‘NIDA’ เปิดภารกิจสร้างคนเก่ง เสริมแกร่ง ‘ท่องเที่ยว’ กระดูกสันหลังเศรษฐกิจไทย

‘NIDA’ เปิดภารกิจสร้างคนเก่ง เสริมแกร่ง ‘ท่องเที่ยว’ กระดูกสันหลังเศรษฐกิจไทย

 

ชื่อชั้นของ “สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์” หรือ NIDA ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางของผู้สนใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกในไทย หนึ่งในคณะน่าสนใจที่เปิดทำการเรียนการสอนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งกำลังร้อนแรงมีแต่คำว่าโตวันโตคืนอย่าง “คณะการจัดการท่องเที่ยว” จึงถูกฉายสปอตไลต์ ว่ามีบทบาทในการสร้างบุคลากรเสิร์ฟอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างไร เพื่อให้ภารกิจเสริมสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนของท่องเที่ยวไทยเป็นไปตามเป้าหมาย

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ มนต์พานทอง คณบดีคณะการจัดการการท่องเที่ยว Nida เริ่มต้นฉายภาพว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่าง “ก้าวกระโดด” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งในมิติจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ จนครองสัดส่วนมากถึง 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มีศักดิ์ศรีเป็นหนึ่งใน “เสาหลัก” ของเศรษฐกิจไทย นำเข้านักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากกว่า 38 ล้านคนเมื่อปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ถึง 2 ล้านล้านบาท และเมื่อรวมกับตลาดไทยเที่ยวไทย รายได้ท่องเที่ยวรวมจึงมีมากกว่า 3 ล้านล้านบาท

 

“ปัจจุบันภาคท่องเที่ยวไทยต้องเผชิญสถานการณ์หลากมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเชิงลึกอย่างรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไป ไม่ได้ตกถึงมือคนไทยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัป (Disrupt) สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงกว่าครั้งไหนๆ ในทุกขั้นตอนของกระบวนการท่องเที่ยว เช่น พฤติกรรมการค้นหาข้อมูล ตัดสินใจจองซื้อขายสินค้าท่องเที่ยว จนถึงขั้นตอนการออกเดินทางจริง ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องการประสบการณ์ท่องเที่ยวแปลกใหม่ ลุ่มลึกกว่าในอดีตมาก”

 

นี่จึงเป็นที่มาของ “ภารกิจสำคัญ” ของ NIDA นั่นคือการ “สร้างปัญญา” แก่นักศึกษา ให้ทันทุกการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ท่องเที่ยวโลก พร้อมมีส่วนผลักดันในการ “สร้างความยั่งยืน” แก่ระบบนิเวศสำคัญของภาคท่องเที่ยวซึ่งยืนอยู่บน 3 ขาหลัก คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

“ถ้ามองในเชิงการตลาด พบว่าปัญหาในขณะนี้ของภาคท่องเที่ยวไทยคือการมีนักท่องเที่ยวกลุ่มทั่วไป (Mass Tourism) มากเกินไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ปัญหาด้วยการเจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มความสนใจเฉพาะ (Niche Market) ควบคู่ไปด้วยเพื่อสร้างสมดุล และยังสามารถดึงเม็ดเงินจากกระเป๋าสตางค์นักท่องเที่ยวได้ในจำนวนมากกว่ารูปแบบการท่องเที่ยวทั่วๆ ไป”

 

ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) ซึ่งมีโอกาสขยายตัวสูงจากดีมานด์นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สนใจเข้ารับการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพที่โรงพยาบาลเอกชนและสถานประกอบการ เช่น รีสอร์ท และสปาในไทย นอกจากจะได้นักท่องเที่ยวกลุ่มใช้จ่ายสูงแล้ว ไทยยังมีความพร้อมด้านซัพพลายในการรองรับที่ดีอีกด้วย

 

ด้านการท่องเที่ยวเรือสำราญ (Cruise Tourism) นับเป็นอีกเซ็กเมนท์ที่น่าสนใจและมาแรง เพราะเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตในเอเชียอย่างมาก หลังได้รับการถ่ายทอดไลฟ์สไตล์ท่องเรือสำราญมาจากฝั่งอเมริกาและยุโรป รุกเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่วัยทำงานชาวเอเชียที่ต้องการประสบการณ์พักผ่อนแบบแตกต่าง ไม่เหมือนใคร ใช้จ่ายต่อคนมากถึง 6,000 บาทต่อวัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกลุ่มทั่วไป

 

“แม้ไทยจะยังติดข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ระหว่างการพัฒนาท่าเรือรองรับการเทียบท่าของเรือสำราญขนาดใหญ่ แต่เชื่อว่าเสน่ห์ของการท่องเที่ยวแนวนี้จะดึงดูดผู้คนเข้ามาใช้บริการมากขึ้นอีกแน่นอน เห็นได้จากจำนวนบุคลากรในวงการล่องเรือสำราญที่มีกว่า 1 ล้านตำแหน่งทั่วโลก โดยมีคนไทยทำงานแค่ 2,000 คนเท่านั้น ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับชาติอื่น เช่น สิงคโปร์ที่มีจำนวนมากถึง 20,000 คน NIDA จึงพยายามสนับสนุนและกระตุ้นให้นักศึกษาไปทำงานบนเรือสำราญมากขึ้น เพราะนอกจากจะได้ประสบการณ์ชีวิตแปลกใหม่แล้ว ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัวเลยทีเดียว”

 

นอกเหนือจากโอกาสของภาคท่องเที่ยวไทยแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ มนต์พานทอง คณบดีคณะการจัดการการท่องเที่ยว Nida ได้ขยายความเพิ่มเติมถึงปัญหาด้วยว่า เมื่อมาดูฝั่งซัพพลาย พบว่ากลไกการจัดการของภาคท่องเที่ยวไทยยังมีปัญหาอยู่ จำเป็นต้องสร้าง “ความพร้อม” อย่างเร่งด่วน

 

ทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ของการท่องเที่ยวว่าแท้จริงแล้วต้องการให้เป็นแบบไหน เพื่อเดินแผนพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-Based Tourism) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากถึงผลลัพธ์ของการสร้างการมีส่วนร่วมจากคนในชุมชน เพราะนอกจากจะทำให้ชุมชนไม่ได้กลายเป็นผู้ถูกเที่ยวเพียงอย่างเดียวแล้ว ยังทำให้ชุมชนสร้างกลไกการบริหารจัดการด้วยตัวเอง เพื่อให้รายได้ตกถึงมือคนในชุมชนจริงๆ

 

สำหรับอีกโจทย์คือการสร้าง “สมดุล” กระจายรายได้สู่เมืองท่องเที่ยวรองและชุมชน หลังจากกระจุกอยู่แต่ในเมืองหลักกว่า 80% โดยนโยบายของรัฐเองก็มุ่งส่งเสริมกระจายเม็ดเงินสู่เมืองรองมากขึ้น ทั้งนี้มองว่าเราไม่ควรเอารายได้ท่องเที่ยวเป็นตัวตั้งเพียงอย่างเดียว รวมถึงการยึดติดตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป

 

“จีนยังคงเป็น ‘พี่ใหญ่’ ของวงการท่องเที่ยวโลก ส่งออกนักท่องเที่ยวจีนไปต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟ.ไอ.ที.) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายคุณภาพสูง จนแซงหน้านักท่องเที่ยวสหรัฐและเยอรมนีในด้านค่าใช้จ่าย ส่วนใหญ่เลือกซื้อดีลท่องเที่ยวหรือแพ็กเกจต่างๆ กับโรงแรมและสายการบินโดยตรง โดยปีที่ผ่านมีชาวจีนเดินทางมาเที่ยวไทยกว่า 10.5 ล้านคน ครองสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทยทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การยึดติดตลาดจีนมากเกินไปอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงได้เช่นกัน”

 

ส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวที่น่าสนใจและกำลังมาแรงอย่าง “อินเดีย” นั้น กลายเป็นทางเลือกในเจาะตลาดของผู้ประกอบการ ด้วยศักยภาพของขนาดประชากรมากกว่า 1.3 พันล้านคน และเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับตลาดอินเดีย คือ การเปลี่ยนความคิด (Mindset) ที่มีต่อนักท่องเที่ยวอินเดีย เพื่อสื่อสารและให้บริการตอบโจทย์ความต้องการมากที่สุด

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ มนต์พานทอง คณบดีคณะการจัดการการท่องเที่ยว Nida เล่าเพิ่มเติมว่า สำหรับทิศทางการปั้นบุคลากรด้านการท่องเที่ยวของ NIDA ช่วง 5 ปีนับจากนี้เราจะเน้นพัฒนา “กลุ่มผู้บริหาร” ในภาคเอกชน หลังจากก่อนหน้านี้ NIDA ได้พัฒนาบุคลากรไปอยู่ในภาคการศึกษา เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย รวมถึงบุคลากรในองค์กรรัฐด้านท่องเที่ยว

 

โดยในระดับมหาบัณฑิต NIDAได้เปิดหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต ครอบคลุม 5 สาขา ได้แก่ สาขานโยบาย การวางแผน และการจัดการการท่องเที่ยวและบริการแบบบูรณาการ, การจัดการธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการแบบบูรณาการ, การจัดการธุรกิจโรงแรม, การจัดการธุรกิจการบินและการขนส่ง และการจัดการธุรกิจบริการ

 

ทั้งนี้เตรียมปรับเพิ่มหลักสูตร เปิดสาขาใหม่ด้านการจัดการธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ ตามโอกาสการเติบโตของตลาดกลุ่มความสนใจเฉพาะนี้ ขณะที่ระดับดุษฎีบัณฑิต มีหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวและบริการแบบบูรณาการ ไว้รองรับความสนใจเข้าศึกษาต่อ 

 

“และจากการพัฒนาหลักสูตร ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ดึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากสนามจริงมาร่วมสอน และยังเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้วิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถาม และเสนอข้อคิดเห็นกับแนวทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับกรณีหรือสถานการณ์ด้านท่องเที่ยวทั้งในไทยและต่างประเทศที่เกิดขึ้นจริงทั้งในมิติล้มเหลวและประสบความสำเร็จ ขณะที่ความหลากหลายในศาสตร์ต่างๆ ของคณาจารย์นั้น ครอบคลุมทั้งการตลาด การบริหารจัดการ และการบริหารทรัพยากรบุคคล โดยคณาจารย์กว่า 90% มีตำแหน่งทางวิชาการ ส่งผลให้ NIDA ได้รับการรับรองมาตรฐานหลักสูตรจากองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ UNWTO”

 

และทั้งหมดนี้คือภาพรวมทิศทางการปั้นบุคลากรของ NIDA ป้อนสู่ตลาด เสริมความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สมกับเป็น “กระดูกสันหลัง” ของเศรษฐกิจไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต!