จับตาแนวโน้มทั่วโลกที่ส่งผลต่อการลงทุนของไทย

จับตาแนวโน้มทั่วโลกที่ส่งผลต่อการลงทุนของไทย

งานสัมมนาใหญ่ประจำปี โดย บริการเดอะวิสดอม ธนาคารกสิกรไทย

ในหัวข้อ THE WISDOM Wealth Avenue  จับจังหวะโลก เจาะจังหวะการลงทุน มีประเด็นที่น่าจับตาระดับโลกที่จะส่งผลต่อโครงสร้างของประเทศไทย พร้อมแนะแนวทางการปรับตัวเพื่อให้เท่าทันกับกระแสโลก เป็นทิศทางที่ภาคธุรกิจและการลงทุน ต้องติดตามเพื่อประเมินกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆที่จะเข้ามากระทบในช่วงระหว่างปีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

สภาวะ 3 ต่ำ 2 สูง จากมุมมองผู้ว่า ธปท.

เริ่มด้วยการบรรยายพิเศษเรื่อง ทิศทางเศรษฐกิจปี 60 บนความท้าทาย โดย ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้คำนิยามสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาว่าเป็น สภาวะ 3 ต่ำ 2 สูงได้แก่

  1. อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำแม้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักอย่างสหรัฐอเมริกา และยุโรปบางประเทศจะเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายประเทศได้รับประโยชน์ไปด้วย แต่ผลจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้าและมีความเปราะบางสูง โดยในช่วง3-4 ปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างประเทศอ่อนแรงลงมากส่งผลกระทบกับตลาดของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และมีลักษณะเศรษฐกิจแบบเปิดอย่างประเทศไทย
  2. สภาวะอัตราเงินเฟ้อต่ำเป็นผลมาจากฐานราคาน้ำมันที่สูงในอดีต และในปีนี้อาจปรับตัวสูงขึ้น เพราะราคาน้ำมันเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ จากการตรึงกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC เพื่อรักษาราคาน้ำมันในตลาดโลกและอีกหนึ่งปัจจัยคือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดี โดนัลทรัมป์ ทำให้มีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในอเมริกาและประเทศอื่นๆปรับสูงขึ้น
  3. อัตราดอกเบี้ยต่ำ มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำมานานเป็นประวัติการณ์เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในระดับต่ำทำให้การลงทุนของภาคเอกชนทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาทั่วโลกมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำจึงทำให้ธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักใช้นโยบายผ่อนปรนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้ในปัจจุบันจะมีการทยอยปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยบ้างแล้ว โดยเฉพาะธนาคารกลางของสหรัฐฯ รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวของอเมริกาและทั่วโลกค่อยๆปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่ สภาวะ 2 สูง คือ ตลาดเงินตลาดทุนมีความผันผวนสูง ตลาดการเงินโลกยังมีสภาพคล่องส่วนเกินในระดับที่สูง ในขณะที่นโยบายเศรษฐกิจการเงินจะมีความไม่แน่นอนมากขึ้น จากตัวแปรที่สำคัญ คือ การเมือง การปกครอง ที่มีความเชื่อมโยงและส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก ส่งผลกระทบให้ตลาดเงินและตลาดทุนอ่อนไหวง่าย นักลงทุนไม่กล้าลงทุน และความเหลื่อมล้ำสูง คือ มีผู้ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกระจุกตัวกัน ผลสำรวจจาก Oxfam แสดงให้เห็นว่าคนที่รวยที่สุดในโลก 8 คน มีทรัพย์สินเท่ากับคน 3,600 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งโลก เป็นความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่คนรวยที่สุดในโลก 62 คน มีทรัพย์สินเท่ากับจำนวนคนครึ่งโลก สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการกระจุกตัวเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขและรุนแรงขึ้น

พร้อมกันนี้ ผู้ว่า ธปท. ยังได้กล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่

ความเกี่ยวเนื่องกันของปัจจัยเศรษฐกิจและการเมืองสาเหตุหลักมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้รับการแก้ไข จึงเกิดกระแสการต่อต้านสถาบันเศรษฐกิจและการเมืองกระแสหลัก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างพลิกความคาดหมายในหลายประเทศ อย่างเช่น ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผลโหวต Brexitของอังกฤษ

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดพลังของเทคโนโลยีจะก่อให้เกิดเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ และธุรกิจ e commerce จะเติบโตอย่างรวดเร็ว ข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลทั้งหลายจะเป็นประโยชน์มหาศาลในการทำงานหลายด้าน สามารถสร้างอาชีพและแนวทางใหม่ๆ เป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต แต่ในทางกลับกันจะส่งผลให้การจ้างงานในอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมลดลง ทำให้เกิดปัญหาความไม่ทั่วถึงของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประชากรหลายประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้ผู้คนมีอายุที่ยืนยาวขึ้น จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงมาก  ส่งผลต่อโครงสร้างตลาดแรงงาน มีจำนวนคนวัยทำงานลดลงรวมถึงภาระด้านการคลังของประเทศจะเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคม

การขยายตัวของชนชั้นกลาง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย เวียดนาม ซึ่งชนชั้นกลางจะมีอำนาจในการซื้อและการบริโภคสูง และมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคของอุตสาหกรรมและบริการมากขึ้น

 

จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างใน 3 มิติสำคัญ ได้แก่  1.ผลิตภาพควรเร่งยกระดับคุณภาพ ประสิทธิภาพ และศักยภาพให้สูงขึ้น ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ บุคคล ธุรกิจ สังคม และประเทศ ปลูกฝังเรื่องการเรียนรู้ และเปิดรับกับสิ่งใหม่ๆ ถือว่าเป็นทักษะและพื้นฐานสำคัญ ภาคธุรกิจจะมีบทบาทสำคัญต่อการลงทุน และการพัฒนาผลิตภาพด้านต่างๆ หากภาคธุรกิจไม่มีความเข้มแข็งการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นไม่ได้2.การสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นในหลายระดับเริ่มตั้งแต่ตัวบุคคล ที่ควรมีความรู้ความเข้าใจทางการเงิน ซึ่งถือเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญของทุกคน รู้จักวางแผนการเงินให้เพียงพอสำหรับอนาคต เข้าใจความเสี่ยงที่จะมากับการลงทุน ในขณะที่การสร้างภูมิคุ้มกันในระดับภาคธุรกิจ คือ ความสามารถจัดการความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดขึ้นนอย่างเหมาะสม และติดตามข่าวสารของตลาดเงิน ตลาดทุนอย่างเท่าทันและ 3.การปรับตัวอย่างมีพลวัต คือการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับบุคลและธุรกิจ โดยสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในอนาคต รวมถึงเข้าใจวิธีการลงทุนเพื่อสร้างศักยภาพในอนาคต เน้นการสร้างนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการเสวนา ช่วงที่ 2  "คว้าโอกาสการลงทุนอย่างเหนือชั้น"เป็นการเจาะลึกวิเคราะห์สถานการณ์สำคัญของโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย พร้อมแนะนำการลงทุนที่น่าสนใจ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านกองทุน หุ้น และ Asset Allocation

นาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการและประธานบริหารการลงทุนต่างประเทศ บจก.หลักทรัพย์จัดการ กองทุนกสิกรไทย เอ่ยถึง ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2560 ยังขยายตัวต่อเนื่องในระดับ 3.4% แต่ถือว่าอัตราการขยายตัวยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตซับไพร์ม ขณะที่ระดับผลผลิตศักยภาพ (potential growth)ถูกจำกัดด้วยปัจจัยทางโครงสร้าง เช่น การเพิ่มขึ้นของกลุ่มประชากรผู้สูงอายุความสามารถในการผลิตและการค้าระหว่างประเทศการลงทุนภาคเอกชน อยู่ในระดับต่ำ

ในช่วงระยะสั้นเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกจากการเร่งตัวขึ้นของทั้งภาคส่วนการผลิต และภาคบริการ ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากความกังวลต่อการบริโภคและการลงทุน ในช่วง Brexitเริ่มผ่อนคลายลง อีกทั้งกลุ่มประเทศที่พึ่งพิงสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ด้าน IMF คาดการณ์ระดับการค้าโลกจะเติบโตดีขึ้น ระดับอัตราการเติบโต 3-4% ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสปรับตัวขึ้นในปีนี้ จากความสมดุลในอุปสงค์และอุปทานในราคาน้ำมันดิบเป็นหลัก

โดยสรุปแล้วแนวโน้มการเติบโตดีขึ้นทั้งเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศเกิดใหม่ แต่เศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพ การฟื้นตัวยังมีข้อจำกัดจากกำลังการผลิตส่วนเกิน และอัตราการว่างงาน ที่ยังสูงกว่าในอดีตเศรษฐกิจเอเชีย มีเสถียรภาพมากขึ้นจากมาตรการกระตุ้น2560 จากอุปสงค์ภายในที่เติบโต และระดับราคาหุ้นน่าสนใจกว่าภูมิภาคอื่นในเชิงเปรียบเทียบมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีโมดี้ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการควบคุมเงินเฟ้อ และการปฏิรูปธุรกิจธนาคาร ซึ่งจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศและสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน

ด้านปัจจัยเสี่ยงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีอุปสงค์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ ส่งผลลบต่อการส่งออกของภูมิภาคความแตกต่างของทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารแกนหลักอย่างสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีนที่สร้างความผันผวนต่อเม็ดเงินลงทุนและอัตราแลกเปลี่ยน และผลกระทบจาก Brexitกดดันบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ตลอดจนความไม่แน่นอนทางการเมือง และความคืบหน้าในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงควรเน้นการลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในธุรกิจพื้นฐานทั่วโลก เพราะมีศักยภาพการเติบโตสูง ผลธุรกิจมีรายได้มั่นคง และให้ผลตอบแทนต่อเนือง

ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านหุ้น  กวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย กล่าวถึง ราคาน้ำมันกำลังเข้าสู่เฟส 2 วิ่งเข้าสู่ต้นทุนที่แท้จริง โดยมีโอกาสเห็นราคาน้ำมันถึง 70 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล และเกิดภาวะราคาหุ้นกลุ่มพลังงานวิ่งตามเงินเฟ้อ และความเสี่ยงเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ ผลจากนโยบายของทรัมป์

ด้านวัฎจักรการลงทุนและการบริโภคในไทยกำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวสินเชื่อ ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น เติบโตเป็น4.6 ในปี 2017 และ 5.7%ในปี2018 ทำให้กลุ่มธนาคารได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อส่วนต่างดอกเบี้ยรับจะปรับเพิ่มขึ้นราคาหุ้นกลุ่มธนาคารอยู่ในจุดที่ถูกมาก แม้หุ้นไทยจะขึ้นตามดอกเบี้ยขึ้น แต่ก็จะผันผวนมาก ก่อนทำ New Highอาจเห็นเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตร เข้าสู่ตลาดหุ้นเพราะดอกเบี้ยขาขึ้นส่งผลไม่ดีต่อตลาดพันธบัตรเม็ดเงินต่างชาติในพันธบัตรรัฐบาลสูงมากขณะที่เม็ดเงินต่างชาติในหุ้นไทยติดลบเงินต่างชาติไหลเข้าหุ้น ช่วง FED ปรับขึ้นดอกเบี้ย

ด้าน Asset Allocation โดยศิริพร สุวรรณการผู้บริหารกลุ่มงานที่ปรึกษาทางการเงินไพรเวทแบงก์ ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่าสศช. ประกาศเศรษฐกิจปีนี้โตที่ระดับ 3% ใกล้เคียงกับที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการกรอบ 3.0-3.6% ในปี2560 นี้มองว่าการลงทุนภาคเอกชนและส่งออกจะเป็นอุตสาหกรรมดาวเด่น

สิ่งที่นักลงทุนควรทำมากที่สุดคือ การจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งมีผลต่อภาพรวมผลตอบแทนของนักลงทุนมากกว่า 94% ในขณะที่การพยายามจับจังหวะการลงทุน (Market Timing) และลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด (Product Champion)นำมาซึ่งผลตอบแทนเพียง 2% และ 4% ของผลตอบแทนทั้งหมด

เดอะวิสดอมกสิกรไทย เป็นบริการพิเศษที่ธนาคารกสิกรไทยสร้างสรรค์ขึ้น สำหรับลูกค้าที่มีเงินฝาก/เงินลงทุนตั้งแต่ 10 ล้านบาท รวมกันเฉลี่ย 6 เดือน หรือเป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคารฯ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ระดับ VVIP ในทุกมิติของการใช้ชีวิต ทั้งด้านการเงินการลงทุน และด้านไลฟ์สไตล์ ให้แก่ลูกค้า

 

สนใจสมัครบริการเดอะวิสดอมได้ที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 

THE WISDOM Contact Center โทร.02-888-8899