“ยังยิ้ม” พลังเล็ก เปลี่ยนโลก

“ยังยิ้ม” พลังเล็ก เปลี่ยนโลก

 

แม้เหตุการณ์ความรุนแรงจะยังไม่หมดไปจากปลายด้ามขวาน แต่อย่างน้อยก็มีเรื่องชื่นใจเมื่อได้ยินเรื่องราวการรวมตัวของเหล่าวัยรุ่นเพื่อสร้างพลังบวก ก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชุมชนได้ด้วยพลังเล็กๆ ในนามของกลุ่ม “ยังยิ้ม”ที่ล่าสุด ได้รับ“รางวัลลูกโลกสีเขียว”ประเภทกลุ่มเยาวชน ครั้งที่ 18 (พ.ศ. 2560 – 2561)

ย้อนหลังกลับไปราว 5 ปีที่แล้ว เมื่อ นูรฮีซาม บินมารุอดีตคุณครูที่ลาออกจากงานประจำ และเดินทางกลับมายังบ้านเกิด จ.นราธิวาส ในปี 2556เขาได้พบเห็นกลุ่มวัยรุ่นในหมู่บ้านจับกลุ่ม มั่วสุม เล่นเกมบ้าง ขี่มอเตอร์ไซค์ตระเวนไปทั่ว ส่งเสียงรบกวนชาวบ้านและชุมชน จนคิดว่า ปล่อยไว้แบบนี้คงไม่ดี จึงอยากจะชักชวนให้เด็กๆ หันมาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

เขาจึงนำเอาความรู้จากที่เคยมีโอกาสได้ร่วมทีมวิจัยนกเงือกในพื้นที่ป่าบูโดและป่าฮาลา-บาลา มาสร้างกิจกรรมให้กับวัยรุ่น เพื่อชักชวนมาร่วมเป็นจิตอาสา นักสื่อสารเรื่องราวธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยตั้งชื่อกลุ่มว่า “ยังยิ้ม” หรือ Young Smile ซึ่งมาจากคำว่า “Young” หมายถึง หนุ่มสาว และ “ยิ้ม” หรือ Smile หมายถึง หนุ่มสาวที่มีความสุข มีชีวิตด้วยการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อต่อกันดุจพี่น้อง และยังสามารถทำงานสร้างสรรค์ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ยังยิ้ม” พลังเล็ก เปลี่ยนโลก

จากเริ่มแรก มีเยาวชนจำนวน 8 คนเข้าร่วมกลุ่ม ก็เพิ่มจำนวนขึ้นจากการชักชวนเพื่อนๆ ในโรงเรียนมาร่วมกิจกรรม โดยหลักๆ เป็นนักเรียนจากโรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นราธิวาส โรงเรียนนอมาเนีย (มูลนิธิ) และโรงเรียนจริยธรรมวิทยา (มูลนิธิ) รวมกลุ่มกัน จนกระทั่งกลุ่มยังยิ้มมีสมาชิกเพิ่มเข้ามาอีกกว่า 60 คน และประเดิมงานแรกด้วยการจัดค่ายอาสา“ค่ายฮาลา-บาลา ยังยิ้ม พื้นที่นี้เรียนรู้ร่วมกัน” โดยร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ-ป่าฮาลา-บาลา จัดโครงการสำรวจและรวบรวมพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับป่าภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) และมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกไทย

กิจกรรม3 วันของการจัดค่ายในห้องเรียนธรรมชาติ เยาวชนได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติรอบตัว โดยเฉพาะป่าฮาลา-บาลา ที่พวกเขารู้จักมาตั้งแต่เกิดแต่กลับไม่รู้เรื่องของป่าแห่งนี้มากนัก โดยเฉพาะได้รับรู้ถึงความสำคัญในการมีอยู่ของ “นกเงือก” นักปลูกป่าแห่งภูผาสูง และเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของป่า เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องพฤติกรรมนกเงือก และใกล้ชิดธรรมชาติผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น ใบไม้แปลงกาย หน้าต่างใบไม้ เขียนจดหมายถึงต้นไม้ ทำบอร์ดธรรมชาติ นิทรรศการภาพถ่ายเป็นต้น

