ขอเถอะ......ห้ามขายเหล้าวันสงกรานต์!

ขอเถอะ......ห้ามขายเหล้าวันสงกรานต์!

 

รู้หรือไม่ว่า ทุกช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ วันไหนคือวันที่มีสถิติจากอุบัติเหตุสูงที่สุด

คำตอบก็คือ วันที่ 13 เมษายนของหลายปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นวันที่พีคสูงสุดของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง และมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมาก โดยมีสาเหตุหลักมาจากการดื่มสุราโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่มีอายุ 15-19 ปี

เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่อาจหาคำตอบไม่ได้แล้วว่า เป็นเวลานานเท่าไหร่  แต่น่าจะไม่น้อยกว่าหลายสิบปีที่ “เหล้า” กับ “สงกรานต์” กลายเป็นสิ่งที่ควบคู่กันในสังคมไทย และกำลังกลายเป็นความเคยชินในความรู้สึกคนไทย ซึ่งความคิดดังกล่าวยิ่งทำให้ทวีปัญหาต่างๆ มาตลอดอย่างต่อเนื่อง

เพราะนอกเหนือจากแอลกอฮอล์จะเป็นบ่อเกิดของการอุบัติเหตุที่ทำให้ถึงแก่ชีวิต ผลพวงจากความมึนเมายังเป็นปัจจัยร่วมสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาต่างๆ อาทิ การทะเลาะวิวาท ปัญหาการลวนลามหรือถูกคุกคามทางเพศรวมถึงความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งทำให้สงกรานต์กลายเป็นเทศกาลที่หลายฝ่ายถอยห่าง และมองว่าเป็นเทศกาลที่น่าเบื่อและไม่ปลอดภัย ซึ่งข้อมูลเชิงประจักษ์เหล่านี้คือสิ่งที่ไม่ต้องมีสถิติใดๆ มายืนยัน เราทุกคนก็ล้วนเห็นเด่นชัดอยู่แล้วโดยทั่วไป

จากการเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว ทำให้ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานด้านสุขภาพจึงพยายามออกมาจับมือเพื่อขับเคลื่อนให้คนไทยตระหนักปัญหาที่เกิดจากเหล้า ทั้งพยายามส่งเสริมให้มีการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อสกัดแอลกอฮอล์จากวิถีความเคยชินของคนไทยต่อเนื่อง

ซึ่งผลจากความพยายามผลักดันมาตลอดกว่าสิบปี ด้วยการผลักดันมาตรการต่างๆ คณะทำงานด้านรณรงค์การลดแอลกอฮอล์ได้พบว่า การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ คือ วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสฬหบูชา วันเข้าพรรษา รวมถึงวันออกพรรษา ทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุเจ็บตายทางถนนลดลง จึงเห็นหนทางว่ามาตรการดังกล่าวช่วยได้ผลจริง

กอปรกับเมื่อหลายฝ่ายต่างเห็นสถิติอุบัติเหตุที่พุ่งสูงขึ้นล่าสุดในวันสงกรานต์ จึงเริ่มนำมาสู่ไอเดียการผลักดันอีกหนึ่งมาตรการใหม่ที่กำลังจะได้รับพิจารณาให้เกิดขึ้นครั้งแรกในปีนี้

นั่นคือการประกาศให้วันที่ 13 เมษายน ไม่ควรมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ซึ่งหลังจากคณะกรรมการฯ ต่างเห็นชอบในเรื่องนี้ จึงมีมติกันว่าในช่วง15 มีนาคมนี้จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่มีการมอบให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งหากเห็นชอบก็จะจัดทำเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อบังคับใช้ต่อไปหากแต่พลันที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ในการออกมาตรการห้ามขายน้ำเมาในวันที่ 13 เม.ย. 2562 เหมือนกับการห้ามขายเหล้าวันพระใหญ่ ก็ได้เกิดบรรยากาศ “เสียงแตก” ออกเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งสนับสนุนและอีกฝ่ายคัดค้านมาตรการดังกล่าว

ทำให้ประเด็นดังกล่าวล้วนเป็นความท้าทายที่ว่าประเทศไทยจะฝ่ายพายุแห่งปัญหานี้ไปได้อย่างไร?

