Thailand SDGs Forum 3/2017: Positioning Thailand on SDGs Map

Thailand SDGs Forum 3/2017: Positioning Thailand on SDGs Map

 

มูลนิธิมั่นพัฒนา ร่วมกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดเวทีเสวนา Thailand SDGs Forum 3/2017: Positioning Thailand on SDGs Map เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้แก่ทุกภาคส่วน ถึงการทบทวนทิศทางที่จะก้าวต่อไปสำหรับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงนอกจากจะได้รับเกียรติจากดร.สุวิทย์เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่แสดงปาฐกถาพิเศษถึงทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีนักวิชาการจากหลากหลายสาขามาร่วมเสวนาแล้วนั้น ภายในงานยังมีการแสดงปาฐกถาของผู้บริหารจากภาคธุรกิจเอกชนระดับประเทศ ได้แก่เครือเจริญโภคภัณฑ์ และเทสโก้ โลตัสอีกด้วย

ภาคเอกชนรุดหน้า ปรับทิศทางสู่การบริหารธุรกิจบนฐานของความยั่งยืน

นายศุภชัย เจียรวนนท์ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ Business and Sustainability, the Hype and the Reality”โดยนำเสนอเรื่องราวการดำเนินธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ว่า ตลอดการดำเนินธุรกิจขององค์กร ได้มีการเตรียมพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และนโยบายขององค์กรให้สามารถเติบโตได้อย่างสมดุล ยั่งยืนตลอดเวลา โดยมีหลักสำคัญของความยั่งยืนที่ใช้มาตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ คือหลัก“3 ประโยชน์” ได้แก่ การคำนึงถึงการทำประโยชน์แก่ประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ การคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนในทุกประเทศที่เข้าไปลงทุน  และการคำนึงถึงประโยชน์ต่อองค์กร รวมถึงบุคลากรขององค์กรด้วย

“วิสัยทัศน์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาของบริษัทได้พูดถึงการเป็นผู้ที่ให้อาหารคนและอาหารสมอง แต่เมื่อมองต่อไปอีก 20 หรือ 30 ปีข้างหน้า บริษัทจำเป็นต้องปรับวิสัยทัศน์ให้มีความละเอียดและสอดคล้องกับความยั่งยืนมากขึ้น โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า จะมุ่งมั่นในการสร้างอาหารคน อาหารสมอง โอกาสในการเข้าถึงคุณค่าเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนเพื่อให้ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน”

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า ในความเป็นจริงแล้วภาคเอกชนถูกตั้งความหวังไว้สูงว่าจะเป็นภาคส่วนหลักของการขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน ทุกคนมองว่าภาคเอกชนคือผู้ที่จะขับเคลื่อนและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าภาครัฐ เพราะมีความคล่องตัว โดยเฉพาะธุรกิจระดับประเทศหรือข้ามชาติที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนหรือดำเนินนโยบายร่วมกันกับทุกภาคส่วน สิ่งนี้จึงทำให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ต้องปรับตัว ให้สามารถเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแนวทางการดำเนินงานขององค์กรเริ่มมีการปรับตัว และพร้อมที่จะเรียนรู้ข้อผิดพลาดจากการดำเนินธุรกิจจากแต่เดิมที่ขับเคลื่อนอย่างไม่สมดุล มองผลกำไรเป็นที่ตั้ง ไม่ได้มองพื้นฐานที่สำคัญของการทำธุรกิจ จนกระทั่งเมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง จึงทำให้ธุรกิจต้องมีการปรับตัว ต้องปรับขนาดให้สามารถอยู่รอดในสภาวะทางเศรษฐกิจที่ติดลบ ซึ่งองค์กรได้น้อมนำ“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรมาเป็นแนวทางปฏิบัติและขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริงซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ

ปัจจุบันเครือเจริญโภคภัณฑ์ คำนึงถึงความยั่งยืนใน3เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 1) Heartซึ่งเกี่ยวกับ Living Right 2) Healthคือ Living well และ 3) Homeคือ Living Togetherเครือเจริญโภคภัณฑ์ยึดหลักธรรมาภิบาลในส่วนของการดำเนินงานขององค์กรที่เน้นสร้างความตระหนัก (Awareness) เพื่อนำไปสู่การปรับแนวความคิด (Mindset) ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการปลูกฝังผู้นำในแต่ละส่วนงานต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี นอกจากนั้นเครือเจริญโภคภัณฑ์ยังให้ความสำคัญกับการวัดผลซึ่งมีองค์กรภาคเอกชนที่ทำเรื่องนี้ เช่น DJSI (Dow Jones Sustainability Indices) ที่จะเป็นมาตรฐานและตัวชี้วัดหนึ่งได้ เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงมีนโยบายให้บริษัทในเครือที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมดจะต้องปฏิบัติตามและจะต้องทำให้บริษัทผ่าน DJSI ให้ได้ ถือเป็นบันได้ขั้นที่หนึ่ง เพื่อสร้างความโปร่งใสในเชิงของการทำรายงานในด้านความยั่งยืน ซึ่งในเวลาเดียวกันเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ร่วมกับ 15 องค์กร ตั้ง UN Global Compact Network”ประเทศไทย เพื่อช่วยกันขับเคลื่อน ขยายผล และสร้างความตระหนักรู้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆที่ดำเนินในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เช่น ประชารัฐซึ่งยอมรับว่าความร่วมมือกันทำให้สามารถแก้ไขปัญหาใหญ่ๆได้ง่ายขึ้น

นายศุภชัย กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ล้วนมุ่งไปสู่ความยั่งยืนอาทิ โครงการส่งเสริมการปลูกกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรส่วนในภาคใต้ให้ความสำคัญกับเรื่องทะเลไทย โดยได้ดำเนินโครงการปะการังเทียมเพื่อให้ลูกปลามีโอกาสเติบโต ทำให้เรืออวนลากเข้ามาไม่ถึง และประมงท้องถิ่นก็มีโอกาสทำมาหากินได้ต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ยังได้ย้ำให้เห็นถึงปัจจัยที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมว่า

“สิ่งที่เอกชนต้องทำคือการสร้างCulture Values และ Governance ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้อยู่แล้วนอกจากนั้นยังต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง People และ Productivity ต้องสร้างให้“คนบริหารคน” ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะว่าคนเป็นผู้สร้างเศรษฐกิจ เป็นผู้สร้างผลิตภัณฑ์ เป็นผู้แบ่งหน้าที่และตอบสนองความต้องการของตลาด และ Evolution หรือ Innovation องค์กรไหนไม่มีนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง องค์กรนั้นก็ไม่ยั่งยืน อยู่ไม่ได้

ธุรกิจยั่งยืนต้องเติบโตพร้อมกันทั้ง Value Chain

เทสโก้ โลตัสเป็นอีกบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเทสโก้ โลตัส เป็นธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภค ซึ่งเป็นแนวทางในการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้โลตัส ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “Creating Value in Global Business Chain”ว่า การดำเนินงานเพื่อสร้างความยั่งยืนของ เทสโก้ โลตัสที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) คือ การกำหนดทิศทางของการสร้างธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ผ่านการขับเคลื่อน Value Chain โดยเน้นเรื่องการจำหน่ายอาหารที่มีคุณภาพสูงในราคาที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ และการสร้างสิ่งที่ดีมีคุณค่าให้กับผู้บริโภค พนักงาน และชุมชน นี่จึงเป็นวิสัยทัศน์ที่องค์กรต้องขับเคลื่อน ซึ่งมี 3 ขั้นตอนได้แก่

ขั้นตอนแรก เริ่มจากกระบวนการต้นน้ำ คือการที่เทสโก้ โลตัสจะรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรโดยตรง เพื่อลดปัญหาพ่อค้าคนกลางและสร้างการมีส่วนร่วมในการผลักดันในการสร้างคุณค่าให้สังคมหรือชุมชน ด้วยการเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้อย่างยั่งยืน

