ถอดบทเรียน กองทุนสวัสดิการชุมชนวังใหม่

ถอดบทเรียน กองทุนสวัสดิการชุมชนวังใหม่

 

ถอดบทเรียน กองทุนสวัสดิการชุมชนวังใหม่ 

ต้นแบบ "บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ"

แบบบูรณาการ สร้างการมีส่วนร่วม คืนความสมบูรณ์สู่ชุมชน

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมด้วยวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม คณะอนุกรรมการส่งเสริมองค์กรสวัสดิการชุมชนในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมูลนิธิมั่นพัฒนา จัดงานมอบรางวัล “ธรรมาภิบาลดีเด่น แห่งปี 2560” ให้กับกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีผลงานโดดเด่น และมีผลงานที่สำคัญ จำนวน  8 ประเภท อาทิ ด้านการสร้างครอบครัวอบอุ่น การดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิต และคุณค่าในสังคม ด้านการพัฒนาการประกอบอาชีพ พัฒนาระบบเศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชน และการแก้ปัญหาหนี้สิน ด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน การจัดการขยะการจัดการและฟื้นฟูภัยพิบัติ

วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้คือมุ่งสร้างการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความมั่นคงของสมาชิกในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันที่มั่นคง และสวัสดิการที่ครอบคลุม ที่ดำเนินการตามแนวคิด “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังใหม่ อำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว คือหนึ่งในกองทุนต้นแบบประเภทด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ พลังงาน การจัดการขยะการจัดการและฟื้นฟูภัยพิบัติที่มีการบริหารจัดการกองทุนที่โดดเด่นและน่าสนใจ เป็นกองทุนที่ยึดหลักการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการโดยชุมชนมีส่วนร่วม จนสามารถคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่ และสร้างความมั่นคงในชีวิตอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนได้สำเร็จ

นางศศิธร ธำรงรัตนศิลป์ ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังใหม่ กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยร้อยละ 80 ปลูกพืชไร่ล้มลุก เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ลำไย เป็นต้น พื้นที่ส่วนใหญ่ในการทำเกษตรเกิดจากการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า นอกจากนี้ชาวบ้านยังคงใช้สารเคมีในการเพาะปลูกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้พื้นดินเสื่อมโทรม ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ขาดแหล่งน้ำในการทำเกษตรจนเป็นปัญหาภัยแล้ง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความคิดในการตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังใหม่ขึ้น เพื่อมุ่งหวังที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวให้หมดไป

จัดการปัญหาน้ำ  สร้างพลังงานในชุมชน

นางศศิธร กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งเป็นเรื่องสำคัญที่ชาวบ้านตำบลวังใหม่หันมาให้ความสนใจและร่วมกันแก้ไข เนื่องจากในอดีตมีการเกิดภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก ทางกลุ่มฯ จึงมีแนวทางการจัดการฟื้นฟูภัยแล้ง โดยการส่งเสริมและรณรงค์ให้ปลูกป่าไม้ตามหัวไร่ปลายนา และที่สาธารณะของชุมชนเพื่อลดปัญหาฝนไม่ตกตามฤดูกาล  ตลอดจนการฟื้นฟูป่าริมคลองพระสะทึงเพื่อชะลอการพังทลายของริมฝั่งคลอง โดยให้ชาวบ้านในชุมชนปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการพังทลายของดินในหน้าน้ำหลาก รวมถึงสนับสนุนกล้าไม้ปลูกบริเวณริมคลอง เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ผลที่เกิดขึ้น คือ หน้าดินไม่ถูกซัดและตลิ่งไม่พังเมื่อเกิดน้ำหลาก

ไม่เพียงเท่านั้น ทางกลุ่มฯ ยังสนับสนุนให้ชุมชนตำบลวังใหม่ อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนเขาวังน้ำฝน บริเวณพื้นที่จำนวน 520 ไร่ โดยให้พันธุ์ไม้และปุ๋ยเพื่อปลูกต้นไม้ทดแทนประมาณ 12,000 ต้น และร่วมมือกับวัดและชุมชน ดูแลรดน้ำ เฝ้าระวังจนป่าไม้ขึ้นได้เองตามธรรมชาติ

“เราได้แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซล่าเซลล์ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม โดยอบรมเชิงปฏิบัติการและสนับสนุนเงินทุนให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุน ได้ทำแผงระบบพลังงานจากโซล่าเซลล์ เพื่อใช้ในการเพาะปลูกทำเกษตร โดยปัจจุบันมีระบบสูบน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่นำมาใช้ในการเกษตร ตลอดจนอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ที่สามารถช่วยประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าและเชื้อเพลิงได้อีกด้วย”

“ปลูกป่าเศรษฐกิจ” สร้างรายได้ ฟื้นวงจรชีวิตที่สมดุล

นอกจากปัญหาภัยแล้งที่ได้รับการแก้ไขไปแล้วนั้น อีกปัญหาสำคัญของชุมชนก็คือการทำเกษตรกรรรมที่ยังใช้สารเคมีในการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันมาก ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นหนี้สินนายทุน ที่ดินถูกยึด ต้องเช่าที่ดินของตัวเองทำกิน  เมื่อตั้งกองทุนฯในปี 2552 จึงพยายามให้ความรู้แก่คนในชุมชนได้เรียนรู้ถึงผลเสียจากการใช้สารเคมีเพาะปลูก และสอนให้รู้จักการทำเกษตรแบบอินทรีย์แทนการใช้สารเคมี โดยร่วมกันกำหนดแนวทางดูแลและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการมีส่วนร่วม  เช่น ส่งเสริมให้ความรู้อบรมการทำปุ๋ยชีวภาพ สารไล่แมลงและการปลูกพืชผักแบบเกษตรอินทรีย์แก่เกษตรกร 200 ครอบครัว 200 คน จาก 14 หมู่บ้าน ซึ่งผลที่ได้ช่วยให้ต้นทุนทำเกษตรลดลงและคนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น 

รวมถึงยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรทำนาข้าวอินทรีย์ และปลูกพืชผักอินทรีย์ไว้กินเองและขาย แทนการ    ปลูกพืชเชิงเดี่ยวให้แก่สมาชิกและชาวบ้านกว่า 180 ครอบครัว บนเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่  ซึ่งได้ช่วยให้สมาชิกเกษตรกรมีหนี้สินลดลง  สุขภาพและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น  ตลอดจนมีรายได้จากการขายข้าวอินทรีย์  โดยทาง       กองทุนฯ จัดทำตลาดชุมชนตำบลวังใหม่ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย

สิ่งสำคัญเพื่อแก้ปัญหาและลดพื้นที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวของชุมชนอย่างยั่งยืน คือรณรงค์ให้ชุมชนหันมาปลูกป่าเศรษฐกิจชุมชน ทดแทนพืชไร่อย่างมันสำปะหลัง ซึ่งมีราคาตกต่ำอย่างมากและเป็นเหตุให้ที่ดินเสื่อมโทรม โดยเน้นส่งเสริมปลูกไผ่กิมซุง พืชเศรษฐกิจที่นอกจากช่วยฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาสมบูรณ์ และให้ความร่มเย็นมากกว่าป่าทั่วไป 35 เท่าแล้ว ยังสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนอย่างมั่นคงอีกด้วย

“แต่เดิมตำบลวังใหม่มีพื้นที่ปลูกอ้อย และมันสำปะหลังกว่า 2 หมื่นไร่  เราได้ไปดูงานวิจัยและทดลองปลูกไผ่กิมซุง บนเนื้อที่ 25 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ชุมชน มีเกษตรกรและผู้สนใจเข้าเรียนรู้มากกว่า 1,000 คนต่อปี เพื่อให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรแบบผสมผสานแบบป่ากินและขาย อย่างเช่น ไผ่กิมซุง เนื่องจากไผ่กิมซุงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ตั้งแต่ขายหน่อเพื่อทำอาหาร ทำเฟอร์นิเจอร์จากต้นไผ่ แปรรูปเป็นชา หรือสร้างมูลค่าเพิ่มอื่นๆ เช่น หน่อไม้ดองอัดกระป๋อง ตากแห้ง  ซึ่งปัจจุบันเป็นพืชเศรษฐกิจที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน กัมพูชาต้องการเป็นอย่างมาก”      

นอกจากแนวทางการปลูกป่าชุมชน การแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อฟื้นฟูป่าธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนมาแล้วนั้น นางศศิธร ยังกล่าวอีกว่า กองทุนฯ ยังให้ความสำคัญกับการจัดการขยะในชุมชน ด้วยการแยกคัดขยะแบบเปียก แบบแห้ง และแบบย่อยสลายได้ เช่น การนำพืชผักผลไม้ต่าง ๆ กลับมาทำปุ๋ยพืชสดหรือปุ๋ยชีวภาพ การคัดแยกขยะแห้ง หรือ ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก กระดาษ โลหะ แก้ว ฯลฯ แล้วนำไปขาย หรือนำเอามาแปรรูป เช่น ตะกร้าสานจากถุงกาแฟ ทำให้จะได้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สามารนำไปขายสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในชุมชนได้  ส่วนขยะที่มีอันตรายจะใส่ถุงสีดำแยกต่างหาก และนำไปกำจัดตามวิธีที่ถูกต้อง  เพื่อไม่ให้เป็นมลพิษต่อชุมชน  ทั้งนี้ ในอนาคตกองทุนฯ จะจัดตั้ง “ธนาคารขยะ” ขึ้น เพื่อทำเป็นศูนย์เรียนรู้ ฝึกฝนให้เด็กและเยาวชนรู้ถึงคุณค่าของขยะ อีกด้วย

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในอนาคต  ประธานกองทุนฯ กล่าวว่า กองทุนฯ ยังคงมุ่งเน้นให้ประชาชนได้เข้าถึงสวัสดิการชุมชนสู่สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน เพื่อเป็นสังคมที่เข้มแข็งจากฐานราก ตลอดจนพัฒนาพื้นที่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม คลองธรรมชาติที่ชุมชนมีส่วนร่วมดูแลรักษา และสนับสนุนครัวเรือนต้นแบบที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และพึ่งตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

“ผลที่เกิดขึ้นจากแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาตินี้เอง จะทำให้เกิดความยั่งยืนแก่ชุมชนอย่างแน่นอน เพราะได้สร้างให้เกิดป่าเศรษฐกิจชุมชนที่คนในชุมชนร่วมกันดูแลและรักษา ประชาชนมีรายได้จากอาชีพที่พึ่งพาตัวเองได้ ไม่มีการย้ายถิ่นฐาน  รวมถึงการลด- ละ-เลิกสารเคมี ที่ทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพร่างกายที่ดี เกิดห่วงโซ่อาหารและวงจรชีวิตธรรมชาติที่สมดุลกลับคืนมา” นางศศิธร กล่าว

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลวังใหม่ อำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว จึงถือเป็น “ชุมชนต้นแบบ” ของการบริหารจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง และสามารถนำมาเป็นแบบอย่างให้แก่องค์กรสวัสดิการชุมชนอื่นต่อไป