เมื่อเกิดกระบวนการคนไทยไม่เอาเหล้า เตรียมถอด “น้ำเมา” ออกจากวันสงกรานต์ ก็ปฏิกิริยาสะท้อนกลับที่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า จะเป็นผลเสียมากกว่าดี โดยเฉพาะคำครหาใน4 ประเด็นหลักไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลิดรอนสิทธิผู้ดื่ม อีกทั้งไม่ช่วยแก้ปัญหาจริงจัง ควรเพิ่มโทษเมาแล้วขับมากกว่า หรือการไม่จำหน่ายเหล้าตัวมหันตภัยที่จะสร้างผลกระทบใหญ่กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในงานเสวนา "ถอดรหัสสงกรานต์ งดขายสุรา 13 เมษา ลดอุบัติเหตุ" จัดโดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และภาคีเครือข่าย จึงยินดีรับคำท้าพิสูจน์ชัด โดยได้ออกมาตอบคำถามถึง 4 ประเด็นดังกล่าวอย่างโปร่งใสว่า จริงๆ แล้ว การห้ามขายเหล้าวันที่ 13 เม.ย. จะเป็นผลดีมากกว่าผลเสียแน่นอน

ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า มาตรการห้ามขายน้ำเมาในวันที่ 13 เม.ย. เป็นหนึ่งในมาตรการที่สากลทำเพื่อลดความสูญเสียและองค์การอนามัยโลกก็แนะนำ คือ จำกัดเวลาการเข้าถึง การเพิ่มราคา การจำกัดอายุคนซื้อ สถานที่ห้ามขาย ซึ่งมีงานวิชาการรองรับว่า ทำแล้วมีประโยชน์ ใช้งบประมาณไม่สูง ซึ่งต้องเริ่มห้ามจากวันที่ 13 เม.ย.นี้ ถ้าทำแล้วมีประสิทธิภาพก็ต้องห้ามต่อ เช่น ช่วงเทศกาลสงกรานต์วันอื่น  หรือควรออกประกาศห้ามขายวันที่ 13 เม.ย. ของทุกปีในอนาคต

“กระแสคนออกมาคัดค้านมากนั้น ผมมองว่า คนที่เสียงดังที่สุด คือ คนที่กระทบโดยตรง คนที่ออกมาคัดค้าน เพราะเขารู้สึกว่ากระทบเยอะ กลัวว่าจะไม่ได้ดื่มกินเมา ก็ต้องออกมา ส่วนคนไม่ดื่ม ไม่รู้สึกว่าปลอดภัยเพิ่มขึ้น หรือรู้สึกว่ามีประโยชน์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะปกติก็ไม่ได้ดื่มอยู่แล้ว ไม่กินไม่เมา ไม่ได้ออกไปฉลอง ไม่ได้ขับรถรา อยู่บ้านเฉยๆ ตัวเองไม่รับผลกระทบเท่าไร จึงไม่ได้แสดงออกมาก” ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี กล่าว

 

 

ห้ามขายเหล้า = ลิดรอนสิทธิผู้ดื่ม?

ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มีกล่าวว่า หากถามว่าการห้ามขายเหล้าวันที่ 13 เม.ย. เป็นการลิดรอนสิทธิผู้ดื่มหรือไม่ ตอบได้เลยว่า ไม่ เพราะมาตรการนี้เป็นการห้ามขาย ไม่ได้ห้ามดื่ม ดังนั้น จึงยังสามารถดื่มได้ตามปกติ แต่ที่จะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนลงได้ เนื่องจากปัญหาเมาแล้วขับนั้น ส่วนใหญ่มักมาจากดื่มเมาแล้วขับออกไปซื้อเพิ่ม และอีกส่วนมาจากการตระเวนเที่ยวดื่ม ดังนั้น การห้ามขายเหล้าในวันดังกล่าว คนที่ต้องการจะดื่มก็สามารถวางแผนการดื่มได้ว่า จะดื่มมากน้อยแค่ไหน แล้วซื้อตุนเอาไว้ก่อนวันที่ 13 เม.ย. ซึ่งหากดื่มเมาภายในบ้านก็จะไม่เกิดปัญหา เพราะรู้ดีว่าออกไปแล้วก็หาซื้อไม่ได้ จึงไม่เกิดการเดินทาง ลดความเสี่ยงการเมาแล้วออกไปขับหาซื้อน้ำเมา เช่นเดียวกับการตระเวนเที่ยวดื่ม เมื่อไม่มีการขาย ก็ลดโอกาสการเมาแล้วออกไปสู่ท้องถนน

 

หลายฝ่ายค้านไม่ได้แก้ปัญหาจริง

อีกประเด็นที่ถูกแย้งขึ้นมาว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแท้จริง เพราะแม้จะห้ามขายเหล้า แต่เชื่อว่านักดื่มทั้งหลายก็สามารถซื้อมากักตุนไว้ได้ เรื่องนี้ นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศวปถ.เป็นผู้ให้คำตอบกับคำถามนี้ว่า แม้จะซื้อมาตุนดื่มไว้ที่บ้าน แต่การดื่มที่บ้าน หากไม่มีการขายก็ไม่ออกไปซื้อ ไม่เกิดการเดินทาง นอกจากนี้ 50-60% คนดื่มเมาแล้วขับและเกิดอุบัติเหตุ คือ ออกมาดื่มนอกบ้าน ตระเวนดื่มเที่ยว งานรื่นเริงต่างๆ ก็จะช่วยลดตรงนี้

