ภาวะหัวใจล้มเหลว ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

ภาวะหัวใจล้มเหลว ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

 

หลายคนมีความเข้าใจผิดว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือHeart Failure เป็นโรค แต่แท้จริงแล้ว คือภาวะที่แพทย์ประเมินว่าผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว  อันเนื่องจากการที่หัวใจทำงานผิดปกติ

นายแพทย์ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เผยถึงว่าหัวใจล้มเหลวไม่ใช่ภาวะที่หัวใจจะหยุดทำงาน แต่เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถทำงานได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น ในกรณีผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันอาจอันตรายถึงชีวิต ส่วนผู้ที่เป็นเรื้อรัง เช่นมีน้ำขังในปอดเป็นครั้งคราว ในระยะยาวอาการหรือภาวะหัวใจล้มเหลวจะมากขึ้นไปเรื่อยๆจนเสียชีวิตได้

“เมื่อก่อนเรียกว่าหัวใจอ่อนกำลัง แต่ปัจจุบันพบว่าไม่ใช่เฉพาะภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนกำลังอย่างเดียวที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว แต่ยังมีสาเหตุจากโรคอื่นๆ เช่น โรคหลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบตัน ความดันโลหิตสูง โรคลิ้นหัวใจรุนแรง และภาวะหัวใจคลายตัวผิดปกติ”

เป็นความจริงที่ว่า หากผู้ป่วยที่เคยผ่านภาวะหัวใจล้มเหลวแล้ว  ส่วนใหญ่ในระยะยาว หัวใจจะไม่แข็งแรงหรือเป็นปกติอีกต่อไปภาวะดังกล่าวส่งผลให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง เพราะต้องเข้าออกรักษาตัวในโรงพยาบาล ทั้งยังเป็นภาระต่อครอบครัวและทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตามมาอีกมาก

“เคยมีคนถามว่าหัวใจล้มเหลวกับมะเร็งอะไรอันตรายกว่ากัน มีข้อมูลชี้ว่าในระยะเวลาหลังจากพบโรคเท่ากัน ผู้ป่วยที่เคยผ่านภาวะหัวใจล้มเหลวมาก่อนมีโอกาสชีวิตรอด 50 คน ใน 100 คน แต่ผู้ป่วยมะเร็งบางชนิดที่ไม่รุนแรงสามารถมีโอกาสมีชีวิตรอดอยู่ได้90 คน ใน 100 คน ในระยะเวลา 5 ปี”

แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าเรากำลังมีภาวะหัวใจล้มเหลว? นายแพทย์ประดับเฉลยว่า เมื่อใดที่หายใจแล้วรู้สึกเหนื่อยง่ายเกินปกติ ตอนกลางคืนนอนราบแล้วหายใจไม่ออกจนต้องลุกนั่ง ขาบวม เหล่านี้คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว

“อาการที่มาพบแพทย์แล้วสงสัยว่าอาจเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว คือ ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการมีน้ำขังในร่างกาย อาทิเช่นในปอด นอกเหนือจากมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก  อ่อนแรงหรืออ่อนกำลัง บวมตามร่างกาย รวมถึงมีความคิดไม่โปร่งใส และเบื่ออาหาร”

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว นายแพทย์ด้านหัวใจเล่าว่า อันดับหนึ่งคือกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน และการเกิดภาวะHeart Attackซึ่งทำให้กล้ามเนื้อส่วนหนึ่งของหัวใจตายเฉียบพลัน นอกจากนี้ยังเกิดจากบางโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงหรือลิ้นหัวใจผิดปกติ ก็เป็นต้นเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้

“หากผู้ป่วยเคยประสบภาวะ Heart Attack บ่อยครั้งมีผลนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือมีอาการลิ้นหัวใจรั่วเป็นเวลานาน หรือโรคบางโรคทำให้เป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อนาคตข้างหน้าก็จะมีสิทธิ์อ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ”

ในด้านการรักษาเบื้องต้นเมื่อถึงมือแพทย์ หากผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่ออกก็อาจต้องให้ใส่เครื่องช่วยหายใจ และส่วนกรณีมีน้ำในปอด ต้องให้ยาขับปัสสาวะ เมื่อคนไข้พ้นวิกฤตแล้วแพทย์จะหาสาเหตุว่าเกิดจากสาเหตุหรือโรคใด ซึ่งแต่ละโรค แต่ละสาเหตุมีผลต่อความรุนแรงและใช้วิธีการรักษาแตกต่างกัน

การซักถามประวัติผู้ป่วยจึงเป็นกระบวนการสำคัญมาก เพราะสามารถช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วว่ามีสาเหตุจากโรคชนิดใด และสามารถหาวิธีแก้ไขได้ทันท่วงที โดยแพทย์จะประเมินร่วมกับการตรวจด้วย ECG การทำ Chest X-ray รวมถึงการทำ Echo Cardiogramเป็นต้น

“หากพบว่าหัวใจมีการบีบตัวต่ำกว่า 40 เปอร์เซ็นเรียกว่าเป็นภาวะหัวใจบีบตัวอ่อนกำลัง อย่างไรก็ตาม แม้หัวใจจะบีบตัวได้มากกว่าถึง50เปอร์เซ็น ก็ไม่ควรวางใจ เพราะยังมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ จากสาเหตุอื่นๆ เช่นกัน”

สำหรับผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวรุนแรงมาก และส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว แพทย์อาจมีตัวยาที่ช่วยให้ดีขึ้นได้บ้าง หรือปัจจุบันยังมีการใช้เทคโนโลยีทันสมัยหลากหลาย อาทิการใช้หัวใจเทียมเพื่อประคับประคองผู้ป่วย แต่ทั้งหมดทั้งมวลนายแพทย์ประดับมองว่าเป็นเพียงแค่เรื่องของการประทังชีวิตผู้ป่วยไว้เท่านั้น ทางเลือกที่ดีที่สุดคือ อย่าปล่อยให้เกิดภาวะนี้ขึ้นกับตัวเราตั้งแต่แรกเริ่มหรือป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

ซึ่งแม้หลายปัจจัยอาจเป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ได้ เช่น อายุ หรือโรคบางโรค แต่จากการพบว่าสองในสามของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว มีสาเหตุจากโรคที่เกิดจากภาวะเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตันดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ หากเป็นโรคประจำตัว เช่น ความดัน เบาหวาน ควรรักษาให้อยู่ในระดับปกติก็จะช่วยให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง และลดโอกาสเผชิญกับภาวะหัวใจล้มเหลวมากขึ้นอีกขั้นหนึ่ง