“เราทำงานกับเกษตรกรโดยตรง เพื่อให้ได้อาหารที่มีคุณภาพในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ มาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ดังนั้นการจะดำเนินการให้เกิด Sustainability ต้องได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายคือ เกษตรกรได้ และบริษัทก็ได้ถึงจะเรียกว่าเป็นการสร้างความยั่งยืนควบคู่ไปด้วยกัน ซึ่งขณะนี้เทสโก้ โลตัส ได้นำนโยบายภาครัฐเรื่อง “ประชารัฐ” เข้ามาใช้ในการสร้างความร่วมมือ โดยการดึงหน่วยงานภาครัฐหรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยให้ความรู้กับเกษตรกร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นอาหารซึ่งเป็นหัวใจหลักของเราก็คือ ผัก ผลไม้”

ต่อมาขั้นที่สองนอกจากจะใส่ใจผู้บริโภคในเรื่องการคัดสรรอาหารหรือสินค้าที่มีคุณภาพดีและมีราคาย่อมเยามาวางจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคแล้ว เทสโก้ โลตัส ยังให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีร้านค้าและศูนย์กระจายสินค้าอยู่ทั่วประเทศ มากกว่า 2,000 แห่ง ซึ่งมีการใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก เช่น ไฟฟ้า ตู้เย็น และแอร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ทำให้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เทสโก้กรุ๊ปได้ตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี 2020 และยังตั้งเป้าท้าทายไว้ว่าภายในปี 2030 จะใช้พลังงานทดแทน 100%ซึ่งเทสโก้ โลตัส ได้ดำเนินงานเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2004 ทั้งการใช้โซลาร์เซลล์ หรือการทำร้านค้าปลอดคาร์บอนไดออกไซด์ (Zero Carbon Store) ที่สามารถนำพลังงานทดแทนมาผลิตเป็นพลังงานใช้ในสาขา ซึ่งนับเป็นร้านค้าแห่งแรกในเอเชียที่สามารถทำได้ 

และขั้นสุดท้าย เทสโก้ โลตัสให้ความสำคัญกับเรื่องการลดปริมาณขยะอาหาร(Food Waste) เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญของโลก อีกทั้งยังเป็นเป้าหมายหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญ โดยตั้งเป้าไว้ว่าต้องการลดขยะอาหารที่เกิดจากร้านขายอาหารและที่บ้านให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 ส่งผลให้นาย Dave Lewis ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทสโก้ได้ประกาศนโยบายรองรับในการประชุมสหประชาชาติว่าจะ “ไม่ทิ้งอาหารที่ยังทานได้”

“เป้าหมายที่ท้าทายนี้ ไม่ง่ายเลยเวลาปฏิบัติ แต่ก็ต้องลงมือทำ  โดยมีแผนปฏิบัติการรองรับ สิ่งที่เราทำคือการเข้าไปวางแผนเพาะปลูกร่วมกับเกษตรกร เพื่อให้ปลูกในปริมาณที่พอดี และในแบบที่ร้านค้าต้องการ ไม่มีการทิ้งขว้างที่แหล่งเพาะปลูก และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้วยการลดอุณหภูมิ เพื่อรักษาความสดใหม่ของสินค้า ป้องกันการสูญเสีย เมื่อมาถึงสาขาก็มีนโยบายลดราคาสินค้าระหว่างวัน หากยังมีเหลือทิ้งจะนำมาแยก  สินค้าที่ยังดีอยู่จะนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่ต้องการหรือผู้ด้อยโอกาส โดยร่วมกับองค์กรการกุศล ภายใต้ชื่อโครงการ “กินได้ ไม่ทิ้งกัน”ซึ่งตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้สาขาในไทยจะไม่ทิ้งอาหารที่ทานได้ส่วนอาหารที่ทานไม่ได้มีแผนที่จะนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์  และสุดท้าย เมื่ออาหารมาถึงบ้านลูกค้าแล้ว เทสโก้ก็รณรงค์ให้ช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยออกโฆษณา‘ไม่มีใครอยากโดนเท’ อาหารก็ไม่อยากโดนเทเช่นกัน  ที่กล่าวข้างต้นเป็นตัวอย่างที่เทสโก้ โลตัสนำการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ใน Value Chain ของเรา”