ส่วนประเด็นให้ควรมีการเพิ่มโทษเมาแล้วขับมากกว่าห้ามขาย นพ.ธนะพงษ์ กล่าวว่า สมมติหากเพิ่มกำลังไปที่ด่าน จะเพิ่มเจ้าหน้าที่ได้กี่คน แต่ถ้าทุ่มไปที่ต้นทางเลย คือตรวจจับคนขายน้ำเมาวันที่ 13 เม.ย.  หากตรวจจับคนเมาแล้วขับ 1 คน กับคนขาย 1 งาน ประสิทธิผลต่างกันมาก เพราะตรวจจับคนขายจะลดความเสี่ยงคนเมาออกสู่ถนนเป็นหลักพันหลักหมื่น จึงต้องใช้มาตรการเข้มไปกับต้นน้ำ ซึ่งถ้าดูผลตรวจเลือดช่วง 7 วันอันตายสงกรานต์ 2561 พบว่า ตรวจถึง 1,563 คน เป็นวันที่ 13 เม.ย.วันเดียวถึง 370 คน โดยปริมาณแอลกอฮอล์เกินถึง 220 คน หรือ 59% ดังนั้นจึงต้องมุ่งไปวันที่ดื่มแล้วตายสูงสุด ในการห้ามขาย เป็นการตัดวงจร ยิ่งสงกรานต์ปีนี้หยุดตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. หรือบางคนอาจหยุดก่อนหน้านั้น ก็จะกลับบ้านไปตั้งหลักกันเร็ว วันที่ 13 เม.ย. ก็จะมีความพร้อมใจออกมาเล่นน้ำ รื่นเริง

“ต้องบอกว่า ตรวจจับเพิ่ม ก็จับคนเมาขับได้เฉลี่ย 60-70 คนต่อจังหวัด แต่ต้นน้ำผลิตคนเมาแล้วขับเป็นหลักพันหลักหมื่น ขณะที่คนเมาแล้วขับแค่ถูกปรับและคุมประพฤติ หากชนคนตาย เมื่อสารภาพก็รอลงอาญา ไม่มีบทลงโทษแรงพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรม ถ้าไม่ทำมาตรการห้ามขายวันที่ 13 เม.ย. ก็ต้องตอบสังคมให้ได้ว่า จะทำอย่างไรกับคนเมาแล้วขับจำนวนมากที่ออกสู่ถนน" นพ.ธนะพงษ์ กล่าว

เช่นเดียวกับ ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี ที่บอกว่า เหตุใดไม่เพิ่มการตรวจจับคนเมาแล้วขับให้มากขึ้นแทน สมมติว่า 1 จังหวัด จัดงานที่มีแอลกอฮอล์ 1 งาน โดยงานเดียวก็ผลิตคนเมาออกมาสู่ท้องถนนแล้วเป็นหมื่นคน แล้ว 77 จังหวัดคิดว่าจะมีคนเมาออกมาสู่ถนนเท่าไร ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดำเนินการมีกี่คน และมักดักจับถนนใหญ่ ไม่ใช่ถนนสายเล็กที่มอเตอร์ไซค์ลัดไป ซึ่งอุบัติเหตุ 80% มาจากมอเตอร์ไซค์ ที่เราทำ คือ ปลายน้ำ จึงต้องหามาตรการอื่น

 

ไม่ขายเหล้าสงกรานต์กระทบเศรษฐกิจประเทศ?

สำหรับประเด็นนี้ ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี กล่าวว่า ส่วนที่กังวลกันว่า จะกระทบเศรษฐกิจใครจะอยากมาเที่ยว ต้องถามกลับว่า งานสงกรานต์ที่ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น ซึ่งจัดงานปลอดเหล้า แต่มีคนมาเที่ยวรวมกัน 3 วันถึง 4 แสนกว่าคน ทำเศรษฐกิจแย่หรือไม่ ทั้งนี้ เศรษฐกิจเป็นเรื่องของความมั่นใจ อย่างช่วงที่เราเห็นข่าว 3-4 ปีก่อน สงกรานต์จังหวัดไหนจัด แล้วมีวัยรุ่นตีกัน มีลวนลาม ซึ่งสาเหตุก็มาจากการเมา กลุ่มอื่นอยากเที่ยวแบบสบายใจก็ไม่อยากมาเล่นสงกรานต์ เพราะอันตราย ไม่สนุก กลัวจะถูกลูกหลง ถูกลวนลามไหม ดังนั้น การห้ามไม่ให้จำหน่าย ผมคิดว่าได้ผลในทางกลับกัน คนจะมั่นใจที่จะออกไปเล่นน้ำสงกรานต์ที่ปล่อยภัยมากขึ้น ไม่มีคนเมาก็สบายใจมากขึ้น คนอยากไปเล่นมากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดค่ารักษาจากการเกิดอุบัติเหตุ

อีกหนึ่งผู้ให้ข้อมูลเรื่องนี้ จากประสบการณ์ของคนที่เคยลงพื้นที่คลุกคลีทำงานด้านรณรงค์งดเหล้าในช่วงเทศกาลมากว่าสิบปีอย่าง ธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่าย องค์กรงดเหล้า (สคล.)ชี้แจงชัดว่า  การห้ามขายเหล้าวันที่ 13 เม.ย. ไม่ได้ลิดรอนสิทธิคนดื่มแม้แต่น้อย ในทางกลับกันยังช่วยปกป้องคนที่ไม่ดื่ม ให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นจากอุบัติเหตุทางถนนจากการเมาแล้วขับ การทะเลาะวิวาท การลวนลามต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นในการเล่นน้ำช่วงสงกรานต์อีกด้วย

“จริงๆ แล้วในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีคนไทยที่ดื่มเพียง 30% เท่านั้น แต่อีก 70% อาจต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะคนจำนวนน้อยดังกล่าว

ซึ่งจากการทำงานกว่าสิบปีได้ทำให้แอลกอฮอล์ไม่จำหน่ายในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งพบว่าในช่วงเวลานั้นสามารถลดอุบัติเหตุลดลงจริง จึงทำให้ทุกฝ่ายเลยเห็นพ้องว่าถ้าเช่นนั้นควรที่จะงดจำหน่ายแอลกอฮอล์ในวันที่ 13 เมษายน ในปีนี้เพื่อดูว่าสถิติลดลงหรือไม่

“แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้อยากให้ลดแค่วันเดียว เราอยากให้ลดตลอดไป แต่ยืนยันว่าข้อเสนอคือการ “จำกัด” ไม่ใช่ “กำจัด” เพราะเรายอมรับว่ายังมีคนที่ดื่มจนติดอีกสองถึงสามล้านคนที่เขาอาจยังเลิกไม่ได้”

ผู้จัดการ สคล.อธิบายต่อว่าแนวทางดังกล่าว เป็นการหาทางออกร่วมกันซึ่งเชื่อว่าน่าจะช่วยได้ระดับหนึ่ง ปัจจุบันโดยรวมมองว่าสังคมไทยเริ่มตระหนักปัญหานี้มากขึ้น โดยสังเกตจากหลายพื้นที่เล่นน้ำสำคัญขานรับแนวคิดประกาศเป็นพื้นที่เล่นสงกรานต์ปลอดแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“เราคิดว่าเราพยายามช่วยชีวิตคน เราไม่ได้บอกไม่ให้ดื่มเลย แต่เราแค่จำกัดจำนวนและช่องทางการเข้าถึง ซึ่งเป็นการมองในมิติการตัดโอกาสเข้าถึงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้คนไทยเสียสุขภาพและเสียชีวิต

ธีระเอ่ยต่อว่า “ตอนนี้เราคิดว่าสังคมไทยมีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ไปเยอะเหมือนกัน จากเดิมที่เคยมองว่าจะดื่มกันในที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ กลายเป็นสังคมเริ่มยอมรับเรื่องการจำกัดพื้นที่หรือสร้างเงื่อนไขต่างๆ แม้แต่การจัดพื้นที่โซนนิ่งปลอดแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่เจ้าของพื้นที่ หรือเจ้าภาพเองเป็นผู้ดำเนินการและต้องการควบคุมด้วยตัวเอง โดยที่เราไม่เคยบังคับ ที่สำคัญในพื้นที่ที่มีการโซนนิ่งเป็นเขตปลอดแอลกอฮอล์จะเห็นได้ว่าบรรยากาศของงานแตกต่างไปเลย เพราะเด็กและผู้หญิงเขาจะรู้สึกปลอดภัย เขาอยากออกมาเล่น ครอบครัวออกกันมาร่วมงานพร้อมหน้า”

ผู้จัดการ สคล.กล่าว พร้อมยืนยันว่าอย่างไรก็ดีเป้าหมายสูงสุดของเครือข่ายงดเหล้าอยากเห็นคือการไปให้ถึงขั้นที่สังคมเป็นผู้ที่ปฏิเสธเรื่องแอลกอฮอล์ด้วยตัวเองในท้ายที่สุด

ขอเถอะ......ห้ามขายเหล้าวันสงกรานต์!

ขอเถอะ......ห้ามขายเหล้าวันสงกรานต์!

ขอเถอะ......ห้ามขายเหล้าวันสงกรานต์!

ขอเถอะ......ห้ามขายเหล้าวันสงกรานต์!

ขอเถอะ......ห้ามขายเหล้าวันสงกรานต์!