TSDF –TRF SUSTAINABILITY FORUM 2017

TSDF –TRF SUSTAINABILITY FORUM 2017

 

พื้นที่ชนบทไทย: โอกาสและความท้าทายของนักวิจัยรุ่นใหม่

จากความตั้งใจในการสร้างแรงบันดาลใจแก่นักวิจัยรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญต่อการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ชนบทไทย พร้อมทั้งสนับสนุนองค์ความรู้เชิงวิชาการและงบประมาณในการดำเนินงานวิจัยเพื่อพัฒนาชนบทไทยให้เกิดความยั่งยืน มูลนิธิมั่นพัฒนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงร่วมมือกันจัดเวทีเสวนาเชิงปฏิบัติการTSDF-TRF Sustainability Forum 2017 พื้นที่ชนบทไทย: โอกาสและความท้าทายของนักวิจัยรุ่นใหม่ ขึ้นเมื่อวันที่ 22-24 มิถุนายน 2560ณ จังหวัดสงขลา โดยในเวทีเสวนาฯ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาที่มาร่วมให้แนวคิดและประสบการณ์การทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ นอกจากนั้นยังมีการอบรมเชิงปฏิบัติการแนวคิดและเครื่องมือในการทำงานชุมชนจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (NODE) ภาคใต้พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิจัยกว่า 50 คนได้ลงพื้นที่บ้านเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลาเพื่อเรียนรู้กระบวนการศึกษาชุมชนผ่านประสบการณ์ตรง รวมถึงเป็นการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับนักวิจัยสาขาอื่นๆ อีกด้วย

ภูมิหลังรัตภูมิ : พื้นที่ต้นน้ำจากอดีต – ปัจจุบัน

ก่อนการเรียนรู้ในพื้นที่จริงได้มีเวทีเสวนาเพื่อสะท้อนให้นักวิจัยรุ่นใหม่เห็นบริบทโดยรวมของพื้นที่บ้านเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จากนักวิชาการที่มีประสบการณ์การทำงานวิจัยในพื้นที่ดังกล่าว

คุณปราณี วุ่นฝ้าย ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์และพัฒนาลุ่มน้ำรัตภูมิ กล่าวว่า บ้านเขาพระ อำเภอรัตภูมิ มีพื้นที่เขตแดนติดต่อและทางผ่านไปยังจังหวัดสตูล  มีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างสันติพื้นที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์โดยมีคลองรัตภูมิหรือ คลองภูมีความยาว 63 กม.และคลองสาขาอีก 38 สาขาใช้เป็นแหล่งน้ำหลักเพื่อการอุปโภคบริโภค พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำการเกษตร เช่น สวนยาง สวนผลไม้ เกษตรผสมผสานและนาข้าว ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ จึงนำมาสู่การรุกล้ำและช่วงชิงทรัพยากรจากภายนอกเพื่อสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักวิจัยได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยให้ชุมชนเกิดการรับรู้ถึงสิทธิ และการรวมตัวเพื่อสร้างความเข้มแข็งในชุมชนพร้อมทั้งสามารถจัดการตนเองได้

“เคยทำงานวิจัยด้านสิทธิชุมชนบ้านเขาพระ ซึ่งพื้นที่บางส่วนได้รับผลกระทบจากโครงการอ่างเก็บน้ำ จึงได้ใช้งานวิจัยมาเป็นข้อมูลในการอธิบายกับโครงการ มีการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนและปัญหาจึงได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านเข้าใจสิทธิทำกินและการอยู่อาศัย การพัฒนาศักยภาพ การเรียนรู้ชุมชนท้องถิ่น เกิดวิธีการฟื้นฟูและจัดการระบบน้ำ เช่น การทำป่าชายคลอง การทำฝายจนในที่สุดชาวบ้านกลายมาเป็นนักวิจัย สิ่งสำคัญของการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่คือการที่นักวิจัยเข้าไปเรียนรู้และมีส่วนร่วมกับชุมชน แล้วนำผลวิจัยที่ได้คืนชุมชนเพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อไป”

ด้าน รศ.ดร.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล  อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ในฐานะนักวิจัยที่มีประสบการณ์การทำงานวิจัยในชุมชนเขาพระ  กล่าวว่าคนในชุมชนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำสวนยางเพราะถือเป็นรายได้หลักของคนในชุมชนแต่ตลอด10 ปีที่ผ่านมา ราคายางในตลาดมีความผกผันเกษตรกรไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดราคายางในตลาดได้เองทำให้ได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งในแง่การผลิตและเศรษฐกิจ จึงเป็นที่มาของการปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำสวนยางแบบเดิมมาเป็นการปลูกพืชร่วมยาง โดยมีนักวิจัยเข้าไปทำการศึกษาการปลูกพืชร่วมยาง และพบว่าการปลูกพืชร่วมยาง เช่น ไผ่  สละ หวาย ไม้กฤษณา ฯลฯ ไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตของยาง เพราะสามารถปลูกร่วมกับยางพาราได้ สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มจากการปรับปรุงการทำสวนยางเพื่อให้มีระบบการจัดการสวนยางและการพัฒนาคุณภาพของยางที่ดีผลที่เกิดขึ้นจากการปลูกพืชร่วมยางช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทั้งยังสร้างความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมกับชุมชนได้อีกด้วยอย่างไรก็ตามแม้เกษตรกรจะมีความรู้และบทเรียนเรื่องการปลูกพืชร่วมยาง แต่วิธีการดังกล่าวกลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร สิ่งนี้จึงถือเป็นโจทย์และความท้าทายที่สำคัญที่นักวิจัยควรเข้าไปหาคำตอบและช่วยแก้ปัญหาร่วมกับชาวบ้านต่อไป

หลังจากได้รับข้อมูลเบื้องต้นของชุมชน วิธีคิดและแนวทางการลงไปทำวิจัยในพื้นที่แล้ว นักวิจัยทั้งหมดจึงได้ลงพื้นที่จริงเพื่อเป็นการนำสิ่งที่ได้รับจากการอบรมมาทดลอง และเรียนรู้ร่วมกันโดยโจทย์ที่ได้รับคือการศึกษาชุมชนบ้านเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา โดยมีพื้นที่เรียนรู้แบ่งออกเป็น 4 ฐานการเรียนรู้ได้แก่ ฐานการเรียนรู้ศูนย์การเรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทยเกษตรธาตุ 4ซึ่งมีนายอภินันต์ หมัดหลีปราชญ์ชาวบ้านมาให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฐานการเรียนรู้พืชร่วมยางได้นายเศกสิทธิ์ เกียรติเสนกุลหนึ่งในเกษตรกรต้นแบบที่หันมาทำเกษตรกรรมโดยการปลูกพืชผสมผสานร่วมกับยางพารามาให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการพื้นที่และการปลูกพืชร่วมยางฐานการเรียนรู้สวนยางและป่าไผ่มีนายสัน เส็นแหละเจ้าของสวนยางที่เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดปลูกไผ่บนพื้นที่สวนยางพารามาเป็นผู้ให้ข้อมูลและสุดท้ายคือฐานการเรียนรู้พื้นที่สวนลำไยมีนายสุขสมหมาย สุวงศ์วัฒนากูลเจ้าของสวนลำไยมาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการทำธุรกิจและการปรับตัวต่อบริบทพื้นที่ทีที่มีความหลากหลาย นอกจากนั้นยังมีชาวบ้านในพื้นที่บ้านเขาพระมาร่วมให้ข้อมูลชุมชนกับนักวิจัยรุ่นใหม่อีกด้วย

บทเรียนและคุณค่าจากการศึกษาชุมชน

ผศ.ดร.ชาญณวุฒ ไชยรักษา อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ด้วยความที่ตนเองจบมาทางด้านรัฐศาสตร์ทำให้การทำงานวิจัยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองโครงสร้างและนโยบาย แต่การได้มาลงพื้นที่และเรียนรู้การศึกษาชุมชนจากเวทีเสวนาฯ ในครั้งนี้ ทำให้ตนเองเห็นประเด็นและมุมมองในการทำงานวิจัยที่แตกต่างไปจากเดิมว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถาบันการปกครองเพียงอย่างเดียวแต่สิ่งสำคัญคือเราต้องให้ความสำคัญกับคนในชุมชน ต้องรู้ว่าเขาต้องการอะไร รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นหรือชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นนักวิจัยต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อนำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหาชุมชนที่ก่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน

“การจะทำวิจัยสำเร็จ นักวิจัยต้องเข้าไปเรียนรู้กับชาวบ้าน ให้ชาวบ้านมาร่วมทำงานกับเรา เพื่อจะได้แก้ปัญหาร่วมกัน เมื่อชาวบ้านเกิดการเรียนรู้ การพัฒนาชนบทก็จะเกิดขึ้น การทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ในชนบทไทยจึงเป็นการวิจัยที่จะต้องมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อชาวบ้าน ชุมชน และนักวิจัยที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป”

ดร.วนิดา เพ็ชรลมุล  อาจารย์คณะวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา  กล่าวว่าการเข้าร่วมเวทีเสวนาฯได้เปิดโอกาสให้ตนได้เรียนรู้และสัมผัสกับประสบการณ์การลงพื้นที่จริง จากที่ส่วนใหญ่จะทำงานอยู่แต่ในห้องปฏิบัติการ สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้คือสามารถนำความรู้เรื่องการปลูกพืชร่วมยางที่ได้รับจากการลงพื้นที่มาปรับใช้กับการทำงานวิจัยของตนในด้านเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรเพื่อประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของชุมชน เช่น การผลิตยาฆ่าแมลงชีวภาพ การปลูกพืชผสมผสาน เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าองค์ความรู้ของชาวบ้านสามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกศาสตร์ และการที่จะทำงานร่วมกับชุมชนหรือพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืนได้นั้น นักวิจัยต้องมองให้ครบทั้ง 4 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เราต้องมองให้ทุกอย่างเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนได้อย่างแท้จริง

“การที่งานวิจัยจะตอบโจทย์ความยั่งยืนของชนบทได้ สิ่งสำคัญคือต้องเกิดกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมและความตระหนัก ให้ชุมชนต้องรู้กระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นักวิจัยเองต้องให้ชุมชนถ่ายทอดความรู้ ชุมชนจึงจะเกิดความยั่งยืนได้”

ดร.ณฤทธิ์ไทยบุรีอาจารย์ประจำภาควิชาส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะคนในพื้นที่อำเภอรัตภูมิ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้มองพื้นที่บ้านเกิดต่างไปจากเดิม ตนได้เห็นปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ในชุมชนซึ่งมองว่าพื้นที่ในอำเภอรัตภูมิเป็นโจทย์ที่น่าสนใจ ที่ตนอยากจะนำเอาความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรมาปรับใช้กับการพัฒนาพื้นที่ของตนเองนอกเหนือไปจากนั้นการลงพื้นที่ชุมชนครั้งนี้ยังทำให้เห็นการทำงานร่วมกันของศาสตร์สาขาวิชาอื่นๆ ของคณะอาจารย์ในพื้นที่ เช่น วิทยาศาสตร์ สังคม เกษตร ฯลฯ ทำให้เกิดการบูรณาองค์ความรู้จากหลากหลายสาขาในการคิดวิเคราะห์โจทย์  รวมถึงการนำเครื่องมือศึกษาชุมชนมาช่วยในการทำวิจัยเช่น แผนที่ความคิด ปฏิทินเวลา ซึ่งช่วยให้สามารถวิเคราะห์และเข้าใจชุมชนได้ดียิ่งขึ้น

“เครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้ชนบทไทยพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็งหรือความยั่งยืนได้นั้น คือการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการทำเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการนำ หลักคิด3 ห่วง 2 เงื่อนไขมาปรับใช้กับชุมชนคือ ชุมชนต้องรู้จักตนเองก่อนเพื่อให้รู้ว่าต้องการอะไร จะทำเพื่ออะไร และมีเหตุผลในการจะทำ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญคือการร่วมมือกันของคนในชุมชนซึ่งถือว่าเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีรวมถึงการสร้างความรู้และคุณธรรมเพื่อที่จะทำให้เกิดความเข้มแข็งและสามัคคีภายในชุมชน ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จะขับเคลื่อนให้ชุมชนสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน”

แนวทางการพัฒนางานวิจัยสู่ชนบทไทยที่ยั่งยืน

ในช่วงท้ายของเวทีเสวนาฯ ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ยงยุทธยุทธวงศ์ กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวสรุปและให้แนวคิดการทำงานเพื่อพัฒนาชนบทไทยให้เกิดความยั่งยืนแก่นักวิจัยรุ่นใหม่ว่า สิ่งสำคัญคือนักวิจัยต้องหาโจทย์ให้เจอเสียก่อน แล้วจึงพยายามทำความเข้าใจสามารถวิเคราะห์ให้เกิดความลึกซึ้ง และนำแนวทางที่เหมาะสมมาใช้ในการแก้ปัญหาเทคนิคที่นักวิจัยทุกคนสามารถทำได้คือ1) หลังจากศึกษาชุมชนแล้ว ควรนำข้อมูลหรือข้อค้นพบไปเปรียบเทียบกับประเด็นเดียวกันในบริบทพื้นที่อื่นๆ เพื่อจะได้เห็นความคล้ายคลึงหรือแตกต่างได้ดียิ่งขึ้น 2) นักวิจัยต้องวิเคราะห์ข้อมูลในบริบทของศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่มองเพียงศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งหรือศาสตร์ที่ตนเองเชี่ยวชาญเท่านั้น ทั้งนี้ศาสตร์พระราชาก็ถือเป็นศาสตร์หนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่องานวิจัยได้เช่นกัน3) เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลและได้ข้อสรุปใหม่เกิดขึ้นแล้ว นักวิจัยควรตรวจสอบข้อสรุปนั้นว่าเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจอยู่หรือไม่ มีผลกระทบอย่างไรทั้งในระยะสั้นและยาว เพื่อเชื่อมโยงและสร้างหัวข้องานวิจัยที่เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด4) นักวิจัยต้องไม่ยึดติดกับภาพเล็ก ต้องสามารถเชื่อมโยงงานวิจัยชุมชนเชิงพื้นที่ ไปสู่งานวิจัยที่มีบริบทใหญ่ขึ้น เช่น งานวิจัยระดับนโยบายหรือระดับประเทศได้ และ5) นักวิจัยต้องสามารถพัฒนางานวิจัยให้สามารถเชื่อมโยงสู่ประเด็นระดับสากลได้ จึงจะสามารถสร้างงานวิจัยที่มีคุณค่าและเกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

มูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)   พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนผลักดันให้เกิดเครือข่ายนักวิจัยรุ่นใหม่ และผลงานวิจัยที่จะช่วยพัฒนาชนบทไทยให้เกิดความยั่งยืนต่อไป