ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยพวน

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยพวน

“ไป กะ เลอ ดี ไทยพวน ปากพลี ดี เน้อ”

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยพวน

ตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก

“ไป กะ เลอ ดี ไทยพวน ปากพลี ดี เน้อ”

ชุมชนชาวไทยพวน มีวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งด้านภาษาไทยพวน การแต่งกายไทยพวน (ผ้าขาวม้าผูกเอวชาย ผ้านุ่งสาว) รวบรวมเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชนไว้ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวนวัดฝั่งคลอง ผลิตภัณฑ์ชุมชน

มาเที่ยว นครนายกทั้งทีบอกเลยว่า ต้องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมถึงจะขึ้นชื่อว่าได้มาที่นี่จริงๆ

วัฒนธรรมเด่นมากโดยเฉพาะเรื่องผ้าไทยพวน คนรักผ้าทอมือ ต้องรีบมาดู อยู่ที่ชุมชนบ้านท่าแดง ต.เกาะหวาย อ.ปากพลี มีเวลาเที่ยวแค่วันเดียวก็มาได้ หรือที่เราเรียกชื่อกันเต็มๆว่า ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยพวนตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก

ชาวชุมชนไทยพวน อาศัยอยู่ตามลำคลองตลอดแนวตั้งแต่ ต.หนองแสง ต.เกาะหวาย ต.เกาะโพธิ์ จนถึง ต.ท่าเรือ นับอายุชุมชนไทยพวนอยู่มามากกว่า 240 ปีแล้ว

ของดีทางวัฒนธรรมยังคงได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชมและช้อปกลับบ้านกัน

เรื่องเล่าในตำนานของชุมชนไทยพวน เล่าขานสืบทอดต่อๆ กันมาว่า อพยพถิ่นฐานมาจากประเทศลาว หลังพระเจ้าตากสินได้ปราบดาภิเษกแล้วได้ให้เจ้าพระยากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทร์ และหัวเมืองต่างๆ คือเมืองซำเหนือ เมืองคำม่วน เมืองคำเกิด เมืองเวียงไชย เมืองไพสาลีและเมืองเชียงขวาง เมื่อชนะศึกได้กวาดต้อน เอาผู้คนมาจากลาว ทั้งลาวเวียงจันทร์ลาวพวน (ชาวพวนที่อาศัยอยู่ในเมืองเชียงขวาง) และลาวโซ่งมาไว้ที่ประเทศไทยประมาณปี พ.ศ.2321

เรื่องเล่าในตำนานของชุมชนท่าแดงชุมชนที่มีชาว ไทยพวนอาศัยอยู่มายาวนาน

เล่ากันว่าในการอพยพครั้งนั้น มีพระภิกษุชาวลาวชื่อ “หลวงพ่อภาระ”อพยพมาด้วย พร้อมกับนำพระศรีอาริย์ทองสำริด หน้าตักกว้าง 27 ซม. สูง 99 ซม. โดยบรรทุกบนหลังช้างมาและได้หยุดพักเหนื่อยในเวลาเย็นพวนพลบค่ำ ตะวันแดงและที่หยุดพักตรงนั้นเป็นดินแดงมีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านตลอดสาย จึงเรียกว่า “ท่าแดง”

            หลวงพ่อภาระเห็นว่าพื้นที่แห่งนี้อุดมสมบูรณ์ดี ยิ่งเดินทางอพยพมานานจึงได้ปรึกษากับชาวบ้านผู้นำการอพยพในครั้งนั้นชื่อว่า “สุนันทา” และได้พร้อมใจกันลงหลักปักฐาน ตั้งถิ่นบ้านเรือนสร้างที่ทำมาหากินตามลำคลองและเรียกว่า “บ้านท่าแดง”

เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชน ภาษาพวน ใกล้เคียงกับลาวเวียง เช่น ภาษาไทยถ้าถามว่า จะไปไหนภาษาพวน จะพูดว่า จี่ไปกะเรอ ภาษาไทยตอบว่า ไปบ้านใต้ ภาษาพวน จะพูดว่า ไปบ้านเต้อ ภาษาไทยถามว่า ไปทำอะไร ภาษาพวน จะพูดว่า ไปเอ็ดพีเรอ ภาษาไทยถามว่า ไปกับใคร ภาษาพวน จะพูดว่า ไปกับเผอ ฯลฯ

การแต่งกายไทยพวน เสื้อผ้ามาจากฝีมือการทอผ้าด้วยมือ โดยใช้กี่ทอผ้าของชาวไทยพวนในชุมชน มีลวดลายสวยงามที่มาจากภูมิปัญญาโบราณของชาวไทยพวนที่สืบสานจากเชียงขวางประเทศลาวสู่พวนดินแดนไทย มีคุณสมบัติซักได้ในน้ำธรรมดาสีไม่ตก ใส่ไม่ร้อน เก็บรักษาง่าย

อาหารพื้นบ้าน ตามแบบวิถีชาติพันธุ์ไท-พวนตามสูตรภูมิปัญญาบรรพบุรุษดั้งเดิม มีทั้ง แกงเลียง แกงจาน แกงบอน แกงขี้เหล็กแกงหน่อไม้ แจ่วปลาแดะ

ส่วนคนที่มีเวลาน้อยแต่อยากรู้จักวัฒนธรรมและประเพณีของ ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยพวนให้มากที่สุดแนะนำให้แวะมาที่ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดฝั่งคลอง(ไทยพวน) ได้รวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาวัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ของกลุ่มชนไทยพวนบ้านฝั่งคลอง อำเภอปากพลี มีจัดแสดงถึง วิถีชีวิตไทยพวนดั้งเดิมทำการเกษตรกรรมไร่นาสวนผสม ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์และโคกระบือไว้ทำนา

ลักษณะการปลูกบ้านเรือนจะทำกันเป็นคุ้มๆในเครือญาติที่ใกล้ชิดกันทุกหมู่บ้านที่มีวัดวาอารามเป็นศูนย์กลางพบปะทำบุญตามประเพณีเป็นบ้านยกพื้นสูงส่วนประกอบทุกอย่างทำจากวัสดุธรรมชาติฝาและพื้นบ้านทำด้วยไม้ไผ่สับฟากโครงสร้างเสาไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงด้วยหญ้าคา ส่วนใหญ่ทำจากไม้และไม้ไผ่

ขาดไม่ได้ของการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์เลยคือ #ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน“พวน” ได้แก่ ลำพวน ลำตัดพวน รำโทน รำชุดสาวเชียงขวาง การฟ้อนชุดบุญข้าวจี่และการแสดงชุดไทยพวนม่วนชื่นยิ่งได้มาช่วงเทศกาลจัดงานท่องเที่ยวจะมีโอกาสได้ชมอย่างใกล้ชิด

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีได้นำนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ชั้นปีที่ 4 มาศึกษาวิถีวัฒนธรรมของชาวไทยพวนอำเภอปากพลีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2550 ทำให้คนไทยเชื้อสายพวนเริ่มสนใจและสร้างเครือข่ายสารข้อมูลกันมากขึ้น

นอกจากนี้การทำความรู้จัก ประเพณีวัฒนธรรมที่เมื่อได้มาเที่ยวที่นี่ จะได้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิตที่ได้สืบทอดเป็นแนวปฏิบัติในจารีตของชาติพันธุ์พวนจากดินแดนเชียงขวางในประเทศลาว นับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง เช่น การบายศรีสู่ขวัญพวน

ประเพณีวันสารทพวน จัดในวันแรม 14ค่ำ เดือน 9 เพื่อสั่งสอนลูกหลานด้วยความเลื่อมใสศรัทธา อาจจะเปลี่ยนแปลงบ้างตามยุคสมัย โดยแสดงให้เห็นถึงความพิถีพิถันในการทํางานเริ่มตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ วัสดุ อุปกรณ์สําหรับการทํากระยาสารทการแสดงความมีน้ำใจ ความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกัน มีการช่วยเหลือกันผู้ที่ทําเสร็จแล้ว ก็ช่วยผู้ที่ยังทําไม่เสร็จ การแสดงความกตัญญูต่อพื้นดินทํากินโดยมีการนํา สํารับคาวหวาน และทําห่อข้าว ไปใส่ในนาและทําหาบผียี่ผีเจียงไปส่งไว้นอกบ้านด้วย เพื่อส่งผลให้พืชผลในไร่ นาอุดมสมบูรณ์ได้ผลผลิตมีกินตลอดปี

นอกจากนี้ชาวบ้านในชุมชนที่เป็นเชื้อสายไทยพวนยังมีการจัดประเพณีสารทพวนโดยสภาวัฒนธรรมอําเภอปากพลี ศูนย์วัฒนธรรมไทย สายใยชุมชน วัดฝั่งคลอง ต.เกาะหวาย อ.ปากพลีเป็นเจ้าภาพจัด และเชิญชวนชุมชนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดมีการเชิญชวนสถานศึกษาในเขตตําบลเกาะหวาย ตําบลปากพลี ได้เข้ามา ศึกษามีส่วนร่วมในการปฏิบัติตามขั้นตอนของประเพณีด้วย

ประเพณีห่อข้าวยามดิน ในปัจจุบันไม่นิยมทำกัน เหตุผลก็คือ บริเวณที่จะประกอบพิธีไม่มีอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งเห็นว่าเป็นการทำให้วัดรุงรัง

ประเพณีทานข้าวสะ ประเพณีเดือน 10 เรียกว่า “การทานข้าวสะ” ปัจจุบันนี้เป็นประเพณีที่ไม่นิยมปฏิบัติกันแล้ว การทานข้าวสะนั้น เดิมใช้ปฏิบัติกัน เนื่องมาจากความเชื่อว่าเป็นการอ้อนวอนขอความอุดมสมบูรณ์ในการเกษตรกรรม

ประเพณีกำเกียง ประเพณีกำเกียงเป็นประเพณีที่กระทำกันในวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 9 ซึ่งเป็นประเพณีที่ทำขึ้นเพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุลให้กับผีที่อดอยาก เพื่อจะได้ไม่มารบกวนคนในหมู่บ้านลักษณะเชิงปฏิบัติของประเพณีกำเกียงจะนิยมทำกัน 2 อย่าง คือ อิงศาสนา และไม่อิงศาสนา

ประเพณีลงช่วง เป็นประเพณีของไทยพวนอย่างหนึ่ง "ช่วง" คงหมายถึง บริเวณที่โล่งแจ้งซึ่งกว้างพอสมควร พอที่จะเป็นบริเวณรวมคนได้ประมาณ 20 - 30 คน เพื่อจะทำงานบางอย่างได้โดยทั่วไป "การลงบ่วง" หมายถึง การนัดหมายเพื่อนบ้านออกมาทำงานพร้อมกัน และเป็นการนัดพบของคนหนุ่มใกล้เคียงกัน

มีประเพณีตักบาตรพระร้อย(ตักบาตรเทโวรหณะ) ประเพณีบุญข้าวจี่ ศรัทธาธรรมเทศน์มหาชาติ และประเพณี 12 เดือน (ฮีต 12 คอง14)

ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน “พวน” ได้แก่ ลำพวน ลำตัดพวน รำโทน รำชุดสาวเชียงขวาง การฟ้อนชุดบุญข้าวจี่ และการแสดงชุดไทยพวนม่วนชื่น

กิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยว

เริ่มที่เมื่อไปถึงชุมชนแวะสักการะพระธาตุกุสาวดี เยี่ยมชมกลุ่มทอผ้าพื้นบ้านไทยพวน ไปเที่ยวชมเทือกเขาใหญ่มรดกโลก อ่างเก็บน้ำวังบอน พายเรือแคนนูชมธรรมชาติ เข้าที่พักโฮมสเตย์ แล้วรับประทานอาหารพาแลงหรือโตกไทยพวน ชมการแสดงพื้นบ้าน 3 ลำ ลำพวน ลำตัดไทยพวน รำโทน การแสดงชุดสาวเชียงขวาง อีกวันตื่นเช้าใส่บาตร แล้วนมัสการรอยพระพุทธบาทเก่าแก่ที่ชุมชนบ้านเกาะหวาย ก่อนเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยพวน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยพวน

ตำบลเกาะหวาย อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก

ติดต่อชุมชน : ว่าที่ร้อยตรีชาติชาย ยอดมิ่ง โทรศัพท์ 092-757-9377

#กรมส่งเสริมวัฒนธรรม #ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประจำปี2561 #ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม #BloggerCulture #BloggerXDCP