The New Edge of Investment

The New Edge of Investment

 

วิสัยทัศน์ใหม่ “ทอมมี่ เตชะอุบล” กับการขับเคลื่อน CGH Holdings ก้าวสู่ SET50

“ประสบการณ์” ผสานกับ “วิสัยทัศน์” ในแบบฉบับคนรุ่นใหม่ ทำให้ ทอมมี่ เตชะอุบล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มองเห็นก้าวต่อไปของธุรกิจที่ไม่หยุดอยู่แค่การเป็นบริษัทรีเทลนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ หากเขาเลือกที่จะวางทิศทางธุรกิจที่สร้างโอกาสเติบโตยั่งยืน ด้วยการปรับโครงสร้างสู่รูปแบบใหม่ของ “โฮลดิ้งคัมปานี”

ทอมมี่แจกแจงถึงเหตุผลสำคัญของการตัดสินใจขอเพิกถอนหุ้นสามัญของ CGS จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และจัดตั้งบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (CGH) เพื่อเปลี่ยนเป็นการประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) เมื่อสองปีก่อนว่า หลังเกิดการแข่งขันในธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น การพึ่งพิงรายได้หลักจากธุรกิจหลักทรัพย์เพียงธุรกิจเดียว มีแต่จะนํามาซึ่งผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นที่ลดลง

ดังนั้นการปรับโครงสร้างกิจการ ไม่เพียงเป็นหนทางรอดจากวิกฤต แต่ยังเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงาน และเอื้อต่อการขยายธุรกิจรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งจะทำให้สามารถดำเนินธุรกิจในด้านการลงทุนใหม่ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในการดําเนินงานของบางธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การกํากับดูแลโดยหน่วยงานกํากับดูแลตามกฎหมาย เช่น ธุรกิจการลงทุนของสายงานลงทุน เป็นต้น

ที่สำคัญแผนการปรับครั้งนี้เขาเชื่อว่าจะเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่จะทำให้ CGH สามารถสยายปีกสู่การเป็น “The New Edge of Investment” ที่สร้างฐานรากมั่นคงให้ธุรกิจระยะยาวต่อไปในอนาคต

เกือบสองปีหลังการจัดทัพโครงสร้าง CGH กับการได้รับมอบหมายตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)” ทอมมี่ดำเนินการทั้งแผน “ลด” ไซส์ โดยขายสาขา CGS ให้ UOBKH และหันมาโฟกัสธุรกิจที่สร้างผลกำไรได้มากกว่า เช่น ที่ปรึกษาทางการเงิน SBL Private Wealth, การลงทุนในลักษณะ Proprietary Trade การซื้อขายพันธบัตรและตราอนุสารพันธ์ เป็นต้น

ขณะที่แผน “รุก” มีการปลุกปั้นขยายศักยภาพธุรกิจในเครือเพื่อเสริมในเรื่องรายได้และยังเลือกลงทุนในกิจการที่เขามองว่า “มีอนาคต”

ส่งผลให้ปัจจุบันสินทรัพย์ของ CGH จึงมีธุรกิจหลากหลาย ทั้งบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CGS)(99.3%) บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) (MFC)  (24.3%) ที่มีกองทุน MFC International Develop Markets Fundได้รับรางวัล The Best Thailand Fund

ด้านบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) (PDI) (24.9%) ซึ่งมีการปรับโครงสร้างทางธุรกิจเป็นโซลาร์ฟาร์ม  และเตาเผาเศษวัสดุเหล็ก จากเดิมที่ทำธุรกิจโรงถลุงสังกะสี  ซึ่ง CGH ได้ใช้เครือข่ายระดับโลกของตัวเองมาปรับปรุง PDI โดยมีการดึง Ultra High Temperature Technology AB จากพันธมิตรนอร์เวย์ที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลกมาช่วยยกระดับศักยภาพธุรกิจและ บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (CGD) (9.3%) ซึ่งเป็นเจ้าของโปรเจค Residence สุดหรูที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอย่าง Four Season Private Residence โดยคาดว่าจะรับรู้รายได้ในปี 2561 จากยอดโอนมูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาทนอกจากนี้ยังเข้าซื้อโรงเรียนมัธยมในอังกฤษซึ่งให้มาร์จิ้นสูง และมีแผนจะซื้อเพิ่มอีก 2-3 แห่งในอังกฤษ

อานิสงห์จากการดำเนินธุรกิจด้วยจุดยืนที่เรียกว่า The New Edge of Investment กลายเป็นคีย์ซัคเซสที่ทำให้ CGH โครงสร้างใหม่ออกดอกเห็นผลอย่างรวดเร็ว และกำลังจะสร้างกำไรและผลประกอบการเป็นกอบเป็นกำให้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นในปีนี้ คือ 2560 ไปจนถึงปีหน้า 2561

ซึ่งทั้งหมดนี้ น่าจะเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกได้ว่า วิชั่นของผู้บริหารหนุ่มคนนี้กำลังขับเคลื่อนเดินหน้า “มาถูกทาง”

 “ผมมองว่าถ้าเราไม่ทำตั้งแต่สองปีที่แล้ว กำไรเราคงไม่เหลือเลย เพราะอุตสาหกรรมนี้โดนกระทบชัดเจน กำไรเฉลี่ยลดลง 30%ถ้าดูรายย่อยอาจขาดทุนเกือบทุกตัว คาดว่าสองสามปีข้างหน้า อาจมีหลายบริษัทที่ต้องปิดตัวหรือขายกิจการ ฉะนั้นวิธีการของเราอาจค่อนข้างมองไกลนิดหนึ่ง แต่การปรับตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ เราจึงมีกำไร มีการเติบโตขยายได้”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) อธิบายให้ฟังถึงจุดยืน The New Edge of Investment ที่ว่า ประกอบด้วยการสร้างกลยุทธ์ผ่าน 3 ปัจจัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการวางทิศทางธุรกิจ CGH ตั้งเป้ามุ่งสู่การเป็นบริษัทลงทุนที่เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยการพัฒนาสินทรัพย์และบริษัทในเครือให้เติบโต และเสาะแสวงโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ ด้วยการมองโอกาสการต่อยอดธุรกิจที่มากกว่าที่คนอื่นมองเห็น

การเพิ่มศักยภาพการสร้างผลตอบแทนด้านการเงินด้วยการมองเป้าหมายในการสร้าง “ความสม่ำเสมอ” ในด้านรายได้จากบริษัทในเครือและสินทรัพย์ต่างๆ ของบริษัท โดยเป็นการต่อยอดความได้เปรียบจากการเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่มีความยืดหยุ่นในการบริหารสูง รวมถึงการนำความเชี่ยวชาญด้านการเงินจากฐานธุรกิจเดิมมาเป็นตัวเสริมทัพ

รวมถึงการมีกลยุทธ์ธุรกิจ 5 ด้าน ที่จะเป็นกลยุทธสำคัญในการผลักดันให้ CGH ก้าวสู่จุดหมายตามเป้าที่ตั้งไว้ ได้แก่ ความหลากหลายทางการลงทุน (dynamic portfolio) การมีเครือข่ายที่กว้างขวาง (intensive network) การผนึกโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (synergistic infrastructure) การสร้างมูลค่าสูงสุด (optimal value) และ การลงทุนแบบเชิงรุก (active investment approach)

“ตอนที่เราต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่มาเป็นโฮลดิ้ง เรามองว่าแนวคิด The New Edge of Investment ค่อนข้างเหมาะกับเรา เพราะสามารถสะท้อนถึงการลงทุนของเราจริง ไม่ว่าจะเป็นการเน้นการลงทุนในเซคเตอร์ใหม่ ประเทศใหม่หรือธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มี Competitive Advantage และต้องเป็น New Edge หรือ Cutting Edge จริงๆ จากวิธีการทำงานใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ”

ทอมมี่เล่าถึงคอนเซปต์การบริหารแบบ CGH ว่า เป็นการมองในลักษณะ international brands ที่มองการลงทุนค่อนข้างเสรีและเปิดกว้าง สามารถลงทุนทุกประเทศ ทุกอุตสาหกรรมซึ่งนโยบายบริษัทจะลงทุนบริษัทย่อยให้มากที่สุดประมาณร้อยละ 80โดยที่ผ่านมามีการเข้าไปลงทุนบริษัทดีๆ น่าเชื่อถือและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

นอกจากนี้เขายังวางโจทย์ท้าทายด้วยการตั้งเป้าผลักดัน CGH ก้าวเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่มีความแข็งแกร่งในด้านการเติบโตผลประกอบการ และเข้าคำนวนในดัชนี SET50 ให้ได้ในปี 2563

ยอมรับว่าการตั้งเป้าหมาย SET50 เป็นสิ่งที่ aggressive มาก แต่เรามองว่าธุรกิจของเราทั้งหมดสามารถมีทั้งส่วนของกำไร และหากผลประกอบการเขาดีมากและเติบโต มูลค่าเขาจะเพิ่มอย่างรวดเร็ว โดยบริษัทที่เราเลือกลงทุนต้องเป็นบริษัทที่มีจุดเด่นด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านโพรดักส์ เทคโนโลยี หรือโพรเซส โดยเรานำบริษัทฯ เหล่านี้มาปรับหรือเสริมเขานิดหนึ่ง เขาก็สามารถเติบโตได้ หรือแม้เขาขาดแค่สภาพคล่อง พอเราเสริมด้านเงินทุนเขาก็สามารถก้าวกระโดดได้”

เขายกตัวอย่าง “ผาแดงอินดัสทรี” เป็นหนึ่งในกรณีที่ CGH เข้าไปช่วยกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ต่างๆ ที่สร้างให้เกิดการเติบโตมากขึ้น ซึ่งในไตรมาส3 ของปีที่ผ่านมาบริษัทผาแดงฯ มีผลประกอบการสูงถึง 352 ล้านบาท มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่มีผลประกอบการเพียง 150 ล้านบาท

“คนอื่นอาจมองว่าหลังจากหมดสัมปทานการทำเหมืองสังกะสี ผาแดงจะทำอย่างไรต่อ แต่เราเข้าไปศึกษาพบว่าด้วยโนว์ฮาวที่เขายังมีหากเราสามารถอิมพลีเมนท์บางอย่างจะช่วยต่อยอดธุรกิจเขาได้ จึงมีการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ Plasma Recycling Technology ซึ่งเป็นการนำของเสียหรือของเหลือใช้จำพวกโลหะจากอุตสาหกรรมการผลิตมาเข้ากระบวนการหลอมละลาย และนำกลับไปใช้ใหม่ในอุตสาหกรรมการผลิตได้ ซึ่งโครงการนี้จะเริ่มดำเนินงานในปีนี้และที่นี่จะเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเซียที่ใช้กระบวนการนี้”

สำหรับแผนปีนี้ของ CGH ภายในสองไตรมาสแรก ทอมมี่เอ่ยว่าอาจมีการลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทใหม่ ในเซ็คเตอร์ของ hospitality รวมถึงการลงทุนขนาดใหญ่หลายพันล้านที่เขายังขอใช้เวลาในการศึกษาต่อ

ถามถึงแนวความคิดด้านการบริหารในฐานะผู้บริหารรุ่นใหม่ ทอมมี่บอกเล่าสไตล์ของตัวเองว่า เขานำเรื่องของ “Macro&Micro” มาใช้พัฒนาทั้งระดับกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาศักยภาพของทีมงานควบคู่กัน โดย Macro เป็นกลยุทธ์องค์กรและการปฏิบัติงานของทีมงาน ที่จะช่วยให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีศักยภาพ ที่สอดรับกับโลกธุรกิจการเงินยุคใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่วน Micro คือการพัฒนาศักยภาพของทีมงานควบคู่ โดยการผลักดันและให้โอกาสคนที่มีความสามารถและน่าเชื่อถือเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานไปพร้อมๆกับการเพิ่มขีดความสามารถและทักษะในการทำงาน

ก้าวแรกสู่โลกการเงินและการลงทุน

หากลองย้อนกลับไปดูก้าวแรกสู่โลกการลงทุนของผู้บริหารหนุ่มไฟแรงคนนี้ จะพบว่าแม้จะอยู่ในวัยเพียงสามสิบต้นๆ แต่ทายาทรุ่นสองของตระกูลเตชะอุบลสั่งสมประสบการณ์ด้านการบริหารมาไม่น้อย

โดยหลังสำเร็จการศึกษาพาณิชยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) และ นิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย และได้รับปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทอมมี่เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ฝ่ายอสังหาริมทรัพย์ของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC ตั้งแต่ 2553 ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสายพัฒนาธุรกิจในปี 2555 โดยดูแลฝ่ายกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน และ Private Equity

ตลอดเวลาที่ทำงานอยู่ MFC ทอมมี่ รับผิดชอบการก่อตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์รวมทั้งหมด 6 กองทุน ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 11,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีกองทุนอื่นๆ ในความดูแลทั้งหมด 26 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์ที่อยู่ในความดูแลรวมทั้งสิ้น 32,000 ล้านบาท โดยมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในด้านกองทุนอสังหาริมทรัพย์และพลังงาน นอกจากนี้ยังเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหาร ด้านกลยุทธ์การแข่งขันของ MFC อีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้นเขายังเป็นกรรมการของบริษัทในเครือ ดังนี้ บริษัท หลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2555 และบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ในปี 2558 รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในฐานะที่ปรึกษาของคณะกรรมการบริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา