่ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี บนพื้นที่ 8 ไร่ ซึ่งได้มีการลองผิดลองถูกเกี่ยวกับการทำนา และเอาประสบการณ์ในครั้งแรกมาปรับปรุง และได้พบว่าหากเปิดเพลงให้ข้าวฟังข้าวเติบโตได้ดี 6-10 % นี่จึงเป็นที่มาของ “ข้าวเพลงรัก”

“จากแนวคิดที่จะปลูกเพื่อรับประทานภายในครอบครัว แต่พอได้มาลองเรียนรู้แล้ว พบว่า ข้าวที่ปลูกนั้นกลับให้ผลตอบรับที่เกินคาด ทำให้เกิดแนวคิดอยากสร้างเครือข่ายรอบๆ แปลงนาภายในชุมชน เพื่อสร้างเป็นเครือข่ายของชาวนาเกษตรอินทรีย์ โดยปัจจุบันมีชาวนาเกษตรอินทรีย์ที่เข้าร่วมจำนวน 15 ครอบครัว บนพื้นที่รวม 300 ไร่ ที่ จังหวัดสุพรรณบุรี และพิจิตร และในอนาคตกำลังจะมีเครือข่ายชาวนาจากพื้นที่ต่างๆเพิ่มขึ้น เพราะตนรับซื้อข้าวเปลือกในราคาที่ชาวนาตั้งราคาเองเฉลี่ย 12,000-17,000 บาทต่อตัน ซึ่งสูงกว่าราคาขายข้าวทั่วไปกว่าเท่าตัว”
คุณเบนซ์ สะท้อนถึงการเข้าร่วมโครงการพอแล้วดี ปีที่2 ว่า จากโครงการฯ ได้ทำให้เขาเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต โดยเริ่มจากการศึกษาหาความรู้ทางวิชาการก่อนลงมือทำเสมอ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ นอกจากนั้นยังทำให้คำนึงถึงความพอเพียง และเหตุผลในการดำเนินงานมากขึ้น เช่น การที่ปัจจุบันเขายังคงปลูกข้าวบนแปลงนาเช่า เพราะไม่ต้องการใช้วิธีกู้เงินมาซื้อที่ดิน แต่กลับใช้เงินที่ได้จากการขายข้าวมาค่อยๆ ต่อยอดธุรกิจ รวมถึงยังต้องพัฒนาตนเองด้วยการเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในวันข้างหน้า ทั้งเรื่องการเพาะปลูก การตลาด และการขาย นอกจากนี้เขายังตระหนักว่ามีสิ่งหนึ่งที่ต้องทำให้สำเร็จก็คือ การสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับชาวนา โดยมีแนวคิดให้ชาวนาเครือข่ายทำสวัสดิการชุมชน เพื่อแบ่งปันความสุขไปยังคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวอีกด้วย

จากตัวอย่างของผู้เข้าร่วมโครงการพอแล้วดี The Creator ปีที่ 2 ทำให้เห็นได้ว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเสมือนเครื่องมือในการช่วยคิดวิเคราะห์ บริหารจัดการ ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ตลอดจนทุกประเภทธุรกิจ ไม่เพียงแค่เรื่องของการเกษตรเท่านั้น และผลที่เกิดขึ้นยังช่วยสร้างให้เกิดความยั่งยืนต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมได้อย่างแท้จริง