PIM ผนึก บ.หุ่นยนต์ยักษ์ใหญ่ทั่วโลก เปิดหลักสูตรวิศวหุ่นยนต์

PIM ผนึก บ.หุ่นยนต์ยักษ์ใหญ่ทั่วโลก เปิดหลักสูตรวิศวหุ่นยนต์

 

พีไอเอ็ม ผนึก บ.หุ่นยนต์ยักษ์ใหญ่ทั่วโลก เปิดหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์ฯ เร่งป้อนบุคลากรรับไทยแลนด์ 4.0 พร้อมชี้ดีมานด์หุ่นยนต์ปี 61 สูงกว่า 2 ล้านตัว ทั่วโลก

พีไอเอ็ม เผยภาคการศึกษาไทยต้องสร้างองค์ความรู้เพื่อสร้างหุ่นยนต์ที่ใช้ได้จริง รุกจัดแสดงโชว์หุ่นยนต์นวัตกรรมแห่งสังคมยุคใหม่ พร้อมโชว์ไฮไลท์ หุ่นยนต์ผู้ช่วยประจำบ้าน หุ่นยนต์เจียวไข่ ฯลฯ 

กรุงเทพฯ 16 มีนาคม 2560 –สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ พีไอเอ็ม เปิดตัวหลักสูตรปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ  รับไทยแลนด์ 4.0 และหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) โดยนวัตกรรมหุ่นยนต์ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีความเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่าปีละ 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ หรือมากถึง 2,327,000 ตัวทั่วโลก และ 41,600 ตัวในประเทศไทยในอีก 2 ปีข้างหน้า ฉะนั้นแล้วภาคการศึกษาต้องเน้นสร้างองค์ความรู้เพื่อสามารถสร้างหุ่นยนต์ที่ใช้งานได้จริง ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าวมุ่งผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ผ่านกระบวนการศึกษาที่เน้นให้สัมผัสประสบการณ์การทำงานจริง (Work-based Education) ควบคู่ไปกับการได้รู้จักและมีเครือข่าย (Networking) กับบริษัทผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติชั้นนำทั่วโลก พร้อมกันนี้ พีไอเอ็มได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “บุคลากรหุ่นยนต์ คนแห่งอนาคต” และได้ทำการจัดแสดงหุ่นยนต์อัจฉริยะกว่า 10 ตัว อาทิ เลี่ยงเลี่ยง หุ่นยนต์ บริกรสุดไฮเทคจากประเทศจีน , iJINI หุ่นยนต์ผู้ช่วยประจำบ้านอัจฉริยะที่สามารถเชื่อมต่อกันอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดในบ้าน, NAO หุ่นยนต์จำลองมนุษย์ ที่สามารถจำคำพูด จำภาพ และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้, YuMi หุ่นยนต์แขนกลอัจฉริยะผู้ช่วยใหม่ในโรงงานอุตสาหกรรม และหุ่นยนต์ทอดไข่เจียวอัตโนมัติ

กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ หอประชุม Auditorium ชั้น 16 อาคาร CP All Academy สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ พีไอเอ็ม (สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์) ถนนแจ้งวัฒนะ โทรศัพท์ 02-832-0200 เว็บไซต์ www.pim.ac.th และ www.facebook.com/pimfanpage

อ.พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ(พีไอเอ็ม) กล่าวว่า พีไอเอ็ม เป็นมหาวิทยาลัยแห่งองค์กรธุรกิจ (Corporate University) แห่งแรกของประเทศไทย ได้ศึกษาวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่กำลังเป็นที่สนใจเป็นอย่างมากในระดับนานาชาติ และในปีการศึกษา 2560 นี้ พีไอเอ็ม พร้อมเปิดหลักสูตรปริญญาตรี “วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” หลักสูตรปริญญาตรีด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง มุ่งผลิตบัณฑิตที่สามารถเป็นบุคลากรระดับแนวหน้า สามารถปฏิบัติงานแบบเท่าทันเทรนด์ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีหุ่นยนต์ แขนกล และระบบอัตโนมัติเป็นองค์ประกอบ ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ ทั้งภาควิจัยพัฒนาและภาคการผลิต โดยผู้เรียนจะได้มีโอกาสสัมผัสกับนวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ทันสมัยที่สุดระดับนานาชาติ พร้อมกับได้คลุกคลีกับเนื้อหา การปฏิบัติงาน และเครือข่ายบริษัทผู้ผลิตชั้นนำของโลกตลอดระยะเวลา 4 ปีของหลักสูตร รวมไปถึงมีโอกาสได้ฝึกนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้จริงกับบริบทของประเทศไทยภายใต้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมดังกล่าว  

