TIJ จัดเวทีระดมสมองรับมืออาชญากรรมยุคดิจิทัล

TIJ จัดเวทีระดมสมองรับมืออาชญากรรมยุคดิจิทัล

 

ข่าวใหญ่ช่วงเดือนที่ผ่านมาว่าด้วยการฉ้อโกงเงินลงทุนที่ใช้สกุลเงินดิจิทัลยอดนิยมอย่าง "บิทคอยน์" ได้ปลุกสังคมไทยให้ได้ตระหนักว่า การทำธุรกรรมด้วย "เงินดิจิทัล" หรือที่เรียกว่า "คริปโตเคอร์เรนซี่" (Cryptocurrency) ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยอีกต่อไป

พัฒนาการของเทคโนโลยี ทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนที่เคยมีเงินประเภท "เหรียญ" หรือ "ธนบัตร" เป็นสื่อกลาง กำลังถูกลดบทบาทลง เช่นเดียวกับการทำธุรกรรมที่เคาเตอร์ธนาคาร เพราะทุกวันนี้เราสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการ โอนเงิน ชำระหนี้ หรือแม้แต่ลงทุนกันได้ง่ายๆ โดยผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์

กระทั่งปัจจุบันสังคมไทยและสังคมโลกก้าวสู่ยุค 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ สกุลเงินดิจิทัลกำลังเข้ามามีบทบาทแทน "เหรียญ" และ "ธนบัตร" แบบเดิมๆ ด้วยการทำธุรกรรมที่สะดวกง่ายดายยิ่งกว่าเดิมบนแพลตฟอร์มออนไลน์

"คริปโตเคอร์เรนซี่" จึงทลายข้อจำกัดทางการเงินเท่าที่เคยมี ไม่ใช่แค่การจับจ่ายถ่ายโอนเท่านั้น แต่การระดมทุนด้วยเหรียญดิจิทัล ที่เรียกว่า "ไอซีโอ" ก็เริ่มแพร่หลายไม่แพ้กัน

แต่ความสะดวก รวดเร็ว ง่ายดายแบบไร้ข้อจำกัด ก็กลายเป็นช่องทางที่เปิดโล่งให้บรรดาอาชญากรฉวยโอกาสใช้ในการประกอบอาชญากรรมได้เช่นกัน และประเทศไทยก็ไม่สามารถหลีกพ้นแนวโน้มที่กำลังเป็นอยู่นี้ โดยสัญญาณเตือนมีมาก่อนแล้ว ไม่ใช่แค่การหลอกลวงให้ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลชื่อดังอย่างที่เป็นข่าวล่าสุด แต่เมื่อปีก่อนไทยกับสหรัฐยังร่วมมือกันจับกุมผู้ดูแลเว็บไซต์ Alphabayซึ่งเป็นเว็บตลาดมืด (Darknet website) สำหรับซื้อขายยาเสพติดและสินค้าผิดกฎหมายขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันการซื้อขายบนเว็บตลาดมืด ร้อยละ 80 เป็นการซื้อขายยาเสพติด โดยใช้
"คริปโตเคอร์เรนซี่" ในการทำธุรกรรม ฉะนั้นปัญหานี้จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ (Thailand Institute of Justice) ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม หรือ UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก จัดสัมมนาเชิงวิชาการในหัวข้อ "ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการต่อต้านอาชญากรรมในยุคดิจิทัล: อาชญากรรมกับ Cryptocurrency" โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการเงินการธนาคาร เทคโนโลยี และกระบวนการยุติธรรม มาร่วมระดมสมอง เปิดมุมมอง และหาทางออกที่สร้างสรรค์ในด้านการต่อสู้รับมือกับอาชญากรรมโดยอาศัยเงินดิจิทัลที่มีแนวโน้มเกิดมากขึ้นในอนาคตอันใกล้

ข้อมูลที่ได้จากเวทีสัมมนาพบว่า จุดเด่นของ "คริปโตเคอร์เรนซี่" คือการทำธุรกรรมโดยไม่มีต้นทุน ไม่มีศูนย์กลางควบคุมการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ และให้ความเป็นส่วนตัวแก่ผู้ใช้งานโดยไม่ต้องระบุตัวตน มีเพียงบันทึกประวัติธุรกรรมการเงินที่เปิดสาธารณะเท่านั้น 

แต่จุดเด่นของ "คริปโตเคอร์เรนซี่" ได้กลายเป็นปัจจัยดึงดูดกลุ่มอาชญากรให้ฉวยโอกาสจากช่องทางที่เปิดกว้างเหล่านี้ในการก่ออาชญากรรม ธุรกิจผิดกฎหมายทุกประเภทสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองและเติบโตอย่างแข็งแกร่งเพราะใช้ช่องทาง "คริปโตเคอร์เรนซี่" ในการระดมทุน การซื้อขายอาวุธของกลุ่มก่อการร้าย และใช้เป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรมไซเบอร์ เพราะผู้กระทำมีความเสี่ยงน้อยที่จะถูกจับ เนื่องจากไม่ต้องระบุตัวตน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนา บอกว่า การรับมือกับอาชญากรรมที่เกิดจาก "คริปโตเคอร์เรนซี่" ถือว่าท้าทายมากๆ สำหรับประเทศไทย เพราะแม้ที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้ว 2 ฉบับ คือ พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 เพื่อกำกับและควบคุมการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับการระดมทุนหรือซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี่ และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2561 เพื่อจัดเก็บภาษีเงินได้จากคริปโตเคอร์เรนซี่เป็นการเฉพาะก็ตาม

ทว่ามาตรการทางกฎหมายยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการปรับสมดุลระหว่างเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ กับการกำกับดูแลโดยภาครัฐเท่านั้น ยังไม่ได้ก้าวข้ามไปสู่การวางมาตรการการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เป็นผลข้างเคียงจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการเงิน

ความท้าทายในมิติของการยกระดับกระบวนการยุติธรรมเพื่อรับมือกับปัญหา สอดรับกับทัศนะของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ ที่บอกว่า TIJ ได้ร่วมมือกับ UNICRIในฐานะผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ และพบข้อมูลตรงกันว่า ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ความเข้าใจและทักษะเฉพาะเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่อาชญากรใช้ในการก่ออาชญากรรม ตลอดจนเทคโนโลยีที่จะช่วยในกระบวนการสืบสวนสอบสวน การรวบรวมหลักฐานดิจิทัล และการติดตามการกระทำความผิดบนโลกออนไลน์ไร้พรมแดน รวมถึงการนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้อย่างจริงจังเพื่อให้เท่าทันกับอาชญากรรมสมัยใหม่

"TIJ ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงความจำเป็นที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยจะต้องเร่งพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาชญากรรมและเทคโนโลยี ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายได้ตระหนักตรงกันแล้ว โดยในการประชุม  Crime Congress (การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา) สมัยที่ 14 ในปี 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น ก็จะมีประเด็นนี้เป็นประเด็นนำและเร่งด่วนที่รัฐบาลของทุกประเทศต้องหันมาให้ความสำคัญ" ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ ระบุ

สำหรับข้อสรุปเบื้องต้นที่ได้จากเวทีสัมมนาก็คือ การสร้าง "ดุลยภาพ" ระหว่างการกำกับดูแลคริปโตเคอร์เรนซี่ผ่านกฎระเบียบที่ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป มีช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของธุรกรรมได้เมื่อเกิดอาชญากรรมขึ้น รวมทั้งต้องสร้าง "ภูมิคุ้มกันทางความคิด" ที่เรียกว่า Digital Intelligence ให้กับประชาชน ไม่ให้หลงเชื่อกับคำชักชวนเกินจริงด้วยมูลค่าของเงิน จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อการล่อลวง

และสิ่งสำคัญที่สุดย่อมหนีไม่พ้นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่รับมือกับอาชญากรรมที่เปลี่ยนรูปแบบไปอย่างรวดเร็วนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีกรณีตัวอย่างของตำรวจออสเตรเลีย ที่ใช้เทคโนยี Blochainเปิด wallet กลางเพื่อถ่ายโอนเงินดิจิทัลของกลางจากผู้ต้องสงสัยเข้า wallet ของตำรวจทันที พร้อมทั้งมีหน่วยงานที่ปรึกษาทางเทคนิคให้การสนับสนุนการทำคดีด้วย

การขับเคลื่อนในเรื่องนี้สอดคล้องกับแผนงานของ TIJ ที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ บอกว่า กำลังผลักดันในระดับนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย TIJ จะทำการศึกษาวิจัยในเชิงลึกถึงความเป็นไปได้ของการนำกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยทั้งระบบขึ้นสู่แพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ และการนำ blockchainมาใช้กับการบันทึกข้อมูลหลักฐานดิจิทัลในคดีอาญา ตลอดจนการยืนยันอัตลักษณ์บุคคล และการจัดหลักสูตรฝึกอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง

บทสรุปสุดท้าย นอกจากการรู้เท่าทันเทคโนโลยีแล้ว ยังต้องสร้างกติกาและวางมาตรการควบคุมการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ยืนอยู่บนหลักนิติธรรม และอำนวยความยุติธรรมได้จริงในสังคมยุคดิจิทัล