ม.มหิดล+มูลนิธิมั่นพัฒนา เปิดตัวเว็บ 'ธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียง'

ม.มหิดล+มูลนิธิมั่นพัฒนา เปิดตัวเว็บ 'ธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียง'

 

ม.มหิดล ร่วมกับมูลนิธิมั่นพัฒนา เปิดตัวเว็บไซต์ “ธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียง”

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับมูลนิธิมั่นพัฒนา เปิดตัวเว็บไซต์ www.seb.cm.mahidol.ac.th สื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากงานวิจัยองค์กรต้นแบบเกี่ยวกับประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้หลักคิดและวิธีการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จ พร้อมฟังก์ชั่นประเมินองค์กร ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าทำแบบทดสอบออนไลน์ โดยคลิกที่ไอคอนทดลองประเมินองค์กรตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา

ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนากล่าวว่า มูลนิธิมั่นพัฒนา และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันพัฒนา เว็บไซต์ www.seb.cm.mahidol.ac.th  ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลออนไลน์ เกี่ยวกับ “องค์ความรู้ในการบริหารองค์กรธุรกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ทันสมัยและเข้าถึงได้ง่าย ตามแนวทางของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรซึ่งจะเน้นการสร้างองค์กรธุรกิจที่มีความรับผิดชอบในการรักษาและพัฒนาสังคมอย่างต่อเนื่อง ไม่เน้นการทำกำไรสูงสุดในระยะสั้นแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งในที่สุดแล้วองค์กรธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จะสามารถอยู่ร่วมกับส่วนอื่นๆ ของสังคมได้อย่างมีความสมดุลและยั่งยืน 

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนาและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ“การเผชิญกับความท้าทายในอนาคตของธุรกิจ SMEs ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ว่า ในสังคมโลกปัจจุบันที่มีบริบทโลกไม่เหมือนเดิมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นและเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยที่ขับเคลื่อนโลกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปัจจัยอาทิ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่มีการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ออกแบบมาช่วยให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โครงสร้างประชากรในอนาคตจะมีการขยายและเติบโตเป็นจำนวนมาก จนเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” บริบทการเมืองและเศรษฐกิจโลกที่มีความซับซ้อนและมีความเกี่ยวพันกันของการเมืองและเศรษฐกิจอย่างแยกกันไม่ออกปัจจัยต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายที่ทำให้ธุรกิจ SMEs ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจSMEsสามารถก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ได้ เพราะปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอด พึ่งพาตนเองได้และเกิดความยั่งยืนในที่สุด

โดยดร.ประสาร ได้ชี้ให้เห็นว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีความทันสมัย และเหมาะสมกับบริบทโลกนี้ ที่สำคัญหลักการนี้ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งในระดับบุคคล บริษัท สังคม และประเทศ

“อย่างไรก็ดีอาจจะมีความเข้าใจคาดเคลื่อนว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของภาคเกษตรและห่างไกลจากภาคธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไรแต่ความจริงแล้วหลักการนี้ไม่ได้ขัดกับการแสวงหากำไรหากแต่เน้นให้คิดถึง“ความยั่งยืน”หรืออีกนัยหนึ่งคือคิดถึง“กำไรในระยะยาว”มากกว่าแค่ผลประโยชน์ในระยะสั้นเน้นการทำกำไรที่ไม่เอารัดเอาเปรียบคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและพลวัตของเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่หยุดนิ่งด้วยการดำเนินธุรกิจที่เป็นไปอย่างรอบคอบและมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม”

โดยสรุปการจะเป็นธุรกิจ SMEs ที่ประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ใช่แค่มีไฟมีฝันแต่ต้องเลือกธุรกิจที่จะทำได้ถูกต้องที่ต้องมีความเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจนั้นอย่างแท้จริงรู้จักวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมมีการบริหารจัดการที่ดีใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อยอดการพัฒนารวมถึงการหมั่นหาความรู้ เพื่อปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและที่สำคัญการตั้งโจทย์ให้ “พออยู่พอกิน” ก่อนจะพัฒนาไปสู่ขั้น “พอมีอันจะกิน” จะทำให้มีโอกาสเกิดความสำเร็จมากและสามารถพัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนได้ดร.ประสารกล่าว

7 สายงานสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืน

รศ.สุขสรรค์ กันตะบุตร รองคณบดีฝ่ายวิจัย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวว่า เว็บไซต์ดังกล่าวประกอบด้วยข้อมูล รายละเอียดแนวทางการบริหารธุรกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งออกเป็น 7 สายงาน ได้แก่ 1. การจัดการวัฒนธรรมองค์กร โดยธุรกิจตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะมีวัฒนธรรมองค์กรที่โดดเด่น ในการมีค่านิยมร่วมความดีซึ่งก็คือความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และนวัตกรรม เป็นค่านิยมร่วมพื้นฐานที่เป็นรูปธรรม โดยผู้บริหารจะปฏิบัติตามค่านิยมร่วมความดีเป็นตัวอย่างแก่พนักงาน พร้อมจัดกิจกรรมตอกย้ำค่านิยมร่วมความดีให้พนักงานอยู่เสมอ มีการคัดเลือกพนักงานใหม่ตามเงื่อนไขเกี่ยวกับค่านิยมร่วมความดี 2. การจัดการทรัพยากรมนุษย์ ธุรกิจตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะมีการกำหนดสมรรถนะหลักตามค่านิยมร่วมแห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกพนักงานใหม่ การพัฒนา การประเมินผล การทำงาน และการเลื่อนตำแหน่ง ควบคู่ไปกับการดูแลพนักงานอย่างจริงใจ เช่น การลงทุนพัฒนาพนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาทักษะชีวิตที่ไม่เกี่ยวกับงานโดยตรง ส่งเสริมให้พนักงานเสนอความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้บริหารจากภายในองค์กร และส่งเสริมให้พนักงานทำประโยชน์ต่อสังคม

  1. การจัดการการตลาด ธุรกิจตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะมีแนวในการกำหนดขอบเขตของตลาดเพื่อการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับมีนโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนาสินค้าใหม่ที่ชัดเจน โดยนำความต้องการของลูกค้า คู่ค้า และบริบทของสังคม มาใช้พัฒนาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับมีระบบประเมินความพึงพอใจและการรับข้อร้องเรียนของลูกค้า มีการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาใช้พัฒนาสินค้า ที่สำคัญต้องตั้งราคาอย่างยุติธรรมตามกลไกการตลาด และรักษาความเป็นผู้นำทางการตลาดด้วยภาพลักษณ์และลักษณะของสินค้าที่เป็นประโยชน์และปลอดภัย
  2. การจัดการการผลิตและบริการ ธุรกิจตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะคำนึงถึงผู้อื่นรวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เช่น ลูกค้า พนักงาน ผู้จัดหาวัตถุดิบ สิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน เพื่อให้มีการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ดี โดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายร่วมกันออกแบบสินค้าหรือบริการ พร้อมให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบๆ โรงงาน หรือแหล่งผลิตสินค้าโดยการลดของเสีย มลพิษ การสร้างเครือข่าย
  3. การจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี ธุรกิจตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยี ทั้งในด้านบุคลากรและการสร้างองค์ความรู้ในองค์กร ด้านการวางแนวทางปฏิบัติงานและจัดกิจกรรมให้เกิดนวัตกรรม โดยคำนึงผลลัพธ์การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีขององค์กร พร้อมกำหนดแนวทางในการใช้ข้อมูลเพื่อรองรับการพัฒนานวัตกรรม โดยมีแหล่งข้อมูลและคนรับผิดชอบอย่างชัดเจน
  4. การจัดการการเงินการลงทุน การบริหารการเงินที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ธุรกิจต้องสามารถรักษาผลประกอบการทางการเงิน ให้อยู่ในระดับที่ไม่ย่ำแย่จนเกินไปแม้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ โดยไม่ใช้กลยุทธ์ตัดราคาเพื่อโจมตีตลาดของคู่แข่ง แต่ใช้ยุทธศาสตร์การลงทุนที่เข้าใจในแนวโน้มระยะยาว ควบคู่ไปกับการระมัดระวังอัตราส่วนกำไรต่อต้นทุน อัตราส่วนหนี้ต่อทรัพย์สิน และต้องมีนโยบายปันผลกำไรเพื่อนำไปใช้ในโครงการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
  5. การจัดการความเสี่ยง ธุรกิจตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการจัดการความเสี่ยงทั้งทางด้านนโยบายและการดำเนินธุรกิจ โดยจะวางแผนกำลังคน ประเมินศักยภาพ และพัฒนาพนักงาน รวมทั้งส่งเสริมความรู้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับมีการตลาดที่หลากหลาย มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตามความชำนาญของบริษัท โดยลงทุนอย่างระมัดระวังโดยกำหนดอัตราส่วนทางการเงินที่ยอมรับได้ รวมถึงมีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ที่สำคัญต้องมีระบบติดตามตรวจสอบกระบวนการปฏิบัติงานเพื่อให้สินค้าและบริการได้มาตรฐาน แต่ยังคำนึงความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการงทำงานของพนักงาน และมีคณะทำงานประเมินความเสี่ยงในองค์กรอยู่ตลอดเวลา

        “นอกจากข้อมูลรายละเอียดแนวทางการบริหารธุรกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว เว็บไซต์ www.seb.cm.mahidol.ac.th ยังมีฟังก์ชั่นการประเมินองค์กรด้วยตนเอง สำหรับนำไปเป็นแบบอย่างพัฒนาแนวทางปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จำแนกตามสายงานธุรกิจหลัก 7 สายงานข้างต้น โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่าง แนวทางการดำเนินธุรกิจของแต่ละสายงานจากองค์กรตัวอย่าง และนำมาพัฒนาเป็นแบบประเมินตนเองขององค์กรธุรกิจ โดยแบบทดสอบในการประเมินตนเองนี้ถูกออกแบบในลักษณะเกณฑ์การประเมิน (Rubric) เพื่อให้เข้าใจง่าย และสะดวกในการรวมคะแนนเพื่อนำไปประมวลผล ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าทำแบบทดสอบออนไลน์ โดยคลิกที่ไอคอนทดลองประเมินองค์กรตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา” รศ.สุขสรรค์ กล่าว

ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อทำให้องค์ความรู้อันเกี่ยวเนื่องกับ “ศาสตร์ของพระราชา”  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปปฏิบัติสู่การพัฒนาได้อย่างยั่งยืน อันเป็นหนึ่งในแนวทางที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระราชทานแก่รัฐบาล ในการช่วยสร้างความเข้าใจและขยายงานพัฒนาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงทำไว้อย่างมากมาย เพื่อยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง ให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศสืบไป การที่คณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันทำวิจัยและประยุกต์องค์ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับนำไปเผยแพร่ในหมู่นักธุรกิจให้นำไปปรับใช้ในองค์กรของตน ในทางปฏิบัติจะก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อประเทศชาติในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะในด้านสังคมและเศรษฐกิจ

สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่สนใจ เรียนรู้การบริหารงานองค์กรตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยตนเอง สามารถคลิกเข้าไปศึกษารายละเอียดได้ที่ www.seb.cm.mahidol.ac.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 02-206-2000 และมูลนิธิมั่นพัฒนา