“คน-ผึ้ง-ป่า” ที่ บ้านไสใหญ่

“คน-ผึ้ง-ป่า” ที่ บ้านไสใหญ่

 

เริ่มจาก”พึ่งพา” สู่ “ยั่งยืน”

แม้จะเป็นชุมชนที่เกิดใหม่ในช่วง 50 ปี แต่ “บ้านไสใหญ่” ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ จ.ตรังในวันนี้ สามารถก้าวสู่การเป็นต้นแบบของชุมชนที่ปรับตัวสร้างความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่มุ่งสู่ความยั่งยืน และเป็นอีกหนึ่งในชุมชนที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทชุมชน ครั้งที่ 18 (พ.ศ. 2560-2561)

บ้านไสใหญ่ในวันวาน

“ป่าใส”ในภาษาถิ่นทางใต้ หมายถึง ป่าที่มีการถางทำไร่มาแล้ว และปล่อยทิ้งไว้จนมีไม้รุ่นใหม่เกิดขึ้น (ส่วนมากเป็นไม้เนื้ออ่อน) ได้กลายเป็นที่มาของคำว่า “บ้านไสใหญ่” ในวันนี้

บ้านไสใหญ่เป็นชุมชนใหม่ ที่เกิดจากชาวบ้านย้ายถิ่นฐานมาจาก อ.นาโยง จ.ตรัง  ที่เข้ามาจับจองผืนที่ทำกิน เมื่อประมาณปี 2518อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้เข้ามาใช้พื้นที่ป่าบริเวณชุมชนเป็นฐานที่มั่นในการต่อสู้กับอำนาจรัฐในสมัยนั้นทำให้ชาวบ้านต้องทิ้งหมู่บ้านและที่ทำกินออกไปโดยต่อมาก็มีชาวบ้านจาก จ.กระบี่ และ จ.นครศรีธรรมราช ย้ายเข้ามาสมทบกับชาวบ้านรุ่นแรก

“คน-ผึ้ง-ป่า” ที่ บ้านไสใหญ่

วันนี้ที่บ้านไสใหญ่

ปัจจุบันชุมชนมีการปรับตัวตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในหลายเรื่อง เช่น การปลูกไม้ผลแทรกในสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน เพื่อค่อยๆ ปรับสภาพจากเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรผสมผสาน และเลี้ยงสัตว์บริเวณรอบๆ บ้าน ซึ่งมีครอบครัวต้นแบบ 50 ครอบครัว จากทั้งหมด 182 ครัวเรือน สามารถสร้างรายได้อย่างน้อยวันละ 500 บาท

นอกจากนี้  ในปี 2557 ชุมชนได้รับการสนับสนุนอาชีพเลี้ยงผึ้งจากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ค้นพบว่าการรักษาป่าเชื่อมโยงกับปริมาณประชากรผึ้ง เนื่องจากในพื้นที่มีดอกไม้ป่าที่เป็นแหล่งอาหารของผึ้งอย่างดี ส่งผลให้เกิดผู้เลี้ยงผึ้ง 40 ครัวเรือน และได้รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงบ้านไสใหญ่

“คน-ผึ้ง-ป่า” ที่ บ้านไสใหญ่

โดยจากการบอกเล่าว่า ปริมาณน้ำผึ้งที่ได้แต่ละปี  ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและจำนวนดอกไม้ เช่น ในปี 2559 ได้น้ำผึ้งรวงถึง 3,000 ขวด สามารถจำหน่ายได้ในราคาขวดละ 500 บาท สร้างรายได้ 1,500,000 บาท กลุ่มเลี้ยงผึ้งยังปันรายได้เข้ากองทุนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม ขวดละ 5 บาท โดยเฉลี่ยได้ประมาณปีละ 15,000 บาท

นอกจากจะมีน้ำผึ้งเป็นวัตถุดิบแล้ว ยังมีกลุ่มอาชีพแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้ง เช่น สบู่ แชมพู ครีมนวดผม ยาหม่อง จึงได้มีการตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอวังวิเศษ

“คน-ผึ้ง-ป่า” ที่ บ้านไสใหญ่

วีรชน คนรักป่าต้นน้ำของแม่น้ำตรัง 

จากประสบการณ์ที่เคยเป็นฐานที่มั่นของ พคท. ทำให้คนในชุมชนบ้านไสใหญ่รู้จักการรับมือกับผู้บุกรุกป่า ประกอบกับมีผู้นำที่เด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง สร้างพลังมวลชนในชุมชนจนสามารถจับกุมผู้บุกรุกป่าและสามารถยึดคืนพื้นที่ป่าจำนวน 100 ไร่ได้

“ป่าต้นน้ำของแม่น้ำตรัง “ คือทรัพยากรที่ถูกชุมชนใช้ร่วมกันใน 5 ตำบล 68 หมู่บ้าน ใน อ.วังวิเศษ ที่ต่อมาในปี 2551 ชุมชนร่วมมือช่วยปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ที่ยึดคืนมาได้ และขยายผลไปสู่การรักษาป่ารอยต่อ 3 จังหวัด คือ ตรัง กระบี่และนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำตรัง 

แต่งานการขับเคลื่อนยังเดินหน้า และขยายผลไปสู่การร่วมดูแลพื้นที่ป่าประมาณ 14,600 ไร่ ซึ่งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์เขาประ-บางคราม ประมาณ 2,600 ไร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม ประมาณ 9,000 ไร่ และพื้นที่ของอุตสาหกรรมป่าไม้อ่าวตง ประมาณ 3,000 ไร่

โดยผืนป่ากว่าหมื่นไร่นี้เป็นป่ารอยต่อในเขตป่าเขานอจู้จี้ (เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม) ระหว่างจังหวัดตรังกับกระบี่ (อ.คลองท่อม) ซึ่งมีรายงานการพบสัตว์หายากที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ อาทิ นกแต้วแล้วท้องดำ  และค่างแว่นถิ่นใต้ 

นอกจากนี้ ในการเลี้ยงผึ้งยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการลดใช้สารเคมีและยาฆ่าหญ้า เนื่องจากโดยธรรมชาติรัศมีการหากินของผึ้งจะมีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ทำให้เขตป่ารอบชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมหลายแห่งไม่กล้าใช้สารเคมีด้วยต้องการระวังผลกระทบกับผึ้งที่เลี้ยงไว้ โดยเฉพาะในหน้าแล้งซึ่งเป็นฤดูกาลเก็บน้ำผึ้ง ที่มีกฎว่าห้ามเก็บผึ้งในป่าอย่างเด็ดขาด เพราะคนในชุมชนรับรู้ว่าการเก็บผึ้งในป่าจะเป็นการทำลายต้นไม้ในป่าด้วย

“คน-ผึ้ง-ป่า” ที่ บ้านไสใหญ่

“กลุ่มอนุรักษ์เกิดขึ้นจากการที่มีนายทุนเข้ามาบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ แล้วชุมชนพึ่งพากระบวนการของรัฐไม่ได้ จากความเดือดร้อนชุมชนจึงจัดชุดดูแลป่าขึ้นมาเองโดยใช้อำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านเพื่อดูแลพื้นที่ป่า 14,000 กว่าไร่ หลังจากนั้นเราเริ่มโยงมาสู่อาชีพของชุมชน ในพื้นที่ป่าของปักษ์ใต้จะมีผึ้งโพรงเป็นสัญลักษณ์ของป่าที่สมบูรณ์ จึงเกิดการก่อตั้งกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงขึ้นมา ซึ่งผึ้งจะมาจากป่าตามฤดูกาล ปัจจุบันเรามีทั้งหมด 1,520 รังที่แปลงเป็นรายได้ให้กับชุมชน เราใช้งบประมาณดูแลป่าจากชุมชนทั้งหมด วันนี้เราดูแลป่า ป่าก็ให้อาชีพกับชุมชน”

การรักษาป่าช่วยให้ประชากรผึ้งเพิ่มขึ้นและที่นี่ยังเป็นพื้นที่ป่ารอยต่อที่พบนกแต้วแล้วท้องดำ นกซึ่งอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์อาศัยอยู่แห่งเดียวในโลกวิถี ‘คน ผึ้ง ป่า’ ชุมชนบ้านไสใหญ่ จ.ตรัง รางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทชุมชน

“คน-ผึ้ง-ป่า” ที่ บ้านไสใหญ่

บ้านไสใหญ่กับธรรมนูญรักษาป่า

ชาวชุมชนยังมีการจัดทำข้อตกลงการอยู่ร่วมกันในรูปของ “ธรรมนูญหมู่บ้าน” เพื่อเป็นแม่บทในการบริหารจัดการป่าชุมชน ปิดการทำไม้ทุกชนิดในพื้นที่ป่าต้นน้ำ สร้างฝายกั้นน้ำเพื่อให้ป่าชุ่มชื้น

คณะกรรมการธรรมนูญหมู่บ้านบ้านไสใหญ่จำนวน 15 คน เป็นผู้ที่ทำหน้าที่เสมือนคณะบริหารงานและกำกับดูแลทุกเรื่องในหมู่บ้าน และยังมีคณะทำงานอาสาสมัครพิทักษ์ป่าบ้านไสใหญ่ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกิจกรรมอนุรักษ์จำนวน 20 คน ซึ่งมาจากการคัดเลือกชาวบ้านที่มีจิตอาสาและคัดสรรจากผู้นำชุมชน ที่เสียสละและมีความกล้าหาญเพราะต้องร่วมเสี่ยงที่จะลาดตระเวนกับหน่วยพิทักษ์ป่าร้อยชั้นพันวัง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ตง.3 (วังวิเศษ)เป็นประจำต่อเนื่องโดยไม่มีค่าตอบแทน

ต่อมาสามารถขยายผลด้านการจัดการป่าไปยังบ้านโตนชี และบ้านยูงงาม ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ และบ้านกลาง ต.วังมะปรางเหนือ อ.วังวิเศษ

ส่วนการเป็นวิทยากรเรื่องเลี้ยงผึ้งโพรง ชุมชนเองก็ขยายเครือข่ายไปยังหมู่ 1 ต.ท่าสะบ้า อ.วังวิเศษ, หมู่ 7 และหมู่ 8 ต.วังมะปรางเหนือ อ.วังวิเศษ, หมู่ 4 ต.เขาวิเศษ อ.วังวิเศษ, หมู่ 3, 4, 8, 9 และหมู่ 12 ต.อ่าวตง และนอกพื้นที่ จ.ตรัง

ผลจากการดำรงชีพด้วยการพึ่งพิงป่ากับชุมชน  และสามารถสร้างระบบการทำงานแบบการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ทำให้บ้านไสใหญ่ เป็นหนึ่งในชุมชนที่เข้มแข็ง พึ่งพาตนเอง และยังเป็นตัวอย่างในการขยายแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์ออกไปสู่ชุมชนภายนอกอีกด้วย