Energy Talk เปิดโลกพลังงานหมุนเวียน

Energy Talk เปิดโลกพลังงานหมุนเวียน

ตอนที่ 5 : ศักยภาพและเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจาก “พลังงานลม” ในไทย

พลังงานลม เป็นพลังงานธรรมชาติที่เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิ ความกดอากาศและแรงจากการหมุนของโลก ทำให้เกิดความเร็วลมและกำลังลม ซึ่งนับเป็นพลังงานหมุนเวียนรูปแบบหนึ่งที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้โดยผ่านอุปกรณ์สำคัญ คือ “กังหันลม”

ภูมิประเทศของประเทศไทยมีความเร็วลมเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 0- 6.4 เมตรต่อวินาที แม้จะมีศักยภาพน้อยกว่าหลายประเทศ แต่จากการศึกษาแผนที่ศักยภาพพลังงานลมของประเทศไทย โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกระทรวงพลังงานในปี 2544 พบว่าแหล่งพลังงานลมที่มีศักยภาพของประเทศไทยความเร็วลมเฉลี่ย6.4 เมตรต่อวินาที ขึ้นไปที่ความสูง 50 เมตร นั้น พบความเร็วสูงสุดอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลฝั่งอ่าวไทย เช่น ภาคใต้บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ตามแนวชายฝั่งทะเลสาบสงขลา และยังพบว่า พื้นที่จังหวัดลพบุรี นครราชสีมา และชัยภูมิ ยังมีศักยภาพด้านพลังงานลมที่ดี เหมาะสำหรับการติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์

ปัจจุบันภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการส่งเสริมและสนับสนุนของภาครัฐเอ็กโก กรุ๊ป นับเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงงานลมในยุคเริ่มต้นโดยมี “เทพพนา วินด์ฟาร์ม” เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรกของบริษัทและแห่งแรกในจังหวัดชัยภูมิ และยังเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรกที่ใช้กังหันลมที่มีกำลังการผลิตต่อหนึ่งต้นมากที่สุดในประเทศไทยถึง 2.5 เมกะวัตต์ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ติดตั้งในประเทศไทยโดยทั่วไปมีกำลังการผลิตต่อต้นประมาณ 2.3 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าเทพพนา วินด์ฟาร์มมีกำลังการผลิตรวม7.5เมกะวัตต์จากกังหันลมทั้งหมด 3 ต้น มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับกฟภ.ในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer – VSPP)เป็นระยะเวลา5 ปี และต่อเนื่องครั้งละ5 ปี โดยอัตโนมัติ

จุดเด่นอีกประการหนึ่งของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ คือ การใช้กังหันลมที่ขับเคลื่อนแบบต่อตรงกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า(Gearless Directly Driven)ซึ่งนอกจากจะทำให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยลดระดับค่าความดังของเสียงที่เกิดจากการหมุนของแกนใบพัดให้เหลือน้อยกว่า 10 เดซิเบล ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่กฏหมายกำหนด รวมทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบในระยะยาวอีกด้วย

นอกจากโรงไฟฟ้าเทพพนา วินด์ฟาร์ม แล้ว เอ็กโก กรุ๊ป ยังมีแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม “ชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม” เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่งที่ อ.ซับใหญ่ จ.ชัยภูมิโดยมีกำลังการผลิตประมาณ 80 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยกังหันลมจำนวน 32 ต้น ซึ่งจะใช้กังหันลมแบบเดียวกัน โดยคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2559

อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมยังมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงโดยเฉพาะเรื่องความสม่ำเสมอของความเร็วลม รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ เช่น ลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ควรเป็นที่ราบโล่งไม่มีสิ่งกีดขวางมีประชาชนอยู่อาศัยไม่หนาแน่น มีระบบจำหน่ายไฟฟ้าและการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าเข้าถึง เป็นต้นแต่พลังงานลมก็เป็นพลังงานหมุนเวียนอีกประเภทหนึ่งที่ภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (พ.ศ.2555-2564)ดังนั้น การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมยังคงเป็นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต