กรมพัฒน์ฯ ให้ความรู้เชิงลึกพร้อมรุกไปข้างหน้าแก่ผู้รับเหมา

กรมพัฒน์ฯ ให้ความรู้เชิงลึกพร้อมรุกไปข้างหน้าแก่ผู้รับเหมา

แนะวิธีจัดการต้นทุนไม่ให้บานปลาย รองรับผู้บริโภคที่นิยมใช้บริการมากขึ้น รับสมัครเข้าร่วมอบรมตั้งแต่วันนี้ - 8 ก.พ.62 นี้

               

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า คาดการณ์ปี 2562 จะเป็นปีทองธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายย่อยของไทย หลังพบ..ผู้บริโภคนิยมใช้บริการเพิ่มมากขึ้น เตรียมเดินหน้าให้ความรู้ผู้ประกอบการเชิงลึกพร้อมรุกไปข้างหน้าอย่างจริงจัง...รับมือลูกค้าทุกรูปแบบ เน้นหลักบริหารจัดการครบทุกมิติ หวังผล “ลูกค้าพึงพอใจ” และ “กลับมาใช้บริการซ้ำ” พร้อมแนะวิธีการจัดการต้นทุนไม่ให้บานปลาย ส่งผลให้ธุรกิจเข้มแข็งอย่างยั่งยืน คาด...มูลค่าธุรกิจก่อสร้างไทย ปี 2561 - 2563 ขยายตัว 7 - 9% ต่อปี ของ GDP ในประเทศ

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ปี 2562 นี้ คาดว่าจะเป็นปีทองธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายย่อยของไทย หลังพบผู้บริโภคนิยมใช้บริการผู้รับเหมาก่อสร้างรายย่อยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการก่อสร้างรายย่อยของไทยจะเร่งพัฒนาศักยภาพและการบริหารจัดการให้เป็นระบบและมีมาตรฐาน รองรับความต้องการใช้บริการของลูกค้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้ง ปิดจุดอ่อน-เพิ่มจุดแข็งให้แก่ธุรกิจ ในภาวะที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

“กรมฯ จึงได้ร่วมมือกับ สมาคมไทยรับสร้างบ้าน ติดอาวุธด้านการบริหารจัดการธุรกิจแก่ผู้ประกอบการก่อสร้างรายย่อยของไทยให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคงแข็งแกร่ง โดยเน้นการให้ความรู้เชิงลึกแบบครบทุกมิติของธุรกิจก่อสร้าง เช่น การวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดธุรกิจก่อสร้างและแนวโน้มในอนาคต การขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ การแก้ปัญหาความขัดแย้งในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างพร้อมการบริหารความขัดแย้งและวิธีการป้องกัน ปัญหางานก่อสร้างที่พบบ่อย / การแก้ไขเชิงลึก และเทคนิคการก่อสร้าง วิธีการจัดการต้นทุนไม่ให้บานปลายและข้อพึงระวัง การถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการธุรกิจและการบริการลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด และพร้อมที่จะกลับมาใช้บริการซ้ำ รวมทั้ง การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายย่อยเพื่อให้เกิดการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันในอนาคต”

“จุดอ่อนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายย่อยของไทย คือ การบริหารจัดการธุรกิจที่ไม่เป็นระบบ ขาดองค์ความรู้ที่จำเป็นในการบริหารธุรกิจ เช่น การคำนวณต้นทุนค่าก่อสร้าง การตลาด การบริหารงานบุคคล การเงินและบัญชี ระบบภาษี กฎหมายและสัญญารับจ้าง รวมทั้ง ต้องเผชิญกับภาวการณ์แข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้รับเหมารายย่อยมีจำนวนมาก การต่อสู้ทางการตลาดโดยการลดราคาเพื่อให้ได้งาน อำนาจการต่อรองราคาที่ค่อนข้างต่ำ ใช้ระบบการก่อสร้างแบบดั้งเดิมทำให้ต้องพึ่งพาการใช้แรงงานมากกว่าเทคโนโลยีการก่อสร้างแบบสำเร็จรูปที่สามารถช่วยลดต้นทุนแรงงาน ดังนั้น การเพิ่มพูนองค์ความรู้เชิงลึกแบบครบทุกมิติของธุรกิจก่อสร้างจะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจ/เข้าถึงแก่นแท้ของธุรกิจก่อสร้างมากขึ้นและมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สามารถรับงานได้อย่างสมเหตุผล ซึ่งจะส่งผลต่อความเข้มแข็งของธุรกิจในระยะยาว และผลประกอบการที่เป็นกำไรในอนาคต พร้อมที่จะขยายและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง รวมทั้ง ส่งผลต่อการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจต่อเนื่องที่หลากหลาย เช่น ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจพัฒนาอสังหาริททรัพย์ เป็นต้น”

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา รายงานว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนในธุรกิจก่อสร้างของประเทศไทยมีสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 8.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และคาดการณ์ว่ามูลค่าการลงทุนในธุรกิจก่อสร้างของไทยระหว่างปี 2561 - 2563 จะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7 - 9 ต่อปี ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และงานก่อสร้างของภาคเอกชนฟื้นตัว โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และพาณิชยกรรมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าใหม่ และโรงงานที่จะเติบโตในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้ง ปริมาณงานก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการขยายการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นโอกาสให้ผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยสามารถขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้เพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561) มีธุรกิจก่อสร้างที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 61,062 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1,146,401.60 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจก่อสร้างขนาดเล็ก (S) จำนวน 60,554 ราย (ทุนจดทะเบียน 1,002,724.83 ล้านบาท) ธุรกิจก่อสร้างขนาดกลาง (M) จำนวน 420 ราย (ทุนจดทะเบียน 58,958.78 ล้านบาท) และ ธุรกิจก่อสร้างขนาดใหญ่ (L) จำนวน 88 ราย (ทุนจดทะเบียน 84,718.00 ล้านบาท)

ผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายย่อย สนใจสมัครเข้าร่วมอบรมหลักสูตร “พัฒนาผู้รับเหมาสร้างบ้านรายย่อย สู่ธุรกิจรับสร้างบ้านเชิงลึก” ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร 0 2547 5954 โทรสาร 0 2547 5971 หรือ www.dbd.go.th สายด่วนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 1570