“ยังยิ้ม” พลังเล็ก เปลี่ยนโลก

หลังการจัดค่ายอาสาในครั้งแรกผ่านพ้นไปด้วยดี ก็นำไปสู่กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อาทิเช่น “ดูนก เดินป่า ศึกษาธรรมชาติ” โดยกลุ่มยังยิ้มเป็นแกนในการประสานงาน ชักชวนเยาวชนในโรงเรียนสังกัดอำเภอแว้ง รุ่นละ 40 คน เข้ามาทำกิจกรรมดังกล่าวรุ่นละ 40 คน (ต่อปี)เสริมด้วยกิจกรรม “ยังยิ้มสัญจรโรงเรียน”ที่ทำงานภายใต้แนวคิด “ร่วมเล่น เรียนรู้ แบ่งปัน”ผ่านกิจกรรมการเล่าประสบการณ์ของแกนนำเกี่ยวกับธรรมชาติ การฉายสารคดีธรรมชาติ นิทรรศการภาพถ่ายธรรมชาติ การนำภาพถ่ายทำโปสการ์ด ละคร “ยังยิ้ม ผู้พิทักษ์ป่าฮาลา-บาลา”

นอกจากกิจกรรมเพื่อเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ในอีกทางหนึ่ง กลุ่มยังยิ้ม ก็เห็นความสำคัญของการเรียนรู้รากเหง้าของตัวเอง จึงได้เกิดกิจกรรม “ตามรอยแว้งในความทรงจำ” เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนอำเภอแว้ง โดยช่วยกันสืบค้นข้อมูล บันทึกเหตุการณ์ ภาพถ่าย จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เสริมด้วยกิจกรรมจรรโลงวัฒนธรรม โดยแกนนำจะแยกไปทำกิจกรรมที่แสดงถึงอัตลักษณ์/ภูมิปัญญาของบ้านตนเอง เช่น แกนนำชุมชนบ้านสามแยก ต.กายูคละ อ.แว้ง แสดงตารีอีนาศิลปะโบราณซึ่งนับวันยิ่งหาดูได้ยาก

“ยังยิ้ม” พลังเล็ก เปลี่ยนโลก

ส่วน กลุ่มโรงเรียนชาวนา ชุมชนบ้านเจ๊ะเหม ต.แว้ง อ.แว้ง ที่เกิดขึ้นหลังจากผู้อาวุโสของชุมชนบ้านเจ๊ะเหมนำโดย มูฮัมหมัด บิง ประธานกลุ่มโรงเรียนชาวนาบ้านเจ๊ะเหม และแกนนำคนอื่นๆ ที่เคยผ่านความทุกข์ยากในยุคคอมมิวนิสต์ จึงต้องการให้ลูกหลานเรียนรู้การรับมือกับวิกฤตเรื่องอาหารการกินโดยได้จัดการอบรมและชักชวนคนในชุมชนมาช่วยกันฟื้นฟูนาร้าง ขยายผลไปสู่การรักษาป่าสาคู จัดค่ายห้องเรียนท้องทุ่ง

ด้วยแรงสนับสนุนของผู้ใหญ่ใจดี เด็กๆ จึงมีโอกาสทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะกลางอำเภอแว้ง (ลานหญ้าศาลามหาราช) ด้วยการจัดนิทรรศการภาพถ่าย “จากบาลา ถึง บานา” (บานา เป็นภาษามลายูถิ่น หมายถึง เมือง) กิจกรรมศิลปะ เช่น ระบายสีนกเงือก ทำหน้ากากสัตว์ เพ้นท์สีใบไม้ การฉายสารคดี “พินัยกรรมธรรมชาติ” ในช่วงค่ำ วงเสวนา “ฮาลา-บาลา ที่รัก” เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานรู้จักผืนป่าฮาลาบาลามากยิ่งขึ้น

สิ่งที่เริ่มต้นจากพลังซึ่งอาจดูไม่ยิ่งใหญ่ในช่วงแรก แต่เมื่อใดที่เกิดเป็นคลื่น ส่งแรงกระเพื่อมต่อๆ กันไป จากพลังเยาวชน หรือคนตัวเล็กๆ  ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างน่าจับตามอง เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ชุมชนและเครือข่าย ที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ซึ่งต่างก็ล้วนมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาหรือพัฒนา ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งต่อโลกที่น่าอยู่สู่รุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป