ธุรกิจไต้หวันชูโซลูชั่นคมนาคมอัจฉริยะ

ธุรกิจไต้หวันชูโซลูชั่นคมนาคมอัจฉริยะ

 

“ปัญหารถติด” ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่หลายเมืองใหญ่ทั่วโลก รวมถึงกรุงเทพมหานครยังแก้ไขไม่ได้สักที แต่ล่าสุดเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ หลังธุรกิจไต้หวันชูนวัตกรรมสุดล้ำหวังช่วยบรรเทาปัญหารถติดที่คนเมืองต้องเผชิญทุกวัน และเพิ่มความปลอดภัยให้กับระบบขนส่งในอนาคตอันใกล้

ธุรกิจไต้หวันชูโซลูชั่นคมนาคมอัจฉริยะ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “TaiwanExcellence” สัญลักษณ์รับรองคุณภาพและนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมของผลิตภัณฑ์ไต้หวัน จัดงานสัมมนาเกี่ยวกับความรู้ธุรกิจด้านนวัตกรรมการคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ TaiwanExcellence Smart Transportation Forum เพื่อส่งเสริมและแนะนำนวัตกรรมเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำจากไต้หวัน ในการพัฒนาการคมนาคมขนส่งในประเทศไทยให้ก้าวสู่ระบบอัจฉริยะอย่างสมบูรณ์แบบในอนาคตในงานไต้หวันเอ็กซ์โป ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

งานสัมมนานี้จัดขึ้นร่วมกันโดยสภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกไต้หวัน กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน และศูนย์ส่งเสริมการค้ารัฐบาลไต้หวัน โดยมีพิธีกรชื่อดัง พีเคปิยะวัฒน์ เข็มเพชร เป็นผู้ดำเนินรายการ และได้รับเกียรติจาก วอลเตอร์เย่ รองประธานบริหารสภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกไต้หวัน เป็นผู้กล่าวเปิดงาน 

ธุรกิจไต้หวันชูโซลูชั่นคมนาคมอัจฉริยะ

ผู้เข้าร่วมงานยังได้ร่วมรับฟังข้อมูลที่น่าสนใจด้านการพัฒนาคมนาคมขนส่งของไทยสู่ระบบอัจฉริยะ โดยศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ได้รับการประกาศเกียรติคุณ ไอเซนฮาวร์เฟลโลว์ชิพ ในฐานะผู้นำยุคใหม่ด้านวิศวกรรมเทคโนโลยีจากมูลนิธิประธานาธิบดีดไวท์ ไอเซนฮาวร์ของสหรัฐ

ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน หลายเมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังประสบปัญหาการจราจรแออัดและประชากรหนาแน่น นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว ยังรวมถึงกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย และกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ ขณะเดียวกัน ผลสำรวจล่าสุดยังพบว่า เมืองที่มีประชากรเกิน 1 ล้านคนมีอยู่ 476 เมืองทั่วโลก เพิ่มขึ้น 573% เทียบกับปี 2493 ที่มีเพียง 83 เมืองเท่านั้น

โซลูชั่นคมนาคมอัจฉริยะ

การนำเสนอเทคโนโลยีอันชาญฉลาดจากบรรดาบริษัทไต้หวันชั้นนำ ครอบคลุมถึงเรื่องระบบควบคุมการจราจร โซลูชั่นการเดินทางสมาร์ทบัส มาตรการความปลอดภัยบนท้องถนน และการใช้ซอฟต์แวร์ในระบบขนส่งเพื่อการคมนาคมอัจฉริยะ

ดร.เชง-ฟาง โล ประธานกรรมการ บริษัทจีโอแซท แอโร่สเปซแอนด์ เทคโนโลยี นำเสนอนวัตกรรมโดรนเชิงพาณิชย์เพื่อเมืองอัจฉริยะ โดยบอกว่า อากาศยานไร้คนขับที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและสามารถใช้ในการบริหารจัดการและติดตามภัยพิบัติ ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ท่อแก๊สระเบิดในเมืองเกาสง และการตรวจวินิจฉัยและบำบัดโรคในนิคมน้ำมันปาล์มในมาเลเซีย

“นวัตกรรมโดรนเริ่มมีบทบาทในภารกิจกู้ภัยในพื้นที่ภัยพิบัติ โดยสามารถใช้ประเมินความเสียหายได้อย่างทันท่วงทีและครอบคลุมด้วยภาพถ่ายจากมุมสูง เอื้อให้เกิดการกลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”

ดร.เชง เผยว่า ขณะนี้ โดรนเชิงพาณิชย์มีตลาดหลักคือ โดรนผู้บริโภค เช่น ใช้ถ่ายรูปและคลิปวีดิโอ รวมถึงภาคการก่อสร้าง เช่น ใช้จำลองแบบ 3 มิติ และภาคเกษตรกรรม เช่น ใช้พ่นยาฆ่าแมลงและเฝ้าระวังผลผลิต ขณะที่ในไต้หวัน นิยมใช้โดรนในการวิเคราะห์ปริมาณการจราจร

นิคม เดชขุนทด ผู้จัดการฝ่ายขายลูกค้าองค์กรใหญ่ บริษัทแอ็ดวานซ์เทค ประเทศไทย นำเสนอเหตุผลและช่วงเวลาที่เหมาะสมในการยกระดับซิตี้บัส ด้วยระบบการออกตั๋วและระบบจัดการรถอัจฉริยะ 

“การเปลี่ยนแปลงการคมนาคมอัจฉริยะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก ภาคส่วนอุตสาหกรรมทั้งหมดต่างต้องการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี บริษัทแอ็ดวานซ์เทคสามารถตอบโจทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรามีโซลูชั่นในการบริหารจัดการรถบัสขนส่งที่สามารถควบคุมรถบัสได้หลายพันคัน ไม่เพียงแค่ระบบการออกตั๋ว แต่ครอบคลุมการบริหารจัดการทั้งหมดเต็มรูปแบบเพื่อมอบการบริการที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้าชาวไทย และการันตีได้ถึงความปลอดภัยและระบบการจัดการที่มีประสิทธภาพอย่างแท้จริง”

ธุรกิจไต้หวันชูโซลูชั่นคมนาคมอัจฉริยะ

ไรอัน ชู ผู้จัดการอาวุโส จากบริษัทฟอร์เวิร์ด อิเล็กทรอนิกส์ นำเสนอประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยี V2X หรือ Vehicle-to-everything โดยกล่าวว่า ด้วยการใช้ระบบการสื่อสารทางใกล้ หรือที่เรียกว่าโซลูชั่น DSRC ยานพาหนะสามารถเชื่อมต่อสื่อสารกับยานพาหนะอื่น สัญญาณไฟจราจร สัญญาณสำหรับคนข้ามถนน หรือติดต่อสื่อสารกับรถฉุกเฉิน ความสามารถในการเชื่อมต่อนี้สามารถช่วยลดอุบัติเหตุ ลดปัญหารถติด รวมถึงยิ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบคมนาคมอัจฉริยะที่ดียิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้

อนันต์ อินทร์ทรง กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอคเซียมเทค ประเทศไทย นำเสนอโซลูชั่นเทคโนโลยีเฝ้าระวังความปลอดภัยคมนาคมอัจฉริยะ เช่น ระบบสอดส่อง ระบบชำระเงิน และข้อมูลผู้โดยสาร

นอกจากนั้น เขายังนำเสนอผลิตภัณฑ์ tBOX500-510-FL กล่องคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยประกอบด้วยระบบไร้ใบพัดที่ทรงพลัง มาพร้อมคุณสมบัติในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ I/O Modules เพื่อการควบคุมติดตามระยะไกล ที่จะสามารถตอบโจทย์หลากหลายความท้าทายที่พบเจอในการคมนาคมขนส่ง

มุมมองต่อตลาดไทย

นิคม กล่าวว่า การนำผลิตภัณฑ์ของแอ็ดวานซ์เทคมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยไม่น่าจะลำบากนัก เพราะผลิตภัณฑ์ของบริษัทประสบความสำเร็จมาแล้วในตลาดต่างประเทศ

ด้านไรอัน ชู เผยว่า การดำเนินการในไทยช่วงแรกอาจต้องใช้ต้นทุนจำนวนมาก เนื่องจากแม้ฟอร์เวิร์ด อิเล็กทรอนิกส์จะเป็นที่รู้จักกว้างขวางในไต้หวัน แต่ขณะนี้ยังมีชื่อเสียงไม่มากนักในตลาดนี้ ขณะเดียวกัน ความต้องการระหว่าง 2 ตลาดยังแตกต่างกัน ตลาดประเทศไทยต้องการแก้ปัญหาจราจรแออัด ส่วนไต้หวันมุ่งเน้นความปลอดภัยของการจราจร

อนันต์ ระบุว่า อุปสรรคสำหรับตลาดประเทศไทยคือทำอย่างไรให้คนเข้าใจถึงความสะดวกจากเทคโนโลยีของแอคเซียมเทค เมื่อผู้บริโภคเข้าใจก็จะเป็นโอกาสสำหรับบริษัทในการเดินหน้าธุรกิจ

ธุรกิจไต้หวันชูโซลูชั่นคมนาคมอัจฉริยะ

นอกจากนั้น งานสัมมนา TaiwanExcellence Smart Transportation Forum ยังเปิดให้ผู้ร่วมงานสามารถเข้าเยี่ยมชมโซนผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมจากไต้หวัน TaiwanExcellence และโซนอื่น ๆ ในงานไต้หวันเอ็กซ์โป 2018 ไม่เพียงได้สำรวจนวัตกรรมสินค้าไฮเทคและไลฟ์สไตล์จากไต้หวันอันโดดเด่นที่มีความหลากหลายตอบโจทย์ได้ทุกอุตสาหกรรม แต่ยังได้รับรู้ข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่าจากอุตสาหกรรมของไต้หวันที่สามารถเอื้อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง