TPP กับข้อวิตกของภาคปศุสัตว์ไทย

TPP กับข้อวิตกของภาคปศุสัตว์ไทย

เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก กับ 12 ประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ ทำให้บางฝ่ายกังวลว่าไทยจะสูญเสียมูลค่าการค้า



แม้ว่าไทยจะยังอยู่นอกกลุ่ม ทีพีพี (TPP) หรือความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก  กับ 12 ประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ ทำให้บางฝ่ายกังวลว่าไทยจะสูญเสียมูลค่าการค้ากับกลุ่มประเทศสมาชิก โดยเฉพาะสหรัฐฯที่เป็นประเทศเป้าหมายที่ไทยมีความพยายามในการขยายการค้ามาตลอด

ในมุมของสินค้าอุตสาหกรรมเราอาจจะเล็งผลบวก แต่มุมของสินค้าเกษตรยังมีการกล่าวถึงเพียงเล็กน้อยว่าจะได้หรือเสียประโยชน์อย่างไรกับการเข้ารวมกลุ่มการค้าเสรีนี้ ซึ่งภาครัฐต้องไม่ลืมว่ายังมีภาคส่วนที่ขาดความสามารถในการแข่งขันที่เห็นได้ชัดของไทย คือ “ภาคปศุสัตว์” ที่อาจต้อง “เสียที” ให้กับชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่พยายามผลักดันสินค้าปศุสัตว์ราคาถูกของตนเองเข้ามาในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทย

ตัวอย่างที่เป็นบทเรียนอย่างเด่นชัด คือเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ที่มีประสบการณ์ตรงมาแล้ว จากการดั๊มพ์ราคาสินค้าของสหรัฐ โดยเฉพาะเวียดนามเมื่อปี 2556 เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจำนวนมากต้องล้มละลายจากการเปิดนำเข้าชิ้นส่วนที่เหลือทิ้งไม่เป็นที่ต้องการบริโภคของคนอเมริกันถูกส่งเข้าไปในราคาต่ำกว่าราคาที่ผลิตได้ในประเทศ  เกษตรกรในประเทศไม่สามารถสู้ราคาได้จำต้องเลิกกิจการไปในที่สุด

แม้วันนี้เวียดนามจะตกลงร่วมเป็นสมาชิกแล้วก็ตาม แต่ประสบการณ์อันเลวร้ายที่ผ่านมา ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าเวียดนาม นายวู ฮุย ฮวง มีความกังวลอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในประเด็นที่ประเทศสมาชิก TPP ต้องปรับลดภาษีนำเข้าเนื้อสัตว์ลง 15-40%

นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นประเทศที่มีต้นทุนการผลิตสัตว์สูง เนื่องจากต้องพึ่งพาการนำเข้า โดยเฉพาะต้นทุนอาหารสัตว์ ที่ต้องนำเข้าถึง 11 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 70% ของอาหารสัตว์ที่ใช้ทั้งหมด และมีมูลค่ามากถึง 3 พันล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน การผลิตหมูในเวียดนามยังเป็นฟาร์มขนาดเล็กและประสิทธิภาพการผลิตที่ไม่ดีนัก ทำให้ต้นทุนสูง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่หมูเวียดนามจะสามารถแข่งขันกับหมูนำเข้าจากประเทศสมาชิก TPP อย่างสหรัฐฯและออสเตรเลีย อีกทั้งปัจจุบันนี้ก็มีสินค้าเนื้อสัตว์นำเข้าจากทั้งสหรัฐ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น วางขายอยู่ทั่วเวียดนาม และนับวันจะได้รับความนิยมจากชาวเวียดนามมากขึ้น เพราะมีมาตรฐานการผลิตสูง ขณะที่ราคาสินค้าต่ำกว่าผู้ผลิตท้องถิ่น เรื่องนี้จึงกลายเป็นข้อกังวลที่สำคัญของเกษตรกรเวียดนาม

สำหรับภาคปศุสัตว์ไทยก็มีความวิตกกังวลไม่ต่างกัน นายสุรชัย  สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยกตัวอย่างการล้มละลายของเกษตรกรเวียดนามจากการเปิดนำเข้าหมูจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก จึงไม่อยากให้เกษตรกรไทยต้องซ้ำรอยหากไทยเป็นสมาชิก TPP ในอนาคต ซึ่งถือเป็นการทำลายอุตสาหกรรมหมูทั้งระบบ

