"ดีพอ ไม่พอถ้าแค่ดี" ("Good Enough" Is Not Good Enough)

"ดีพอ ไม่พอถ้าแค่ดี" ("Good Enough" Is Not Good Enough)

 

"ดีพอ ไม่พอถ้าแค่ดี" ("Good Enough" Is Not Good Enough)

เสียงของผู้บริโภคเป็นเสียงที่ 'ทรงพลัง' ที่จะเปลี่ยนแปลง

ชมคลิปไฮไลท์บนเวที Shift Happens โดย ลาร์สนอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่นจํากัด (มหาชน) หรือ ดีแทค คลิกที่นี่

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จะเห็นข่าวความไม่โปร่งใสและการหลอกลวงผู้บริโภคเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์และการเงิน เกิดเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก จนทำให้เกิดกระแสการเรียกร้องถึง "จริยธรรม" ในการดำเนินธุรกิจในฝั่งโลกตะวันตก เกิดแนวโน้มที่เรียกว่า "Conscious Business" หรือการตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความเห็นผู้บริโภคต่อนิยามของคำว่า "บริษัทที่ดี" แล้ว โดยส่วนใหญ่มักพูดถึงบริษัทที่ผลิตสินค้าและบริการที่มี "คุณภาพดี" และ "ราคาถูก" แต่กลับมองข้ามประเด็นด้านบรรษัทภิบาล การแข่งขันอย่างเป็นธรรม ตลอดจนการติดสินบนและคอร์รัปชันในบริษัทและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพราะไม่เห็นว่าประเด็นด้านจริยธรรมองค์กรจะเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการของพวกเขา

ทว่า องค์ประกอบที่กล่าวมาข้างต้น กลับเป็นเรื่องเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายลาร์สนอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่นจํากัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้ฉายภาพของความสัมพันธ์ผ่านมายาคติหรือความเชื่อของผู้บริโภคต่างๆ ในงานทอล์คShift Happens: พลิกธุรกิจให้ทันวันพรุ่งนี้ ในหัวข้อ "ดีพอ" ไม่พอถ้าแค่ดี ("Good Enough" Is Not Good Enough)

1. การแข่งขันที่เป็นธรรมเกิดขึ้นได้เองโดยธรรมชาติ (Fair Competition Just Happens)

ความเข้าใจผิดที่ว่าการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมเกิดขึ้นได้เองโดยธรรมชาติ และการผูกขาดการค้าไม่ส่งผลเสียต่อธุรกิจ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการแข่งขันอย่างเท่าเทียมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยตรง สะท้อนได้จากการเปิดเสรีการคมนาคมทางอากาศในอุตสาหกรรมการบิน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางระหว่างกรุงเทพ-เชียงใหม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึง 50% จากราวปี พ.ศ. 2546 ที่ราคา 4,500 บาทต่อเที่ยว เหลือเพียงประมาณ 2,000 บาทต่อเที่ยวในปัจจุบัน

ในทางกลับกัน หากไร้ซึ่งการแข่งขันอย่างเท่าเทียม สินค้าและบริการจะไม่ได้รับการพัฒนา ขณะเดียวกันผู้บริโภคยังต้องจ่ายในราคาเท่าเดิมหรือแพงขึ้น นั่นหมายถึงผู้บริโภคจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการในตลาดผูกขาด เพื่อสนับสนุนการติดสินบนและคอร์รัปชันโดยไม่รู้ตัว

2. ธรรมาภิบาลคือความยั่งยืนของธุรกิจ (Good Companies Plant Trees)

เมื่อพูดถึงบทบาทของธุรกิจต่อสังคม คนทั่วไปอาจมองถึงกิจกรรมเพื่อสังคมอย่าง CSR ร่วมปลูกป่า สร้างฝาย ขณะเดียวกัน กิจกรรมเหล่านี้ได้สร้างคำถามขึ้นว่าเป็นกิจกรรมเพื่อการสร้างภาพมากกว่าพัฒนาความยั่งยืนแก่สังคม

ทว่า การสร้างความยั่งยืนแก่สังคมนั้น สามารถสร้างได้โดยเริ่มจากแก่นของธุรกิจ ซึ่งเป็นอีกกลไกสำคัญของสังคม ตัวอย่างในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ทุกปีเกิดอุบัติเหตุจากการติดตั้งอุปกรณ์และเสาสัญญาณโทรศัพท์นับร้อยราย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดกับบริษัทคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ที่เป็นผู้รับจ้างช่วง

ดีแทค ในฐานะผู้ให้บริการอย่างรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ซัพพลายเออร์ บริษัทคู่ค้า ลูกค้า และนักลงทุน ได้ประกาศนโยบายลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ (Zero Accident Policy) โดยตั้งเป้าลดการเกิดอุบัติเหตุในการทำงานให้เหลือศูนย์ ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานกำกับดูแลบริษัทคู่ค้า หรือ Supply Chain  Sustainability

นอกจากนี้ ดีแทค ยังให้คำมั่นสัญญาในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ Zero Tolerance to Corruption ซึ่งได้กำหนดแนวทางและหลักปฏิบัติของพนักงานอย่างเคร่งครัด ตัวอย่างเช่นนโยบายไม่รับของขวัญ (No Gift Policy) กล่าวคือ ห้ามพนักงานรับของขวัญจากบุคคลภายนอก โดยไม่มีข้อยกเว้น หรืออีกนโยบายคือไม่เล่นกอล์ฟ (No Golf Rules) โดยห้ามผู้บริหารร่วมตีกอล์ฟ หรือจ่ายค่าสนามแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

"นโยบายเหล่านี้ นัยหนึ่งทำให้ดีแทคอยู่ในภาวะการดำเนินงานที่ยากกว่าหรือเสียเปรียบ แต่ขณะเดียวกัน นี่คือนโยบายที่สะท้อนจุดยืนของดีแทคในการทำในสิ่งที่ถูกต้อง" ลาร์สเน้นย้ำ

3. การเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมที่ดีขึ้นจะเกิดได้จากระดับผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเท่านั้น (Change Can Only Come from the Top)

มายาคติหนึ่งที่เกิดจากความเข้าใจผิดที่ว่าการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ดีขึ้น เกิดได้จากผู้บริหารที่รับผิดชอบจนถึงผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเท่านั้นแต่แท้จริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จากพลังของคนธรรมดา โดยเฉพาะพลังของผู้บริโภค

การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจยักษ์ใหญ่ของโลกในการตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ก็ล้วนเกิดจากพลังของผู้บริโภคทั้งสิ้น

ลาร์ส ได้เน้นย้ำว่า เสียงของผู้บริโภคเป็นเสียงที่ 'ทรงพลัง' อย่างยิ่งต่อโลกธุรกิจทุกวันนี้ เพียงแค่ผู้บริโภคตระหนักถึงพลังของตัวเอง ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม และเรียกร้องให้องค์กรธุรกิจต้องแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมเพื่อยกระดับให้คุณภาพดีขึ้น ราคาถูกลง มีบรรษัทภิบาลและมาตรฐานทางจริยธรรม สุดท้าย ผู้บริโภคจะเป็นผู้ที่ชนะในที่สุด