PTTGC Open Innovation Challenge 2016

PTTGC Open Innovation Challenge 2016

 

หนึ่งในเวทีของการร่วมขับเคลื่อนสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่กับการสร้างสรรค์ผลงานในวงการอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเคมีไทยสู่ความสำเร็จเชิงพาณิชย์ กับโครงการแข่งขัน PTTGC Open Innovation Challenge 2016 "Smart-Eco Innovation" ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

โครงการซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้น

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผยว่า การจัดประกวดโครงงานวิจัย PTTGC Open Innovation Challenge 2016 ภายใต้แนวคิด "Smart-Eco Innovation"มีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยทั้งในกลุ่มภาคการศึกษาภาคสถาบันวิจัยและบริษัทสตาร์ทอัพได้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่สามารถสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ควบคู่กับการสร้างสมดุลทางสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เนื่องจากการวิจัยพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งการริเริ่มโครงการประกวดโครงงานวิจัยนี้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศโดยอาศัยการแสวงหาแนวความคิดใหม่ใหม่จากภายในและภายนอกองค์กรเพื่อร่วมมือกันพัฒนาและต่อยอดผลงานวิจัยสู่การสร้างมูลค่าที่สามารถผลิตออกสู่ตลาดได้จริง

สำหรับโครงการนี้ได้เปิดรับสมัครผลงานตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 และได้รับการตอบรับจากนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศส่งผลงานเข้าร่วมทั้งสิ้น 50 โครงการจากภาคการศึกษา 38 โครงการภาคเอกชนหรือบริษัทสตาร์ทอัพ 12 โครงการ ผู้เข้าร่วมในโครงการทั้งสิ้น 165 คน โดยในจำนวนทั้งหมดมีโครงการที่ได้รับคัดเลือกเพื่อนำเสนอผลงานในรอบชิงชนะเลิศจำนวนทั้งสิ้น 11 ทีมโดยมีพิธีประกาศผลรางวัลที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา

โดยมีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ 3 ทีม จากทั้งหมด 11 ทีม ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่Smart-Eco Products คือการคิดค้นหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทีม Photocat ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) คว้ารางวัลชนะเลิศจากการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ในการใช้แสงในการเปลี่ยนอ้อยให้เป็นสารที่มีมูลราคาสูงเพื่อสุขภาพของคนไทยโดยนำอ้อยซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยมาเข้ากระบวนด้วยแสงซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ให้เป็นน้ำตาล และเปลี่ยนเป็นสารทดแทนความหวาน ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าอ้อยที่เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งสารทดแทนความหวานมีตลาดค่อนข้างเติบโต เนื่องจากแนวโน้มในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นตลอดจนสามารถใช้ในผู้ป่วยที่ควบคุมปริมาณน้ำตาล อาทิผู้ป่วยโรคเบาหวานได้

ประเภท Circular Thinking คือการมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผู้ชนะเลิศได้แก่ ทีม Graphenal อาจารย์จากสำนักวิชาโมเลกุลสถาบันวิทยสิริเมธีและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยในประเทศจีน กับผลงานอีโคชีทที่สามารถดักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นวัสดุที่มีมูลราคาสูงขึ้นที่เรียกว่า Microporous Graphenal Polymers ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดใช้เป็นสารอิเล็กโทรไลตเหลว (Liquid Electrolyte) สำหรับแบตเตอรี่และตัวเก็บประจุยิ่งยวด (Supercapacitor) ได้

และประเภท Smart-Eco Plants คือการพัฒนากระบวนการหรือเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตตลอดจนกระบวนการนำของเสียมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งกลุ่มที่สามารถคว้ารางวัลประเภทนี้ ไปครองคือทีม Powerpuff Girls  จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นำสเนอนวัตกรรมเปลี่ยน ของเสียหรือกากอุตสาหกรรมจากโรงงานปิโตรเคมี ที่มีคาร์บอนอยู่ให้มาเป็น 'Carbon Dots' ที่มีราคาสูงกว่าทองถึง 50 เท่าCarbon Dots สามารถผลิตได้โดยไม่ซับซ้อนและใช้ต้นทุนต่ำ เป็นอนุภาคขนาดเล็กมากที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบมีสมบัติในการเรืองแสงที่ดีมีคุณสมบัติในการใช้งานได้หลายรูปแบบเช่น ทีวี หลอดไฟ LED เซลล์แสงอาทิตย์รวมถึงเป็นตัวนำส่งยาในทางการแพทย์ได้อีกด้วย

ผศ.ดร.พีระศักดิ์ เภาประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าทีมPowerpuff Girlsเปิดเผยว่าจุดเด่นของทีมคือนวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนของถูกให้เป็นของแพงเปลี่ยนของเหลือใช้ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งในเชิงของกำไรและสังคม โดยคาดว่าสาร Carbon Dots จะสามารถพัฒนาเป็นอุปกรณ์ต่างๆในเชิงประยุกต์ได้เป็นรูปธรรม ประมาณอีกหนึ่งปีข้างหน้า เพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคมในแง่ต่างๆต่อไป

สำหรับผู้ชนะเลิศแต่ละประเภทจะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 500,000 บาท พร้อมทั้งร่วมมือกับ PTTGC เพื่อนำการวิจัยเหล่านี้พัฒนาศักยภาพ ไปสู่เชิงพาณิชย์โดยร่วมมือกับบุคลากรด้านการวิจัยพัฒนาของบริษัทรวมถึงการใช้ห้องปฏิบัติการและโรงงานต้นแบบของศูนย์วิจัยและเทคโนโลยีของบริษัทเชื่อมโยงและเป็นส่วนหนึ่งในแรงผลักดันของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือเพื่อผลักดันให้ผลงานวิจัยโดยนักวิจัยไทยและบริษัทของไทยได้แข่งขันในเวทีโลกพร้อมทั้งเกิดการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน