วันสะเก็ดเงินโลก

 วันสะเก็ดเงินโลก

“ 20 คำถาม กับ 3 เรื่องที่ขอ”วิทยากร 3 ท่าน คือ รศ. พญ. ณัฏฐา รัชตะนาวิน ผศ. พญ. นฤมล ศิลปอาชา และ อ.พญ.เบ็ญจ์สชีว์  ปัทมดิลก

วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี  เป็นวันสะเก็ดเงินโลก ซึ่งแทบทุกประเทศ จะมีการจัดกิจกรรมทั้งสำหรับผู้ที่เป็นสะเก็ดเงินและประชาชนทั่วไป เพื่อให้ความรู้และให้เกิดความเข้าใจในโรคนี้มากขึ้น ซึ่งในปีนี้สโลแกนหลักของวันสะเก็ดเงินโลก ก็ คือ “Treat Psoriasis Seriously”  ซึ่งในความหมายคือ ต้องให้ทั้งความสนใจและควรให้การรักษาโรคสะเก็ดเงินอย่างเป็นจริงเป็นจังกันมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมาสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยร่วมกับสถาบันผลิตแพทย์ผิวหนังหลักของประเทศ จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมวันสะเก็ดเงินโลก โดยตั้งชื่องานเสวนาครั้งนี้ว่า  “ 20 คำถาม กับ 3 เรื่องที่ขอ”  โดยได้เชิญวิทยากร 3 ท่าน คือ รศ. พญ. ณัฏฐา รัชตะนาวิน ผศ. พญ. นฤมล ศิลปอาชา และ อ. พญ.เบ็ญจ์สชีว์  ปัทมดิลก ร่วมเสวนากับ ผู้ที่เป็นสะเก็ดเงินจำนวน 3 ท่าน และได้เชิญผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินเข้าร่วมงานและร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และตอบคำถามกว่า 100 ท่าน โดยมี รศ.นพ.ป่วน สุทธิพินิจธรรม นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เป็นประธานในการจัดงานในครั้งนี้  

ภายในงานได้มีการเสวนาเกี่ยวกับโรคนี้จะมีโอกาสหายขาดหรือไม่!  และอย่างที่ทราบกันว่าโดยทั่วไปว่า โรคสะเก็ดเงินเป็นโรค เรื้อรังและยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่วิทยากรก็ได้ให้ความรู้ว่าในปัจจุบันว่า แม้จะยังรักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่ก็มียาที่ดีมาก ๆ ซึ่งทำให้ร่องรอยของโรคเกลี้ยงได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ก็ยังต้องใช้ยาหรือการรักษาต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาในปัจจุบันของยาในกลุ่มนี้ซึ่งนำไปสู่ในสิ่งที่ชาวสะเก็ดเงินขอมากที่สุดคืออยากให้ราคายารักษาโรคสะเก็ดเงินมีราคาถูกลง จนคนทั่วๆไปสามารถเข้าถึงยาได้ในทุกระบบสวัสดิการของรัฐ นอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่มีการพูดถึงกันอีก เช่น การรักษาทางเลือก ซึ่งในประเทศไทยมีการรักษาหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นสมุนไพรและการรักษาทางเลือกจำนวนมาก  แต่สิ่งที่วิทยากร และแพทย์หลายคนเตือน ก็คือการซื้อยาตรงทางออนไลน์ทั้งหลาย ในบางครั้งได้ยาหรือสิ่งที่อ้างว่ารักษาหายขาดได้ แต่กลายเป็นยาหรือสิ่งที่ไม่ปลอดภัยกับสุขภาพและไม่มีการรับรองมาตรฐานเลย
                 

อีกเรื่องหนึ่งที่มีการพูดถึงในการเสวนาคือประเทศไทยเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหาร เพราะฉะนั้นสำหรับสะเก็ดเงินเองมีอาหารแสลงหรือไม่ ซึ่งเมื่อดูจากการศึกษาหรืองานวิจัยทั่วโลกจะพบว่า สำหรับสะเก็ดเงินนั้นไม่มีอาหารแสลงตรงๆ ที่ทำให้เกิดโรค แต่ในผู้ป่วยแต่ละท่านอาจจะมีอาหารบางชนิดที่เมื่อรับประทานแล้วเกิดมีอาการคันหรือในบางท่านก็เล่าว่าผื่นเห่อขึ้น ซึ่งจะเป็นกรณีๆไป อย่างไรก็ตามสิ่งที่วิทยากรและแพทย์ทุกคนขอ คืออยากให้ผู้ป่วยสะเก็ดเงินรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกิน ค่าดัชนีมวลกาย (ค่ามาตรฐาน BMI) หรือพูดง่ายๆ ก็คือ อย่าอ้วน เพราะเมื่อน้ำหนักตัวเกินการรักษาโรคสะเก็ดเงินจะยากขึ้น ควบคุมโรคได้ยาก อีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็คือแอลกอฮอล์ซึ่งหลาย ๆ ท่านก็จะเล่าว่าเมื่อดื่มแอลกอฮอล์มาก ๆ จะทำให้โรคกำเริบมากขึ้น

 

สิ่งสุดท้ายที่แพทย์และวิทยากร ขอก็คือ ขอให้ผู้ป่วยสะเก็ดเงิน มีความรู้ มีความเข้าใจในตัวโรค ดูแลตัวเอง ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ การออกกำลังกายที่เหมาะสมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน หรือมีอาการปวดข้อร่วมด้วย คือการเดิน อันที่สองก็คือขอให้อยู่ในความดูแลของแพทย์เป็นครั้งคราวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรับประทานยาบางตัว ควรจะต้องมีการติดตามดูแลเช่นการเจาะเลือด มีการเอ็กซเรย์ปอดเป็นระยะๆ และสุดท้ายสิ่งที่ทุกคนขอตรงกันก็คือ ขอให้ ให้กำลังใจกันและกันไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เป็นสะเก็ดเงินด้วยกันเอง แพทย์กับผู้ที่เป็นสะเก็ดเงิน รวมทั้งผู้ที่อยู่รอบข้าง ขอให้เป็นกำลังใจในการรักษาและการดูแลตัวเองกับผู้ที่เป็นสะเก็ดเงินด้วย ทุกคนก็จะอยู่กับสะเก็ดเงินได้อย่างมีความสุขและผู้ที่เป็นสะเก็ดเงินก็จะเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวและของสังคมตลอดไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

คุณธนศักย์  อุทิศชลานนท์ (โป้ง)

ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัทไอเวิร์คพีอาร์  จำกัด

โทร. 081-421-5249  อีเมล์: [email protected]