“Industry 4.0” โจทย์ใหม่ที่ท้าทายของประเทศไทย

“Industry 4.0” โจทย์ใหม่ที่ท้าทายของประเทศไทย

 

คุณจรีพร จารุกรสกุล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ  คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group

ในช่วงสองปีที่ผ่านมาเรามักได้ยินคำว่า Industry 4.0 บ่อยครั้ง หลายคนเคยกล่าวว่า Industry 4.0 เป็นโจทย์ใหม่ที่จะเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมทั่วโลก

ในมุมมองของดิฉัน “Industry4.0”หรืออุตสาหกรรม 4.0 ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทั้งหมดเพราะแท้จริงแล้ว คือการก้าวเข้าสู่วัฎจักรความเปลี่ยนแปลงในวงการอุตสาหกรรมของแต่ละยุคสมัยเพียงแต่การเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้มีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลอยู่ 2ด้านนั่นคือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัล

ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มมีความต้องการ และคาดหวังสินค้าหรือบริการที่ “ดีกว่า” และเลือกที่เหมาะสำหรับตนเองมากขึ้น อีกทั้งยังมีกำลังซื้อ และพร้อมที่จะ “จ่าย” เพื่อซื้อสิ่งที่ดีกว่า ทำให้ความเป็น “Mass”ที่เลือกผลิตสินค้าแบบเดียวกันทีละจำนวนมากๆ ในเวลาพริบตาไม่สามารถตอบโจทย์สิ่งที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการอีกต่อไป

เพื่อตอบสนอง “ความต้องการ” ของแต่ละบุคคลแนวคิด Industry 4.0 จึงเป็นการบูรณาการโลกของอุตสาหกรรมการผลิต โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น คลาวด์ คอมพิวติ้ง หรือ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงค์ ( IoT) ระบบฐานข้อมูล หรือปัญญาประดิษฐ์(AI)ฯลฯ เทคโนโลยีดังกล่าวจะมาทำหน้าที่เชื่อมต่อความต้องการของผู้บริโภคและระบบการผลิตสินค้า เพื่อผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคแต่ละรายมากขึ้น

ในอดีตหากคุณเป็นเจ้าของสินค้าอะไรสักอย่าง คุณอาจคือ“The Best”ของโลก แต่วันนี้ สิ่งที่ทุกคนต้องรักษาไว้ในมือให้มั่นคือ “ลูกค้า” หรือผู้บริโภค ใครที่มีฐานลูกค้าหรือแฟนคลับอยู่ในมือมากที่สุดคือผู้ชนะในเกมธุรกิจ

Industry4.0 จึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเทคโนโลยี หากเป็นความท้าทายว่า “ทุกคนต้องปรับตัว” เพราะหากใครปรับไม่ทัน อาจโดน “Disruptive”ในที่สุด ปัจจุบันเราเริ่มเห็นสัญญาณดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในยุโรป เอเชีย ไม่เว้นแม้แต่ ซิลิคอน วัลเลย์ ในสหรัฐอเมริกา ทุกประเทศต่างกำลังหันมาให้ความสนใจและวางทิศทางประเทศของตนไปสู่ระบบการผลิตแบบ Industry 4.0

สำหรับประเทศไทย เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หากเรายังคงก้าวไปในวิธีการผลิตแบบเดิมๆ เราอาจตกขบวนหรือกลายเป็นผู้ตาม

ภาครัฐจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ ซึ่งดิฉันได้เห็นการตื่นตัวของภาครัฐ จากการนำแนวคิด Industry4.0 มาเป็นกรอบในการวางยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศไทยกลายเป็น “ไทยแลนด์ 4.0”  และยังวางพื้นฐานสำคัญเพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับการพัฒนาด้าน Industry 4.0 ตลอดจนสร้างบุคลากรที่มีทักษะทั้งนี้เพื่อรองรับการปรับตัวของภาคธุรกิจ ที่ต้องยกระดับกระบวนการผลิตแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีตามแนวทาง Industry 4.0 ไปสู่ Smart Factoryรวมทั้งการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่ชัดเจน อาทิ คลัสเตอร์อากาศยาน และชิ้นส่วน หุ่นยนต์ และยานยนต์แห่งอนาคต เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว

ดิฉันเชื่อว่า ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่มีความตระหนักและมองเห็นแล้วว่า หากทุกคนสามารถเตรียมพร้อมและยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตโดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจะช่วยลดต้นทุนการผลิต และยังสามารถพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้น

ซึ่งถ้าหากรัฐมีมาตรการและสิทธิประโยชน์จูงใจสำหรับการลงทุนด้านนี้อย่างจริงจัง ก็จะยิ่งกระตุ้นให้ทุกคนพร้อมที่จะ “เปลี่ยน”

เมื่อเรากำลังวางบทบาทใหม่ให้กับประเทศไทยIndustry 4.0จึงเป็นเรื่องท้าทายของทุกคน สิ่งที่ต้องทำคือ การปรับตัว รวมถึงความร่วมมือกันมากขึ้นในทุกภาคส่วนเพราะทุกคนมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการเปลี่ยนผ่านครั้งยิ่งใหญ่ที่สำคัญการมีความคิดเชิงบวก หรือThink Positive จะเป็นสิ่งที่นำพาให้เราประสบความสำเร็จได้ดีที่สุด

  • ดิฉันไปซิลิคอนวัลเลย์มา ก็มีการพูดถึง Industry4.0 สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันทั่วโลกกำลังพุ่งเป้าไปที่ industry 4.0
  • ต้องยอมรับว่า เยอรมันคือผู้นำด้านอุตสาหกรรม แต่คำถามที่กำลังมองต่อไปคือเยอรมันจะยังเป็นผู้นำตรงนี้ต่อไปหรือไม่