เปิดพันธกิจ 'ศูนย์เศรษฐพัฒน์' 'สร้างคน' เพื่ออนาคตพลังงานไทย

เปิดพันธกิจ 'ศูนย์เศรษฐพัฒน์' 'สร้างคน' เพื่ออนาคตพลังงานไทย

 

เป็นเวลา 38 ปีแล้วที่ “ศูนย์เศรษฐพัฒน์” ได้ฝึกฝนและสร้างช่างเทคนิคปิโตรเลียมให้กับอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทย เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยศูนย์ฝึกอบรมช่างเทคนิคปิโตรเลียมแห่งแรกของประเทศแห่งนี้ได้ผลิตช่างไปแล้วทั้งหมด 46 รุ่น  เป็นจำนวน 1,700 คน รวมถึงฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมไปแล้วหลายแสนคน ที่ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมให้ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้

ศูนย์เศรษฐพัฒน์ เดิมชื่อ ยูเนี่ยนออยล์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2523 โดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เพื่อผลิตช่างเทคนิคปิโตรเลียมชาวไทยเพื่อปฏิบัติงาน ณ  “เอราวัณ” แหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกในอ่าวไทย (เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2524) เนื่องจากในขณะนั้น บุคลากรในอุตสาหกรรมนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ

เศรษฐพัฒน์ ซึ่งมีความหมายว่า พัฒนาเศรษฐกิจ เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรกิจการด้านการฝึกอบรมบุคลากรและการผลิตก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทย เมื่อปีพ.ศ. 2533 และมีพิธีเปิดป้ายชื่อพระราชทานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2534

ปัจจุบัน เศรษฐพัฒน์ถือเป็นศูนย์ฝึกช่างปิโตรเลียมที่มีความทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่ง และได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบันฝึกอบรมปิโตรเลียมนอกชายฝั่งของสหราชอาณาจักร นั่นคือ OPITO (Offshore Petroleum Industry Training Organization) ทั้งได้รับการรับรองการฝึกอบรมหลักสูตรความปลอดภัยทางน้ำจากกรมเจ้าท่า ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโรงเรียนฝึกผจญเพลิงและการทำงานในพื้นที่อับอากาศ จาก กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า จุดประสงค์ของศูนย์เศรษฐพัฒน์ คือการผลิตช่างเทคนิคปิโตรเลียมคนไทยขึ้นเอง เพื่อสร้างงานและพัฒนาศักยภาพของคนไทย ในการพัฒนาช่างแต่ละรุ่นจะใช้เวลาประมาณ 7-8 เดือน เราฝึกสอนเขาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การขุดเจาะ ซ่อมบำรุง การฝึกรับมือกับเหตุฉุกเฉิน เรียกว่าเราสอนทุกๆ ด้าน รวมทั้งภาษาอังกฤษด้วย เพราะในการทำงานนั้น ช่างต้องสื่อสารพูดคุยภาษาอังกฤษได้”

วิษุวัต สิงหศิริ ผู้จัดการศูนย์เศรษฐพัฒน์  อธิบายว่า หลักสูตรของศูนย์เศรษฐพัฒน์ ประกอบไปด้วยวิชาเทคโนโลยีปิโตรเลียม ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของธรณีวิทยา การสำรวจ การขุดเจาะ
การผลิต และคุณสมบัติของก๊าซธรรมชาติ การซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งยังสอนวิชาภาษาอังกฤษ เน้นหนักการฟัง การพูด และศัพท์เทคนิคที่ใช้ในงานบนแท่นผลิต

“ในทุกๆ ปี มีเด็กสนใจมาสมัครกับศูนย์เศรษฐพัฒน์ไม่ต่ำกว่า 2-3 พันคน โดยเราจะรับเด็กที่เรียนจบระดับปวช.และ ปวส.ด้านไฟฟ้า ช่างกล และควบคุม  เพื่อฝึกฝนให้เขาสามารถใช้หรือทำงานกับอุปกรณ์และเทคโนโลยีบางอย่างของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตที่ค่อนข้างมีความเฉพาะตัว เวลานี้ถือได้ว่าเราเป็นสถานที่ที่ผลิตช่างเทคนิคปิโตรเลียมให้กับประเทศไทย โดยไม่มีการผูกมัด หมายถึงนักเรียนของเราเมื่อเรียนจบ เขาสามารถไปทำงานที่ไหนก็ได้”

ไม่เพียงแค่ความรู้ด้านเทคโนโลยีปิโตรเลียมเท่านั้น ศูนย์แห่งนี้ยังโดดเด่นในเรื่องของหลักสูตรอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ ซึ่งทางศูนย์มีสระน้ำให้ผู้เข้าอบรมได้ฝึกรับมือกับเหตุฉุกเฉินทางน้ำ ด้วยการจำลองสถานการณ์ขึ้นมาให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ทดลองปฏิบัติว่า หากเกิดเหตุการณ์ในแต่ละรูปแบบพวกเขาควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้อยู่รอดและปลอดภัย นอกจากนั้น เชฟรอนยังมีศูนย์ฝึกอบรมปฏิบัติการฉุกเฉิน หรือ ERTC (Emergency Response Training Center) เพื่อฝึกอบรมความปลอดภัยเกี่ยวกับไฟ ตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา ภายใต้การดูแลของศูนย์เศรษฐพัฒน์อีกด้วย

“ช่างเทคนิคของเราต้องดับเพลิงได้ด้วย เพราะหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น ณ แท่นผลิตกลางทะเล อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงเชฟรอน จึงต้องฝึกคนของเราให้สามารถตอบโต้กับไฟไหม้รวมถึงเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าในกรณีสารเคมีรั่วไหล การทำงานบนที่สูง ในพื้นที่อับอากาศ พนักงานของเราต้องมีองค์ความรู้ในการรับมือ พวกเขาต้องฝึกและต้องทดสอบว่ารับมือได้จริงหรือไม่ ถ้าสอบไม่ผ่านก็ต้องซ่อมจนกว่าจะสอบผ่าน และต้องมีการฝึกทบทวนความรู้อย่างสม่ำเสมอ แน่นอนสิ่งสำคัญที่สุดคือพวกเขาต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง ความปลอดภัยถือเป็นหนึ่งในปรัชญาของเชฟรอน บางคนอาจมองว่าเป็นเพียงคำเท่ๆเก๋ๆ แต่แท้จริงแล้วมันจะติดตามชีวิตเราไปตลอด ไม่ว่าจะอยู่นอกหรือในการทำงานก็ตาม เรามักจะคำนึงถึงความปลอดภัยอยู่เสมอ” 

ไพโรจน์ ย้ำว่า เชฟรอนเป็นองค์กรที่รณรงค์เกี่ยวกับวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างเข้มข้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งทำการฝึกฝนให้พนักงานตระหนักและเกิดความเข้าใจในระบบการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัย คำนึงถึงความเสี่ยงในทุกๆ ขั้นตอนของการทำงาน รวมถึงมีการปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงานที่ปลอดภัย  โดยพนักงานและผู้บริหารทุกคนที่ต้องปฏิบัติงาน ณ แท่นผลิตกลางทะเล จะต้องผ่านการฝึกอบรมในเรื่องความปลอดภัย ณ ศูนย์เศรษฐพัฒน์ และ ERTC ทั้งยังต้องมีการฝึกทบทวนอยู่เสมอ เพื่อให้พร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะไม่เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเลยก็ตาม นอกจากการอบรมและฝึกฝนแล้ว ก็ต้องทำการตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ อยู่เสมอ ว่ามีความปลอดภัยและใช้งานได้จริง เพื่อจะสามารถป้องกันและรับมือได้หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นก็เพื่อทำให้ทุกๆ วัน พนักงานเชฟรอนจะได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย

“ประการสำคัญ เชฟรอนยังให้อำนาจพนักงานหยุดการทำงาน ในกรณีถ้าหากเขาเห็นว่าสถานการณ์นั้นไม่ปลอดภัย หรือไปเจอเพื่อนกำลังทำงานด้วยความไม่ปลอดภัย โดยเขาสามารถเดินเข้าไปทัก หรือเข้าไปแย้งได้ทันที เขาสามารถสั่งหยุดงานได้โดยที่เขาไม่ผิด แม้ว่าการสั่งให้หยุดของเขานั้นอาจทำให้การทำงานหรือการผลิตหยุดชะงักก็ตาม โดยรวมแล้วการปลูกจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัยให้พนักงานขึ้นอยู่กับหลายๆ องค์ประกอบ ทั้งยังต้องใช้ระบบมาตรฐานต่างๆ ระบบการตรวจสอบทุกอย่างหลอมรวมเข้ามา ในการสร้างวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ขณะที่ตัวเราเองซึ่งเป็นผู้บริหารก็ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างให้พนักงานเห็นว่า เราให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยจริงๆ”

สำหรับแนวทางการพัฒนาศูนย์เศรษฐพัฒน์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมในปัจจุบันและอนาคตนั้น ไพโรจน์ กล่าวว่า “เชฟรอนมีแผนนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการอบรมฝึกฝนบุคลากรให้มากยิ่งขึ้นด้วยยกตัวอย่างเช่น การสอนทางไกลผ่านสื่อออนไลน์ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งในความเป็นจริง ปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมที่นำเอาเทคโนโลยีล้ำสมัยและมีความก้าวหน้ามาใช้เป็นเวลานานแล้ว เช่น บิ๊กดาต้า หุ่นยนต์ ทั้งนี้ก็เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมองว่าเทคโนโลยีจะช่วยดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้สนใจเข้ามาร่วมทำงานกับเชฟรอนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย”