ศรีราชา จุดกำเนิดการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนแก่เกษตรกรของซีพีเอฟ

ศรีราชา จุดกำเนิดการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนแก่เกษตรกรของซีพีเอฟ

ระบบคอนแทร็คฟาร์ม กับซีพีเอฟ ซึ่งเป็นปฐมบทของโครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อยของซีพีเอฟ ศรีราชาที่ได้ช่วยสร้างความสำเร็จ

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อน หรือ พ.ศ. 2518 เกษตรกรในพื้นที่ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ได้มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิมมีชีวิตค่อนข้างลำบาก มีรายได้น้อยจากการปลูกมันสำปะหลัง และสับปะรด มาเป็นเกษตรกรเลี้ยงไก่เนื้อที่มีรายได้มั่นคง มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น หลังจากการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย หรือเรียกกันง่ายๆ ว่าระบบคอนแทร็คฟาร์ม กับซีพีเอฟ ซึ่งเป็นปฐมบทของโครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อยของซีพีเอฟ ศรีราชาที่ได้ช่วยสร้างความสำเร็จที่ยั่งยืนแก่เกษตรกรมาจนถึงปัจจุบัน

นายสุรเชษฐ ปิ่นเกล้า รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจไก่กระทง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ซีพีเอฟ เล่าว่า โครงการส่งเสริมไก่เนื้อศรีราชา เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2518 เข้ามาส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เลี้ยงไก่เนื้อในลักษณะคอนแทร็กฟาร์ม นับเป็นจุดกำเนิดในการสร้างงานสร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทย ตามแนวคิดของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี และยังนับเป็นการเริ่มต้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่เนื้อที่เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมสู่เกษตรกรอีกด้วย

“โครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย” ในพื้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของวงการเกษตรกรรมบริษัทได้มีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรไทยให้เทียบเท่ากับมาตรฐานของบริษัทและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัย และถือเป็นจุดเริ่มแรกของการสร้างความสำเร็จของอาชีพเกษตรกร ช่วยยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยให้มั่นคงขึ้น และมีความยั่งยืน” นายสุรเชษฐกล่าว

นางสมพร ชูชื่น รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ทายาทของลุงแถม ชูชื่น เกษตรกรรายแรกในยุคบุกเบิกของโครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรายย่อย ศรีราชา เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นว่า พ่อซึ่งขณะนั้นปลูกมัน และสัปปะรด มีรายได้ไม่แน่นอน ชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก ด้วยความที่พ่อเป็นคนที่มีหัวก้าวหน้า และมีตำแหน่งเป็นประธานเกษตรกรศรีราชา จึงต้องการพัฒนาฐานะความเป็นอยู่ของตนและเพื่อนบ้านให้ดีขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ซีพีเข้ามาชักชวนเกษตรกรในพื้นที่เลี้ยงไก่เนื้อ พ่อจึงสนใจมากและศึกษาข้อมูล และปรึกษากับหน่วยงานราชการ จนมั่นใจกับระบบที่บริษัทเข้ามาส่งเสริมจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการกับซีพีเป็นรายแรก

“ตอนที่พ่อตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่เนื้อศรีราชา เพื่อนเกษตรกรคนอื่นคัดค้าน และไม่มีใครทำตามเพราะทุกคนไม่เคยเลี้ยงไก่มาก่อน พ่อของพี่จึงนับเป็นเกษตรกรรายแรกที่เข้าร่วมระบบคอนแทร็คฟาร์มของบริษัท พอพ่อเข้าร่วมโครงการก็ให้พี่และน้องกลับมาจากกรุงเทพมาช่วยงานพ่อที่ทำงานคนเดียวไม่ไหว ตอนนั้นมาทำงานรับจ้างเย็บผ้าที่กรุงเทพ ส่วนน้องสาวกำลังเรียนปี 1 มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงตัดสินใจเดินทางกลับมาช่วยงานพ่ออย่างเต็มตัว” คุณสมพรเล่า

คุณสมพรเล่าต่อว่า การเลี้ยงไก่ในสมัยนั้น เริ่มแรกเลี้ยงไก่หนึ่งหมื่นตัว และเป็นโรงเรือนแบบเปิด เพราะอากาศในสมัยนั้นไม่ร้อนเหมือนทุกวันนี้ มีเจ้าหน้าที่จากบริษัทคอยให้คำแนะนำในการเลี้ยงอย่างใกล้ชิด บริษัทยังรับประกันว่าหากรายได้ต่อเดือนไม่ถึงตามที่กำหนด แต่รายได้จากการเลี้ยงไก่รุ่นแรกเราได้รับเงินถึง 26,000 บาท เทียบในสมัยนั้นข้าวสารกระสอบละ 200-300 บาท ค่าแรกวันละ 11-12 บาท เราดีใจมากเพราะมีเงินใช้หนี้แน่นอน และเพื่อนบ้านเริ่มสนใจมาขอดูงานจนทำให้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ รวม 200 ราย หลังจากนั้น 3 ปี ครอบครัวสามารถขยายการเลี้ยงไก่เป็น 40,000 ตัว และสามารถใช้หนี้ธนาคารภายใน 5 ปี

“การเข้าร่วมโครงการฯ ไม่เพียงช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับครอบครัวของพี่และเพื่อนเกษตรกร ความสำเร็จของโครงการฯ ยังช่วยดึงความเจริญด้านโครงสร้างพื้นฐานเข้าสู่ชุมชน เปลี่ยนจากการใช้ตะเกียงให้ความอุ่นแก่ไก่ เป็นมีไฟฟ้าใช้ และความเจริญเริ่มทยอยเข้ามาในชุมชน แม้ว่าปัจจุบันพี่ไม่ได้เลี้ยงไก่แล้ว เพราะอายุมากขึ้นและต้องการทำประโยชน์ให้กับชุมชน แต่ยังมองว่าทุกวันนี้พี่ยังได้ประโยชน์จากบริษัทอยู่ตลอดเวลา เพราะมีรายได้จากอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่ริเริ่มจากรายได้ที่มาจากการเลี้ยงไก่เนื้อ” คุณสมพรเล่าอย่างภาคภูมิใจ


นายสุรเชษฐ กล่าวว่า จากความสำเร็จของการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ศรีราชาส่งผลให้บริษัทนำไปต่อยอดและขยายการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์ให้แก่เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ รวม 5,000 ราย ขณะที่ในปัจจุบัน สังคมเมืองได้ขยายเข้ามาสู่พื้นที่ศรีราชาทำให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ ในพื้นที่ศรีราชามีจำนวน 58 ราย ส่วนใหญ่ร่วมโครงการกับบริษัทนานกว่า 10 ปีขึ้นไป และวางแผนที่จะส่งต่ออาชีพของตนเองให้กับรุ่นลูกต่อไป

นางสำรวย คงสุข เกษตรกรที่ร่วมโครงการมา 14 ปี กล่าวว่า การเรียนรู้และเทคโนโลยีในการจัดการฟาร์มไก่จากซีพีเอฟที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ส่งผลให้ฟาร์มได้รับคัดเลือกเป็นฟาร์มตัวอย่างเพื่อเปิดให้เกษตรกรจากต่างประเทศเข้ามาดูงาน และการที่ครอบครัวมีฐานะที่มั่นคง ได้ช่วยสร้างความสำเร็จและเปิดโอกาสให้ลูกทั้งสองคนสามารถศึกษาต่อจนจบการศึกษาในระดับสูง ปัจจุบันลูกทั้งสองคนเรียนจบแล้ว และเข้ามาเรียนรู้งานเพื่อสืบทอดอาชีพที่มั่นคงของคุณสำรวยต่อไป

ด้านนายพินิจ ภิบาลวงษ์ เข้าร่วมโครงการฯ 14 ปี กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการฯ ศรีราชา ตนได้รับความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ที่ทันสมัย และมีระบบการป้องกันโรคที่ดี เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ปลอดภัยและได้มาตรฐานสูงเทียบเท่ากับการผลิตของบริษัท ซึ่งส่งผลให้ผลตอบแทนที่ได้รับเป็นที่น่าพึงพอใจ อีกทั้งไม่ต้องกังวลเรื่องความเสี่ยงทางการตลาด ตนเองจึงทำฟาร์มด้วยความมั่นใจจนขยายฟาร์มเพิ่มเติมจนปัจจุบันเลี้ยงไก่ร่วม 2 แสนตัวแล้ว และรอลูกชายที่กำลังเรียนคณะสัตวแพทย์กลับมาสืบสานอาชีพต่อจากตน

“จากความสำเร็จของเกษตรกรโครงการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ศรีราชาตลอดระยะเวลา 40 ปี ซีพีเอฟก็ยังคงไม่หยุดเดินหน้าสร้างความสำเร็จให้กับเกษตรกรที่ร่วมโครงการฯ รวม 5,000 รายทั้งในพื้นที่ศรีราชา และพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมยกระดับฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกรที่ร่วมโครงการ และสร้างความรู้และโอกาสให้เกษตรกรเหล่านี้ร่วมเป็นหนึ่งในผู้ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยการเป็นต้นทางการผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยสู่ผู้บริโภคต่อไป” นายสุรเชษฐกล่าว



ประชาสัมพันธ์ CPF

CPF Corporate Communication & PR Office

Charoen Pokphand Foods Public Company Limited (CPF)

C.P.Tower 22nd Floor, 313 Silom Road, Bangrak

Bangkok 10500, Thailand

Tel : (662) 625-7343-5, 625-7384-85

Fax : (662) 638-2280

Email : [email protected]