Ben van Berkel แห่ง UNStudio เปิดตัว The W.I.N.D. House

Ben van Berkel แห่ง UNStudio เปิดตัว The W.I.N.D. House

Ben van Berkel แห่ง UNStudio เปิดตัว The W.I.N.D. House ผลงานจากการต่อยอดแนวคิดสมาร์ทโฮม


ก่อนหน้านี้ ‘บ้านแห่งอนาคต’ เป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจที่มีอยู่ในนิทรรศการระดับโลกและนิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ปัจจุบันได้ใกล้เป็นความจริงขึ้นเรื่อยๆ ระบบอัตโนมัติและการเชื่อมต่อได้ทำให้สมาร์ทโฮม (Smart Home) หรือบ้านอัจฉริยะ สามารถหลอมรวมเข้ากับเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่งผลให้เกิดความสะดวกสบาย ประสิทธิภาพด้านพลังงาน ความปลอดภัย และสวัสดิภาพมากขึ้น



Ben van Berkel กล่าวว่า “ความท้าทายด้านการออกแบบของบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยวสมัยนี้คือ ผลตอบรับที่สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงระดับของความยืดหยุ่น ความยั่งยืน และระบบอัตโนมัติ ที่กำหนดโดยผู้อยู่อาศัย และการผนวกรวมสิ่งเหล่านี้เข้าไปกับแนวคิดการออกแบบโดยรวม”


The W.I.N.D. House ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเนเธอร์แลนด์ ประกอบด้วยโซลูชั่นความยั่งยืนและระบบบ้านอัตโนมัติ อีกทั้งยังมีการใช้พื้นที่ใช้สอยอย่างยืดหยุ่น บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บริเวณรอบนอกของหมู่บ้านชาวดัทช์แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับทะเล พื้นที่หลังบ้านแวดล้อมไปด้วยต้นไม้ และหน้าบ้านมีภูมิทัศน์เป็นพื้นที่ลุ่มเปิดโล่งสุดลูกหูลูกตา การออกแบบบ้านหลังนี้สามารถตอบโจทย์ทั้งในแง่ทำเลที่ตั้งและฤดูกาล ส่วนพื้นที่ทำงานและห้องนอนมีความเป็นส่วนตัวมากกว่าเดิมและจัดวางตำแหน่งโดยหันเข้าทางด้านหลังบ้านที่มีแมกไม้ปกคลุม จึงทำให้ได้บรรยากาศความเป็นส่วนตัว ขณะที่บริเวณห้องนั่งเล่นสามารถชื่นชมวิวทิวทัศน์แบบพาโนรามาของภูมิทัศน์แบบที่ลุ่มจากพื้นที่ด้านหน้าบ้านได้


รูปแบบการไหลเวียนแบบหอยโข่ง (Centrifugal circulation)

พื้นที่ห้องนั่งเล่นแบบเปิดที่ได้รับการยกพื้นขึ้น ทำให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพด้านนอกได้เป็นอย่างดี ในส่วนของด้านหน้าบ้าน 4 ด้านนั้น แต่ละด้านจะโค้งเข้าด้านในเพื่อให้ปีกอาคารอยู่ในลักษณะที่เหมือนกลีบดอกไม้และมีความโดดเด่น แนวโค้งดังกล่าวนี้เมื่อมองด้วยตาจะเห็นว่าเชื่อมติดกันไปจนสุดซึ่งจะตัดไปที่ใจกลางของบ้านพอดี การจัดระบบแบบแนวตั้งเป็นไปตามหลักการการแยกชั้นต่างๆในรูปแบบหอยโข่ง ขณะที่บันไดแบบโปร่งตรงกลางบ้านเชื่อมพื้นที่ด้านหน้าและปีกด้านหลังบ้าน


ระบบอัตโนมัติและการบริหารจัดการพลังงาน

ระบบบ้านอัตโนมัติที่ครอบคลุมรอบด้าน จะสามารถควบคุมระบบไฟฟ้าได้แบบองค์รวม อาทิ แผงโซลาร์เซลล์ และการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ การควบคุมที่ครบถ้วนของ ‘บ้านอัจฉริยะ’ เกิดขึ้นได้ด้วยหน้าจอแบบทัชสกรีนในพื้นที่ส่วนกลางบริเวณห้องนั่งเล่น นอกจากนี้ ผู้อยู่อาศัยยังสามารถควบคุมระบบต่างๆได้จากระยะไกล โดยใช้อุปกรณ์ผ่านทางการเชื่อมต่อของเครือข่าย LAN แนวคิดของความยั่งยืนแบบบูรณาการของบ้านหลังนี้ ประกอบด้วย เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำน้ำร้อนแบบปั๊ม การระบายอากาศแบบเครื่องกล ระบบทำความร้อนจากของเสียทิ้งแล้วกลับมาใช้ใหม่ และแผงโซลาร์เซลล์