“สหรัฐฯถือเป็นผู้ผลิตหมูรายใหญ่ของโลก ซึ่งก่อนหน้านี้มีความพยายามในการส่งออกเนื้อหมูและเศษเหลือจากการบริโภค หรือ by product ทั้งเครื่องใน หัว ขา เข้ามาขายในไทยในราคาถูก โดยใช้มาตรการทางการค้ามากดดัน แต่ผู้เลี้ยงทุกคนไม่ยอมให้หมูสหรัฐฯที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างเสรี เข้ามาขายปะปนกับหมูไทยที่ไม่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย ที่สำคัญเกษตรกรไทยก็ผลิตหมูได้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ไม่ขาดแคลน สิ่งที่เราควรทำคือการผลักดันการส่งออกเนื้อหมูไทย แทนการนำเข้าเนื้อหมูไม่ว่าจากสหรัฐฯหรือประเทศใดๆก็ตาม” นายสุรชัย กล่าว

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ บอกอีกว่า โดยส่วนตัวแล้วมองว่าภาครัฐต้องศึกษาอย่างละเอียด ไม่ควรผลีผลาม ตัดสินใจเข้าร่วมอยู่ในข้อตกลง TPP  และมองว่าหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ภายในสิ้นปีนี้แล้ว ไทยควรเดินหน้า ASEAN+6 (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือ RCEP ที่มีสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ซึ่งจำนวนประชากรในกลุ่มนี้มีมากกว่า 3,500 ล้านคน หรือคิดเป็น 50% ของประชากรโลก มีมูลค่า GDP ถึง 22.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน GDP มากกว่า 29% ของโลก

“RCEP เป็นอนาคตของไทยและประเทศในภูมิภาคที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มในการลงทุนและการทำการค้า ให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นได้ ที่สำคัญประชากรในกลุ่มนี้ก็มีความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของไทยที่เป็นผู้ผลิตสินค้าปศุสัตว์เป็นแนวหน้าในภูมิภาคอยู่แล้ว” นายสุรชัย ย้ำ

ด้าน นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี ย้ำชัดว่าสมาคมฯ ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมกลุ่ม TPPเนื่องจากที่ผ่านมาสหรัฐฯ มีความพยายามในการส่งหมูราคาถูกเข้ามาขายในประเทศไทยมาตลอด ดังจะเห็นได้จากการใช้มาตรการทางการค้าและอ้างเงื่อนไขของคณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ CAC ของโคเด็กซ์ (Codex) มากดดันไทย ให้เปิดรับหมูสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้เกษตรกรสามารถใช้ แร็กโตพามีน (Ractopamine) ซึ่งเป็นหนึ่งในสารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้า-อะโกนิสต์ (B-Agonist) ที่เป็นสารก่ออันตรายกับมนุษย์ได้อย่างเสรี ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย ประกาศห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเบต้า-อะโกนิสต์ เป็นส่วนผสมในการผลิตและนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์ ตามพรบ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์มาตั้งแต่ พ.ศ.2525 และพรบ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากสารนี้ที่ตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์

“หากไทยตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่ม TPP สิ่งที่ผู้เลี้ยงหมูทุกคนพยายามป้องกันหมูสหรัฐฯที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงไม่ให้เข้ามาทำร้ายผู้บริโภคชาวไทยมาตลอดก็สูญเปล่า เพราะสหรัฐฯต้องใช้มาตรการและเงื่อนไขทางการค้าอย่างอื่นมากดดันให้ไทยต้องเปิดนำเข้าหมูอย่างแน่นอน ในที่สุดคนไทยก็ต้องบริโภคหมูที่มีสารก่ออันตรายต่อสุขภาพ” นายพิพัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ หากหมูสหรัฐถูกส่งเข้ามาเขย่าฐานอุตสาหกรรมหมูของไทย จะทำให้มีเนื้อหมูจำนวนมากทะลักเข้ามาแข่งขันกับสินค้าในประเทศ ทำให้กลไกอุปสงค์-อุปทานแกว่งอย่างหนัก ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยจะได้รับผลกระทบก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการผลิตและการตลาดได้ เมื่อราคาตลาดต่ำก็จะถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ที่สุดแล้วเกษตรกรก็จะอยู่ไม่ได้ในธุรกิจนี้ ทำให้ห่วงโซ่การผลิตเสียหายจนไม่สามารถประเมินค่าได้
ทางด้าน นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมฯมีความเห็นว่า รัฐบาลควรศึกษาผลกระทบของ TPP อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่และปศุสัตว์ไทย ที่จะได้รับผลกระทบจากการดั๊มพ์ตลาดจาก by product ของสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าปศุสัตว์รายใหญ่ของโลก ทั้งอุตสาหกรรมไก่เนื้อและอุตสาหกรรมหมู

“เกษตรกรไทยมีความสามารถในการผลิตสินค้าปศุสัตว์ได้อย่างเพียงพอต่อการบริโภคของคนไทย ดังนั้นการที่สมาชิก TPP สามารถส่งออกสินค้าปศุสัตว์ได้โดยเสรี จะทำให้มีสินค้านำเข้ามาตีตลาดสินค้าไทย จนเกิดปัญหาล้นตลาด และเกิดความเสียหายต่อภาคปศุสัตว์ทั้งระบบ ดังเช่นที่เกิดกับเกษตรกรเลี้ยงหมู-เลี้ยงไก่ของเวียดนามและฟิลิปปินส์”

นางฉวีวรรณ บอกอีกกว่า ปัจจุบันไทยมีภาษีนำเข้าคุ้มครองเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่อยู่ที่อัตราร้อยละ 30 หากไทยตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่ม TPP ในอนาคต เชื่อว่าสินค้า by product ราคาถูกจากสหรัฐฯ จะเข้ามาดั๊มพ์ราคาในประเทศไทยอย่างแน่นอน ขณะที่ไทยยังไม่มีมาตรการอื่นมารองรับ ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าปศุสัตว์ของไทยตกต่ำ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่และเกษตรกรในภาคปศุสัตว์ทั้งระบบ ต้องประสบกับภาวะขาดทุนและเป็นหนี้สิ้นเนื่องจากมีการลงทุนไปแล้ว จนต้องเลิกกิจการไปเหมือนเกษตรกรประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เมื่อไม่มีเกษตรกรเลี้ยงไก่ ก็จะขาดตลาดรองรับพืชผลทางการเกษตรที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์ ก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างต่อเกษตรกรไทย

สำหรับ นายวีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ มีความเป็นห่วงเช่นเดียวกันว่า หากไทยเข้าร่วมกลุ่ม TPP เชื่อว่าสินค้าไก่ของสหรัฐฯ ที่มีต้นทุนการเลี้ยงไก่ต่ำกว่าไทย เนื่องจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งถั่วเหลืองและข้าวโพดมีราคาถูกกว่า จะทะลักเข้ามาในไทย ทำให้สินค้าล้นตลาด เกษตรกรก็ต้องขาดทุน และสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยทั้งหมด จึงขอฝากภาครัฐพิจารณาเรื่องนี้ให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ

ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตไก่เนื้อเป็นอันดับ 9 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ติดอันดับ 4 ของโลก รองจากบราซิล สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู) ในแต่ละปีมีการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์มากกว่า 6 แสนตัน โดยมีตลาดหลักคือ อียู และญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 80-90 ของการส่งออกเนื้อไก่ทั้งประเทศ นอกจากนี้ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย คาดว่าปี 2558 ไทยจะสามารถส่งออกไก่เนื้อและผลิตภัณฑ์ได้ประมาณ 6.5 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 8.5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าปี 2559 ตลาดเกาหลีใต้จะอนุญาตให้ไทยส่งออกไก่สดได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถส่งไก่สดได้เพิ่มขึ้นได้มากกว่า 4 หมื่นตันต่อปี

ความจริงแล้วไทยมีความสามารถในการส่งเนื้อไก่ที่ได้มาตรฐานเข้าไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งยุโรปและญี่ปุ่น มานานกว่า 40 ปี แต่สำหรับตลาดสหรัฐฯนั้นมีการกำหนดมาตรการที่ยุ่งยาก จากประเทศผู้ส่งออกอย่างไทย ทำให้ไม่สามารถส่งเข้าไปได้ ในทางกลับกันที่ผ่านมาสหรัฐฯ ก็ยังพยายามที่จะส่งไก่เข้ามาบุกตลาดในประเทศอื่นๆรวมถึงไทยด้วย

ไม่ต่างกับการเข้าเป็นสมาชิก TPP ที่สหรัฐฯ ก็จะมีความพยายามส่งออกสินค้าเกษตรไปในกลุ่มประเทศสมาชิก แต่กลับไม่ยอมให้ประเทศสมาชิกส่งสินค้าเกษตรเข้ามายังสหรัฐฯ เพื่อปกป้องเกษตรกรของตนเอง โดยอ้างเหตุผลอื่น เช่น มาตรฐานการผลิตที่ต่ำกว่า รวมทั้งมีการทำประชาพิจารจากผู้เกี่ยวข้องว่าจะยินยอมให้มีการนำเข้าหรือไม่ ข้อนี้ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ถึงแม้อนาคตไทยจะเข้าร่วมขบวน TPP ก็จะเป็นผู้เปิดตลาดนำเข้าแต่ฝ่ายเดียวไม่สามารถส่งออกได้ จากมาตรการกีดกันของสหรัฐดังกล่าวเช่นกัน