อ.ส.ค. แนะเกษตรกรเลี้ยงโคนมอย่างไรให้ได้กำไรทุกปี

อ.ส.ค. แนะเกษตรกรเลี้ยงโคนมอย่างไรให้ได้กำไรทุกปี

เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรกรและสหกรณ์ฟาร์มโคนมไทย ทั้งการให้ความรู้การจัดตั้งฟาร์มโคนม การเลี้ยงโคนม การดูแลและบริหารจัดการกิจการฟาร์ม

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ให้การสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรและสหกรณ์โคนมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรกรและสหกรณ์ฟาร์มโคนมไทย ทั้งการให้ความรู้การจัดตั้งฟาร์มโคนม การเลี้ยงโคนม การดูแลและบริหารจัดการกิจการฟาร์มโคนมแก่เกษตรกรทุกด้าน ทั้งด้านการจัดการฟาร์ม ด้านการจัดการอาหารที่เพียงพอต่อโคนมในฟาร์มของเกษตรกร รวมถึงการจัดการฟาร์ม และยังพัฒนาพันธุ์โคนมให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยที่มีอากาศร้อน ในขณะเดียวกันโคนมก็ยังสามารถผลิตน้ำนมได้มากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรได้ผลผลิตน้ำนมดิบเพิ่มและทำกำไรให้แก่เกษตรกรมากขึ้น

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า การเลี้ยงโคนมให้มีกำไรสามารถทำได้โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคนม สำหรับในประเทศไทยเรื่องที่ต้องมีการปรับปรุง พัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคนม มี 3 เรื่องหลักๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการจัดการฟาร์ม คือ 1.การบริหารจัดการอาหาร 2.การบริหารจัดการฟาร์มที่ต้องควบคุมอุณหภูมิคอกพัก 3.บริหารจัดการคอกโคนมให้ปลอดโปร่ง ไม่ร้อนชื้น พื้นไม่เปียกแฉะ โดย 3 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้โคนมเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านการบริหารจัดการอาหารที่เพียงพอต่อจำนวนโคนมในฟาร์มเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก การให้อาหารโคนม คือ การให้อาหารข้น และอาหารหยาบ ที่เป็นแหล่งของพลังงาน โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุที่สำคัญ รวมถึงการให้อาหารโคนมในสัดส่วนที่เหมาะสม เพียงพอต่อความต้องการโคนม ครบถ้วน สมบูรณ์ โคนมจะได้รับ โปรตีน แร่ธาตุ และวิตามิน ที่เพียงพอ และการให้อาหารโคนมที่สม่ำเสมอ คุณภาพของอาหาร และสูตรอาหารที่เหมือนเดิมทุกมื้อ ซึ่งเป็นหลักการให้อาหารเพื่อที่จะทำให้โคนมให้ผลผลิตเป็นไปตามความสามารถทางพันธุกรรม (จากการปรับปรุงพันธุ์ โคนมของไทยสามารถให้ผลผลิตน้ำนมเฉลี่ย 20-25 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน)

        การควบคุมอุณหภูมิคอกพักนั้น โคนมสามารถอยู่ได้ดีในพื้นที่ที่มีอุณภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิบริเวณที่โคนมอยู่หรือบริเวณคอกพักเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้โคเกิดความเครียดจากความร้อน ส่งผลให้กินอาหารลดลง ผลที่ตามมาคือปริมาณผลผลิตน้ำนมก็จะลดลงด้วย ดังนั้นการสร้างคอกพักโคนมควรจะสูงโปร่ง สามารถระบายความร้อนได้ดี หรือมีระบบการทำความเย็นในคอกพัก เช่น การติดพัดลม การติดตั้งระบบสเปรย์น้ำ การอาบน้ำให้โคนมเป็นต้น นอกจากนั้นไม่ควรเลี้ยงโคนมที่หนาแน่นเกินไป ซึ่งจะส่งผลต่อการระบายความร้อนในคอกพัก โดยทั่วไปหากเลี้ยงโคนมแบบขังในคอก (Loose barn) ต้องมีพื้นที่ประมาณ 20-22 ตารางเมตรต่อตัว หากเลี้ยงในโรงเรือนแบบซองนอน (Free stall) จะใช้พื้นที่ประมาณ 11 ตารางเมตรต่อตัว

        ส่วนบริเวณคอก โคนมต้องการอยู่ในพื้นที่ที่แห้ง มีพื้นที่นุ่ม ไม่ลื่น ซึ่งการเลี้ยงโคนมในพื้นที่ที่แห้งจะช่วยลดการเป็นโรคเต้านมอักเสบ ตัวโคนมไม่สกปรก จึงเป็นการลดการใช้น้ำในการล้างตัวโคนมก่อนรีดนม ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดระยะเวลาในกระบวนการรีดนมด้วย ฟาร์มที่คอกพักเป็นพื้นคอนกรีต จะพบการเกิดแผลกดทับจากการนอนเพราะโคนมมีน้ำหนักมาก ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการใช้วัสดุรองพื้น เช่น แผ่นยาง เป็นต้น บริเวณคอกพักโคนมควรมีหลังคาคลุมตลอดเพื่อกันแดด กันฝน จะทำให้โคนมอยู่ในที่แห้งและเย็นสบาย

จากการจัดการพื้นฐานทั้ง 3 ข้อนี้ วัตถุประสงค์เพื่อทำให้โคนมกินอาหารได้มากที่สุด จะนำไปสู่การแสดงออกของความสามารถทางพันธุกรรม โคนมให้ผลผลิตน้ำนมดิบได้เต็มที่ น้ำนมได้คุณภาพ ทั้ง 3 ปัจจัย ดังกล่าว ยังสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตน้ำนมลง เมื่อเกษตรกรได้ผลผลิตน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้เกษตรกรมีกำไรจากการเลี้ยงโคนมมากขึ้น ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว