สวก. โชว์ไฮไลท์งานวิจัยข้าวและสมุนไพรเด่น

สวก. โชว์ไฮไลท์งานวิจัยข้าวและสมุนไพรเด่น

จับมือผู้ประกอบการ ผลักดันนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าสู่การลงทุนเชิงธุรกิจ

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จัดกิจกรรมสัมมนาเปิดตัวเทคโนโลยีและนิทรรศการผลงานวิจัยกลุ่มเรื่องข้าวและสมุนไพร “นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าข้าวและสมุนไพรสู่การลงทุนเชิงธุรกิจ” ชูผลงานวิจัยไฮไลท์จำนวน 25 โครงการเพื่อเป็นกรณีศึกษาด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่สนับสนุนโดย สวก. ที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกษตรและภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เกิดการพัฒนายิ่งขึ้นพร้อมลงนามสัญญาการอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยให้แก่ผู้ประกอบการ 4 ราย ซึ่งงานครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ โดยมีนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีและกล่าวเปิดการสัมมนา

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สวก. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบบริหารทุนวิจัยมุ่งเป้าเพื่อตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะกลุ่มเรื่องข้าว และกลุ่มเรื่องสมุนไพรตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน โดยมีผลงานวิจัยที่สำเร็จจนได้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่พร้อมเผยแพร่ เพื่อส่งเสริมและผลักดันผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ ให้สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ในการบริหารจัดการและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจหรือใช้ในการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อไป

ดร. สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กล่าวว่า งานครั้งนี้ได้นำผลงานวิจัยด้านข้าวและสมุนไพรมานำเสนอให้กับผู้ที่สนใจอย่างรอบด้าน โดยเชิญบริษัทภาคเอกชนที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยของ สวก. มาถ่ายทอดผลสำเร็จในการนำผลงานวิจัยไปต่อยอดในการลงทุนเชิงธุรกิจ เพื่อหวังจะเป็นแรงบันดาลใจและชี้โอกาสสร้างสรรค์งานวิจัยให้กับนักวิจัยและผู้สนใจ รวมทั้งยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจาก สวก. ที่เกี่ยวข้องกับข้าวและสมุนไพรแก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจอีกด้วย

“สวก. หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ทุกภาคส่วน มีประโยชน์ต่อเกษตรกรในฐานะผู้ผลิตต้นน้ำ ตลอดจนนักวิจัยได้โอกาสผลักดันผลงานของตนให้ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการต่อยอดเพิ่มเติม และท้ายที่สุดคือการเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับการพัฒนาประเทศ เพิ่มมูลค่าต้นทางคือเกษตรกร นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับเศรษฐกิจของประเทศได้” ผู้อำนวยการ สวก. กล่าวและว่า

ทั้งนี้ กิจกรรมสัมมนาเปิดตัวเทคโนโลยีและนิทรรศการผลงานวิจัยกลุ่มเรื่องข้าวและสมุนไพร “นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าข้าวและสมุนไพรสู่การลงทุนเชิงธุรกิจ” มีผลงานวิจัยจำนวน 25 โครงการร่วมแสดงผลงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิจัยและผู้สนใจจำนวนมาก โดยมีผลงานไฮไลท์ ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์หมี่โคราชกึ่งสำเร็จรูป 2) ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากโหระพาและกะหล่ำปลี เพื่อยับยั้งการย่อยไขมัน 3) ผลิตภัณฑ์เสริมความงามจากสาหร่ายดูนาลิเอลล่า 4) ผลิตภัณฑ์เสริมความงามจากสารสกัดน้ำมันอโวคาโด 5) สารลดแรงตึงผิวชีวมวลจากน้ำมันรำข้าว 6) ตำรับยาต้านเบาหวานของโรงพยาบาลกาบเชิง และ 7) ตำรับยาสมุนไพรไทยเสาธงตายต่อการรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศในชาย โดย สวก. คาดว่าองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยที่นำมาเปิดตัวในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกษตรและภาคอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทยให้เกิดการพัฒนายิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ยังได้จัดพิธีลงนามสัญญาการอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยให้แก่ ผู้ประกอบการ จำนวน 4 ราย โดยมี ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการ สวก. ร่วมลงนาม ได้แก่1) โครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวสารระยะเม่าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และทับทิมชุมแพ (กข 69) ในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดขอนแก่น” ระหว่าง สวก. และ บริษัท ฟารีนา จำกัด2) โครงการ “การพัฒนากลิ่นรสในผลิตภัณฑ์ผงโรยข้าวสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาการบดเคี้ยวและการกลืนอาหารเพื่อช่วยให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น” ระหว่าง สวก. และ บริษัท ไฮเทค- ไบโอ (ประเทศไทย) จำกัด3) โครงการ “การสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากน้ำลำไยเข้มข้นกึ่งแท้พร้อมเนื้อลำไยในภาชนะบรรจุปิดสนิท:   น้ำลำไยเกล็ดหิมะและน้ำลำไยโซดา” ระหว่าง สวก. และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ้านต้นไม้ (ไร่ดำรงค์) และ 4) โครงการ “การพัฒนากระบวนการผลิตแป้งหมักขนมจีนด้วยเอนไซม์โปรติเอสจากแบคทีเรีย” ระหว่าง สวก. และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พิชัย เอฟ แอนด์ บี

นับเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญของสวก. ที่พร้อมเป็นเฟืองจักรช่วยขับเคลื่อนภาคการเกษตรของไทยให้สามารถใช้ข้อมูลผลงานวิจัยให้ก่อเกิดประโยชน์ทุกภาคส่วน ตั้งแต่ต้นน้ำคือเกษตรกร กลางน้ำ คือผู้ประกอบการ และปลายน้ำคือผู้บริโภคทั้งคนไทยและทั่วโลกให้ได้รับคุณค่าจากภาคเกษตรไทยได้อย่างเต็มที่