อ.พรวิทย์ กล่าวต่อว่า นวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ แขนกล ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติ เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงปีที่ผ่านมาเทรนด์ดังกล่าวเติบโตอย่างทวีคูณ โดยจากตัวเลขจำนวนหุ่นยนต์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่าปีละ 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ และจากการคาดการณ์          ในปี 2561 จะมีการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมมากถึง 2,327,000 ตัวทั่วโลก และ 41,600 ตัวในประเทศไทย (ที่มา: IFR - International Federal of Robotics) ซึ่งเมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของทางรัฐบาลที่เน้นย้ำการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาประเทศ และการที่ “หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม” เป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve)      ที่เร่งพัฒนาเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยแบบก้าวกระโดด ทำให้สามารถสรุปได้ว่าโลกมีความต้องการทางด้านหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมสูง และเชื่อว่าในอนาคตอุตสาหกรรมดังกล่าวจะใหญ่กว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งในประเทศไทยก็ได้มีการตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเห็นได้จากการจัดตั้งคลัสเตอร์หุ่นยนต์ในปีที่ผ่านมา เพื่อเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ต่อยอดจากฐานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว

อ.พรวิทย์ กล่าวเสริมว่า ในขณะเดียวกันสำหรับมุมมองความต้องการของภาคเอกชน พบว่าปัจจุบันยังมีความต้องการบุคลากรด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจำนวนมาก ซึ่งหากประกอบกับการพิจารณามาตรการพัฒนาคลัสเตอร์หุ่นยนต์ที่ในระยะสั้น (5 ปี) และระยะยาว (10 ปี) ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ใช้นวัตกรรม (User) และผู้ที่สามารถออกแบบและวางระบบ (System Integrator) ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวเลขการพัฒนาบัณฑิตระดับปริญญาตรีด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 300 คน/ปี นั้นไม่เพียงพอกับความต้องการของภาคเอกชนที่ต่างเร่งศึกษาและหาแนวทางในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้าสู่ธุรกิจ โดยภาคเอกชนต่างๆเหล่านั้นต้องการบุคลากรที่พร้อมใช้งาน มีทักษะด้านการแก้ปัญหาความคิดเชิงวิเคราะห์ มีประสบการณ์ด้านการออกแบบ-สร้าง-ทดสอบ และสามารถสื่อสารได้หลากหลายภาษา ฉะนั้นแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่จะต้องเร่งสร้างองค์ความรู้เพื่อสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถใช้งานได้จริง สามารถประยุกต์ใช้เข้าในภาคธุรกิจ        ทั้งในด้านการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค และด้านการเสริมประสิทธิภาพการผลิตอุตสาหกรรม

 “หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนที่คนหรือไม่” หรือ “บางอาชีพจะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์” โดยจากการวิเคราะห์และคาดการณ์ตามความน่าจะเป็นในประเด็นดังกล่าวแล้วนั้น บางอาชีพมีความเสี่ยงที่จะถูกทดแทนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) จริง โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เช่น นักวิเคราะห์หุ้น นักวิเคราะห์ความเสี่ยงต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีสมองกลได้พัฒนาเรื่อง Deep Learning หรือเทคโนโลยีการเรียนรู้เหมือนมนุษย์อย่างรวดเร็ว อันเห็นได้จากตัวอย่างอันโด่งดังในปี 2016 ที่ผ่านมา ที่ปัญญาประดิษฐ์ AlphaGo ของกูเกิลสามารถเอาชนะแชมป์หมากล้อมระดับโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ไม่สามารถทำได้มาก่อนมาโดยตลอด อ.พรวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) กล่าวว่า การพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อเข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้น ไม่ใช่เป็นการพัฒนาขึ้นมาเพื่อแทนที่บุคลากรคน แต่พัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ เสริมประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์         ลดภาระหน้าที่บางส่วนที่ทำให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ อาทิ การสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการหรือการนำเสนอโปรโมชันใหม่  อีกทั้งหุ่นยนต์ยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานภายใต้ความเสี่ยงหรืออันตรายต่างๆ อาทิ การปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีอันตรายที่อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ในขณะเดียวกัน นวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะเป็นตัวผลักดันให้บุคลากรในตลาดแรงงานต้องพัฒนาทักษะมากขึ้นให้สามารถทำงานร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างมีศักยภาพสูงสุด

ดร.ธันยวัต กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อผลิตบุคลากรป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานให้ตรงกับความต้องการในช่วง 4 – 5 ปีข้างหน้านั้น ขณะนี้ทางพีไอเอ็มกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการสร้างศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มาพร้อมห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง 4 ส่วน ด้วยเงินลงทุนกว่า 50 ล้านบาท เพื่อให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ด้วยห้องปฏิบัติการอย่างครบวงจร ในศูนย์ฯดังกล่าวจะประกอบด้วย ส่วนที่ 1 ห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์ ส่วนที่ 2 ห้องปฏิบัติการระบบอัตโนมัติ  ส่วนที่ 3  ห้องปฏิบัติการควบคุมการสั่งงาน  (Computer Numerical Control : CNC) และซอฟต์แวร์ระบบหุ่นยนต์  ส่วนที่ 4 ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมทางวิศวกรรม ภายในแต่ละห้องจะมีอุปกรณ์จริงที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนหุ่นยนต์ และนวัตกรรมต่างๆ จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนระดับนานาชาติรวมกว่า 10 หน่วยงาน อาทิ เซียซัน (SIASUN) บริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์      ชั้นแนวหน้าของประเทศจีน, เอบีบี (ABB) บริษัทวิศวกรรมหุ่นยนต์ ระบบไฟฟ้าและเทคโนโลยี ที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่มีฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, คูก้า (KUKA) บริษัทผู้บุกเบิกด้านหุ่นยนต์และเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติชั้นนำของโลกมีฐานการผลิตยักษ์ใหญ่ในประเทศเยอรมัน, บริษัท ซีทีไอ โลจิสติกส์ จำกัด ผู้ให้บริการครบวงจรด้านโลจิสติกส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  และ  บริษัท เอส.เอ็ม.ซี. (ประเทศไทย) จำกัด เป็นหนึ่งในผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีอัตโนมัติ ผู้นำตลาดนิวแมติกส์  เพื่อให้นักศึกษาสามารถสัมผัสประสบการณ์การทำงานจริงในขณะเรียนรู้ตามแนวคิด “เรียนรู้จากประสบการณ์จริง” (Work-based Education) ควบคู่ไปกับการได้รู้จักและมีเครือข่าย (Networking) กับบริษัทผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติชั้นนำทั่วโลก  และ  จุดเด่นสำคัญอีกประการ คือการสร้างกรณีศึกษา ผ่านโมเดลจำลองทางธุรกิจด้านหุ่นยนต์ เพื่อให้นักศึกษาสามารถต่อยอดการเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมได้อีกด้วย

ทั้งนี้ พีไอเอ็ม (สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์) ได้จัดงานเปิดตัวหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ   และสังคม ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมกับได้จัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “บุคลากรหุ่นยนต์ คนแห่งอนาคต” โดย ดร.ขัติยา    ไกรกาญจน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.มหิศร ว่องผาติ ผู้ก่อตั้งบริษัทพัฒนาระบบหุ่นยนต์ไทย HiveGround และ ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ นอกจากนี้ยังได้มีการจัดแสดงหุ่นยนต์อัจฉริยะกว่า 10 ตัว อาทิ เลี่ยงเลี่ยง หุ่นยนต์บริกรสุดไฮเทคจากประเทศจีน, iJINI หุ่นยนต์พ่อบ้านอัจฉริยะ  ผู้ช่วยประจำบ้านที่สามารถเชื่อมต่อกันอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดในบ้าน นำเข้าจากประเทศเกาหลี, NAO หุ่นยนต์จำลองมนุษย์ ที่สามารถจำคำพูด จำภาพ และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้, YuMi หุ่นยนต์แขนกลอัจฉริยะผู้ช่วยใหม่ในโรงงานอุตสาหกรรม, หุ่นยนต์ทอดไข่เจียวอัตโนมัติ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ หอประชุม Auditorium ชั้น 16 อาคาร CP All Academy สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ พีไอเอ็ม (สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์) ถนนแจ้งวัฒนะ โทรศัพท์ 02-832-0200 เว็บไซต์ www.pim.ac.th และ www.facebook.com/pimfanpage