TMARK แบรนด์แห่งชาติไทย ที่ต้องให้คนไทยช่วยไทย

TMARK แบรนด์แห่งชาติไทย ที่ต้องให้คนไทยช่วยไทย

 

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า แบรนด์แห่งชาติ (Nation Branding) กันมาแล้วว่าคืออะไร เพราะในหลากหลายชาติมักมีนโยบายสร้างแบรนด์แห่งชาติขึ้นมา เช่น อังกฤษ,นิวซีแลนด์ (Brand New Zealand), สวิตเซอร์แลนด์(Presence Switzerland (PRS))หรือในเอเชียก็มีสิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์และสร้างสินค้าและบริการอันเป็นลักษณะเฉพาะของประเทศตน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการกำหนดตำแหน่งของประเทศตนเอง

หากมองมาที่ประเทศไทย หลายท่านคงตั้งคำถามว่าทำไมจึงไม่เห็นการสร้างแบรนด์แห่งชาติของไทยบ้างเลย ทั้งที่จริงแล้วไทยก็มีสินค้าดี ของเด็ด และบริการเยี่ยมที่ต่างชาติชอบมากมาย ทั้งนี้ต้องบอกว่าแท้จริงแล้วรัฐบาลไทยได้ริเริ่มการสร้างแบรนด์แห่งชาติมาแล้วหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ (Amazing Thailand)” ที่เน้นส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวของประเทศไทยเครื่องหมายมือพนม ตรารับรองข้าวหอมมะลิของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอะเมซิ่งไทยแลนด์ที่เชื่อว่าคนไทยคงพอได้ยินกันอยู่บ้าง

ในปีนี้(พ.ศ.2560) รัฐบาลไทยต้องการผลักดันและตอกย้ำแบรนด์แห่งชาติในกลุ่มสินค้าและบริการให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น จึงส่งเสริมตราสัญลักษณ์ “Thailand Trust Mark” หรือT MARKตรารับรองคุณภาพในทุกมิติของสินค้าและบริการไทยที่ทำด้วยใจ โดยยกหน้าที่การสร้างแบรนด์แห่งชาตินี้ให้แก่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มมูลค่า คุณค่า รวมถึงเป็นแรงส่งให้สินค้าและบริการไทยให้มีศักยภาพ ความน่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับในตลาดโลก เนื่องจากในปัจจุบันแบรนด์ของสินค้าไทยที่เป็นที่รู้จักในระดับโลกยังมีไม่มากนัก โดยแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างมักต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการสร้างการรับรู้มาตลอด การใช้กลยุทธ์สร้างตัวสนับสนุนหรือตัวช่วยแบรนด์ไทยให้แข่งขันได้ในระดับโลกด้วยตราสัญลักษณ์นี้จึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะแบรนด์ไทยที่จะได้รับตราการันตีนี้จะต้องเป็นสินค้าและบริการที่มีคุณภาพในทุกมิติ ได้แก่

1. คุณภาพสินค้าและบริการที่ได้รับมาตรฐานสากล (International standard)
2. คุณภาพเรื่องมาตรฐานแรงงานไทย (Fair Labour)
3. คุณภาพเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility)
4. คุณภาพในการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environmental Concern)
5. Heartmade Quality สินค้าและบริการที่ใช้ฝีมือ ผลิตด้วยความใส่ใจ ตั้งใจ เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีที่สุด

ในปัจจุบันมีบริษัทผลิตสินค้าและบริการของไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ T MARK จำนวนกว่า700 บริษัทแบ่งเป็นกลุ่มสินค้าอาหาร อุตสาหกรรมหนัก ไลฟ์สไตล์ แฟชั่น และทั่วไป  และกลุ่มธุรกิจบริการกลุ่มส่งเสริมสุขภาพ การศึกษานานาชาติ และธุรกิจบริการรักษาพยาบาล ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับ และประสบความสำเร็จอย่างสูงในการช่วยผู้ประกอบการไทยดำเนินธุรกิจส่งออก ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าไทย ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์สปาปัญญ์ปุริ, เครื่องแกง Blue Elephant, กะทิชาวเกาะ, เครื่องดื่มทิปโก้, UFC, เฟอร์นิเจอร์ดีสวัสดิ์, วิทยาลัยนานาชาติมหิดล เป็นต้น

ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจท้าทายของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศไม่น้อยที่จะสร้างชื่อแบรนด์ไทยให้ติดอยู่ในใจของตลาดโลก แต่หากสำเร็จก็ถือว่าคุ้มค่ามาก ไม่เพียงทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศมีความชัดเจน สร้างเอกลักษณ์ให้ประเทศ เมื่อเห็นตราสัญลักษณ์นี้สามารถรู้ได้ทันทีว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพจากเมืองไทย ที่สำคัญยังพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้สูง ภาคธุรกิจทั้งรายเล็กและรายใหญ่จะมีศักยภาพในการนำประเทศให้เป็น “ชาติการค้า” ได้เหมือนกัน

ก็คงต้องลุ้นกันว่าจะสำเร็จแค่ไหน ซึ่งคงจะสำเร็จไม่ได้ถ้าคนไทยไม่ช่วยหรือเห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ ส่วนใครที่ยังไม่กระจ่างใจในตราสัญลักษณ์นี้สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://thailandtrustmark.com และ https://www.facebook.com/TMark.DITP/  หรือสามารถดูหนังสั้นที่สร้างจากผู้กำกับไทย ใช้ใจทำอย่าง คุณเอส คมกฤษ ตรีวิมล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องแฟนฉันที่เห็นถึงความสำคัญ ทำหนังสั้นเล่าเรื่อง T Mark ได้อย่างน่าสนใจและสนุกสนานเลยทีเดียว

Video Link : https://www.youtube.com/watch?v=SwDXPHsTyFw