‘บ้านธรรมชาติล่าง’จ.ตราด วิถีชีวิตชุมชนสร้างรายได้ท่องเที่ยว

‘บ้านธรรมชาติล่าง’จ.ตราด วิถีชีวิตชุมชนสร้างรายได้ท่องเที่ยว

วิถีชีวิตชุมชนพื้นบ้าน ต่อยอดภูมิปัญญาของท้องถิ่นสู่แหล่งผลิตปุ๋ยชีวภาพนาโนของจังหวัดและเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้

 

ชุมชนบ้านธรรมชาติล่าง ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด ชูอัตลักษณ์วิถีชีวิตชุมชนพื้นบ้าน ต่อยอดภูมิปัญญาของท้องถิ่นสู่แหล่งผลิตปุ๋ยชีวภาพนาโนของจังหวัดและเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้และบริหารโดยชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมสนับสนุน     

  

 นายทองหล่อ วรฉัตร ปราชญ์ชุมชน ในฐานะประธานกลุ่มท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนบ้านธรรมชาติล่าง กล่าวว่า ชาวบ้านในตำบลคลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด ส่วนใหญ่มีอาชีพด้านการเกษตร ทำสวนผลไม้ สวนยางพารา ไร่สับปะรด อีกส่วนมีอาชีพทำประมงชายฝั่ง ค้าขาย รับจ้างทั่วไป แต่รายได้จากการทำสวนและทำประมงไม่แน่นอน ทางซีพีเอฟเข้ามาสอนทำปุ๋ยหมักชีวภาพนาโน และเชิญผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาให้ความรู้ ต่อยอดสู่ศูนย์การเรียนรู้การผลิตปุ๋ยฯ และเตรียมตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมู่บ้านธรรมชาติล่าง โดยปัจจุบันชุมชนบ้านธรรมชาติล่างนอกจากจะผลิตปุ๋ยใช้เองในครัวเรือนแล้ว ยังจำหน่ายนอกชุมชนด้วย     

  

ชาวบ้านในชุมชนฯ ยังได้เรียนรู้การทำอาชีพเสริมอื่นๆ นำมาสู่กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนบ้านธรรมชาติล่าง โดยมีซีพีเอฟ ร่วมคิดร่วมทำ ประกอบด้วย พลังปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพนาโน ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้รับความรู้จากปราชญ์ชุมชนเรื่องการทำปุ๋ยชีวภาพนาโน การทำผ้ามัดย้อมจากธรรมชาติ สัมผัสวิถีประมงพื้นบ้าน วิถีชีวิตการลงเรือหากุ้ง หอย ปู ปลา ที่พักโฮมสเตย์ติดทะเลนั่งชมพระอาทิตย์ตกหน้าเกาะช้าง ลิ้มรสอาหารปริศนา เป็นการทำอาหารพื้นบ้านที่ปลอดสารพิษประยุกต์เป็นคำทาย พบหมอชาวบ้านที่ได้รับรางวัลประจำ จ.ตราด ให้ความรู้ด้านสมุนไพรต่างๆ ทั้งยาขับลมแก้ท้องอืด สมุนไพรจากหมามุ่ย เรียนรู้การทำลูกประคบ กิจกรรมล่องเล โดยมีผู้นำชุมชนเล่าขานตำนานหมู่บ้าน พาล่องเล ลัดเลาะชายฝั่งอ่าวธรรมชาติ ลงสัมผัสหญ้าทะเลซึ่งเป็นกลุ่มของพืชดอกเพียงกลุ่มเดียวที่มีวิวัฒนาการให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในทะเล เป็นต้น

 

นายโสภณ สร้อยศรี หรือลุงปุ๊ก สมาชิกสภา อบต.หมู่ 6 และเป็นประธานโครงการปุ๋ยหมักชีวภาพนาโน กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตปุ๋ยนาโนอยู่ที่ปีละ 30 ตัน ราคาตันละ 10,000 บาท ชุมชนมีรายได้จากการขายปุ๋ยนาโน 300,000 บาทต่อปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนลง ซึ่งสวนผลไม้ของลุงปุ๊กก็นำปุ๋ยชีวภาพนาโนไปใช้ เป็นสวนผลไม้ที่ปลอดสาร ชุมชนยังนำปุ๋ยไปใช้กับป่าชุมชนที่อยู่ติดกับโรงปุ๋ยนาโนทำให้พืชพันธุ์ที่ปลูกไว้งอกงามได้ใช้ประโยชน์ อาทิ เก็บเห็ดยูคา เห็ดขอน เห็ดนกแก้ว มาทำอาหาร ซึ่งในระยะต่อไปจะพัฒนาป่าชุมชนแห่งนี้ให้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชุมชนด้วย   

 

ทางด้าน นางลัดดาวัลย์ ธนะประสพ รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ กล่าวว่า  ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ตั้งของฟาร์มและโรงงานทั่วประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สอดรับการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมตามกลยุทธ์ “อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู” ซึ่งบ้านธรรมชาติล่างเป็นชุมชนขนาดเล็กที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมงพื้นบ้าน มีรายได้ไม่แน่นอน โดยเฉพาะในช่วงมรสุมไม่สามารถออกเรือหาปลาได้ ทางผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และเกษตรกรบ้านธรรมชาติล่าง หารือร่วมกับซีพีเอฟที่มีโรงเพาะฟักลูกกุ้งอยู่ในพื้นที่ คิดโครงการเพื่อลดรายจ่ายในการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรมในชุมชน เปลี่ยนจากปุ๋ยเคมีมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทน นอกจากนี้ ได้นำการท่องเที่ยวมาผสมผสานให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมพื้นบ้านและวิถีชีวิตของคนในชุมชนสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนบ้านธรรมชาติล่าง เพี่อให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน./