การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

 

การเปลี่ยนผ่านจากโลกในศตวรรษที่ 20 มาสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งสำคัญ การสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตและการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีทำให้บริบทการแข่งขันในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ช่วงที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสได้ศึกษารายงานผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั่วโลกที่จัดทำโดย World Economic Forum หรือ WEF ซึ่งผู้เขียนพบว่าผลการจัดอันดับของประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาแม้ว่าจะคงที่อยู่ในลำดับที่ 3 ของภูมิภาคอาเซียน แต่อันดับของประเทศเพื่อนบ้านต่างมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก

จากการวิเคราะห์ข้อมูล และการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อจัดทำโครงการวิจัยส่วนบุคคล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 60 ผู้เขียนพบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันทั่วโลกต่างมุ่งพัฒนา “ความได้เปรียบเชิงแข่งขัน (Competitive Advantage)” ด้วยนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อทดแทน “ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage)” จากปัจจัยการผลิตและทรัพยากรธรรมชาติ แต่ประเทศไทยกลับต้องประสบอุปสรรคสำคัญใน 5 ด้าน ได้แก่ (1) การสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม (2) การพัฒนาบุคลากร (3) ระบบโครงสร้างพื้นฐาน (4) การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster) และ
(5) กฎระเบียบข้อบังคับที่เป็นอุปสรรค ผู้เขียนจึงได้รวบรวมผลการศึกษาจากแนวปฏิบัติ Best Practice และกรณีศึกษาของต่างประเทศ ตลอดจนข้อเสนอแนะต่างๆ  ที่ได้รับจากผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยผ่านมุมมองของผู้ประกอบการภาคเอกชนดังนี้

ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภาครัฐควรมุ่งเน้นการส่งเสริมสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศเพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมการวิจัย และพัฒนา โดยการจัดตั้งศูนย์การวิจัยร่วมกับบริษัทชั้นนำต่างๆ หรือการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและสถาบันการวิจัย รวมถึงกำหนดบทบาทให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการวางกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศ การจัดสรรงบประมาณและคัดเลือกโครงการนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สามารถนำไปต่อยอด และก่อให้เกิดมูลค่าเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตหรือการเกษตรกรรม ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบเนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดินและแหล่งน้ำเป็นต้นทุนเดิม

ด้านทรัพยากรมนุษย์ พิจารณาแนวทางการพัฒนาการศึกษาและทักษะแรงงานจากตัวอย่างของประเทศที่ประสบผลสำเร็จ เช่น การจัดทำโครงการ Skills Future ร่วมกับแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม Industry Transformation Maps ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ บริษัทเอกชนและสถาบันการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ การพัฒนาบุคลากรสายอาชีวะ โดยการนำระบบการศึกษาแบบคู่ขนาน (Dual Education) ตามแนวทาง “เรียนรู้-รู้จริง-ลงมือทำจริง” ของประเทศเยอรมันและญี่ปุ่นมาเป็นต้นแบบ และการพัฒนาอาชีพครูของประเทศฟินแลนด์ที่เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากรที่มีคุณภาพ การให้ผลตอบแทนที่จูงใจ และการอบรมให้มีความรู้ด้านจิตวิทยาและทักษะที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง

ด้านโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ และพลังงาน ภาครัฐควรเร่งลงทุนในโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม และดิจิทัลตามแผนงานที่วางไว้เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับภูมิภาคและยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiatives ตลอดจนส่งเสริมการเปิดเสรีด้านพลังงานเพื่อให้มีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตและจัดหาพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านการพัฒนากลุ่มธุรกิจ กำหนดมาตรการสิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและไม่ใช่ภาษี อาทิ การจัดตั้งเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายการดึงดูดบริษัทชั้นนำที่มีคุณสมบัติครบถ้วนให้เข้ามาลงทุนในประเทศ เพื่อเป็นแม่เหล็กสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากลุ่มธุรกิจ และยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการชาวไทยที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมนั้นๆ

ด้านกฎระเบียบ สร้างนวัตกรรมด้านกฎระเบียบ โดยการเร่งปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายข้อบังคับที่ล้าสมัยหรือเป็นอุปสรรค โดยลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ภาคธุรกิจและประชาชน อันจะช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายการดำเนินงานลงได้

ทั้งนี้ รัฐบาลปัจจุบันก็ตระหนักถึงความเร่งด่วนดังกล่าวจึงได้กำหนดให้มีนโยบายประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในช่วงการเปลี่ยนผ่านของยุคดิจิทัลนี้ อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของการดำเนินงานตามแผนงานต่างๆ คือ คณะทำงานกลางตามแนวคิดของ Performance Management and Delivery Unit (PEMANDU) ซึ่งคณะกรรมการ หรือหน่วยงานดังกล่าวจะมีสายการบังคับบัญชาและรายงานต่อนายกรัฐมนตรี โดยควรมีหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนและประสานงานกับหน่วยงานหรือกระทรวงต่างๆ ตลอดจนการติดตามประเมินผลเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงตามนโยบาย และยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนก็ขอฝากความหวัง และส่งกำลังใจไปถึงรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคมนี้ ในการกำหนดนโยบาย และแผนงานเพื่อสร้างความต่อเนื่องของการดำเนินงานด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างการปฏิรูปที่จะเป็นการกระตุกประเทศให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และทำให้ประเทศไทยสามารถกลับขึ้นไปยืนอยู่แนวหน้าของภูมิภาคได้
อย่างเต็มภาคภูมิ

 

เขียนโดย คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

  การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย