บีโอไอจัดสิทธิประโยชน์พิเศษดึงลงทุนพื้นที่ชายแดน SEZ

บีโอไอจัดสิทธิประโยชน์พิเศษดึงลงทุนพื้นที่ชายแดน SEZ

 

ภายใต้การดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ซึ่งรัฐบาลได้ตั้ง"เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ"(Special Economic Zone: SEZ) ด้วยการกำหนดพัฒนาบางส่วนของตำบลและอำเภอที่มีพื้นที่ติดชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านใน 10 จังหวัด ได้แก่ ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา เชียงราย หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส พร้อมกับดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงส่งเสริมการค้าและการลงทุนในพื้นที่ไปพร้อมกันด้วย

ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่ SEZ อย่างต่อเนื่อง บางพื้นที่มีความคืบหน้าไปมาก เช่น จังหวัดกาญจนบุรี สามารถคัดเลือกผู้ได้รับสิทธิ์จัดการพื้นที่เรียบร้อยแล้ว  

สำหรับบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนได้กำหนดสิทธิประโยชน์ที่บีโอไอจัดไว้ให้กับกิจการที่เข้าไปลงทุนในเขตSEZ ไว้อย่างชัดเจน และเป็นสิทธิประโยชน์มากกว่าการประกอบธุรกิจหรือลงทุนในพื้นที่ทั่วไปทั้งการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรรวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีประกอบด้วย

1. กิจการเป้าหมาย ซึ่งจะมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ขึ้นอยู่กับศักยภาพ และความต้องการของพื้นที่นั้น ๆ โดยหากเข้าไปลงทุนในพื้นที่ SEZ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี และได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี รวมเป็น 13 ปี แต่หากเป็นประเภทกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีอยู่แล้ว จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี

2. กิจการทั่วไปที่ไม่อยู่ในกลุ่มกิจการเป้าหมาย แต่อยู่บัญชีที่บีโอไอเปิดให้การส่งเสริม หากเข้าไปลงทุนในพื้นที่ SEZ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์ปกติ 3 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี และหากเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีอยู่แล้ว จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี

ทั้งนี้กิจการที่ลงทุนในพื้นที่ SEZจาก 2 กรณีดังกล่าวจะได้รับสิทธิหักลดหย่อนค่าขนส่ง ไฟฟ้า ประปา เป็น 2 เท่า เป็นระยะเวลา 10 ปี ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งนับว่าเป็นการผ่อนปรนพิเศษเฉพาะกิจการที่เข้าไปลงทุนในพื้นที่SEZ เท่านั้น  นอกจากนี้แม้ว่าในปัจจุบันนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ จะมุ่งเน้นสนับสนุนธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง มีการวิจัยและสร้างนวัตกรรม และสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นหลัก แต่ในกรณีที่มีกิจการที่ใช้แรงงานเป็นหลักและตั้งอยู่ใน SEZ ก็จะได้รับการสนับสนุนเป็นกรณีพิเศษอีกด้วย

กิจการลงทุนในพื้นที่ SEZ ยังได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษี เช่น การถือครองที่ดินของนักลงทุนต่างด้าว และการนำช่างฝีมือต่างด้าวมาทำงานเป็นต้น

นอกจากนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ของไทยจะได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขเป็นพิเศษเพื่อให้เกิดการลงทุนในพื้นที่SEZได้ง่ายขึ้น อาทิ ปรับลดเงินลงทุนในการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนให้เหลือเพียง 500,000 บาท ลดลงจากการลงทุนของกิจการทั่วไป ที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ 1ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) อนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ในโครงการได้โดยมีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท 

ทั้งหมดนี้เป็นสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ โดยผู้ที่สนใจจะต้องยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2563 

อย่างไรก็ตามนโยบายส่งเสริมให้เกิดการลงทุนใน SEZ ยังมีมาตรการจากหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการตัดสินใจเข้าไปลงทุนอีกมาก อาทิ สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการของกรมสรรพากรกระทรวงการคลัง (กรณีกิจการนั้นไม่เข้าข่ายประเภทกิจการที่บีโอไอเปิดให้การส่งเสริม) ซึ่งจะให้สิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เป็นเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชี สำหรับกิจการที่จัดตั้งใหม่ เป็นต้น

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บีโอไอ โทรศัพท์ 0 2553 8111  กด 1 ติดต่อ “ศูนย์บริการลงทุน” หรืออีเมล [email protected] หรือเดินทางมาติดต่อด้วยตนเองที่บีโอไอ ถนนวิภาวดีรังสิต (ในวันและเวลาราชการ)