ไอบีเอ็มประกาศก้าวย่างสำคัญด้าน AI

ไอบีเอ็มประกาศก้าวย่างสำคัญด้าน AI

เปิดตัวเทคโนโลยีตรวจจับและลดความเอนเอียงของระบบ AI เสริมศักยภาพและความมั่นใจให้องค์กรธุรกิจ

 

ไอบีเอ็มเปิดตัวเทคโนโลยีตรวจจับความเอนเอียงของระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ที่สามารถแสดงที่มาของการตัดสินใจของระบบ AI ได้อัตโนมัติในขณะที่ระบบทำงาน ทั้งยังสามารถเสนอแนวทางการปรับชุดข้อมูลเพื่อลดความเอนเอียงในการตัดสินใจของระบบลง เพิ่มความสามารถในการตรวจสอบและสร้างความมั่นใจการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในองค์กร

 

ที่ผ่านมา ข้อจำกัดในการทำความเข้าใจที่มาของการตัดสินใจหรือการให้คำแนะนำของแอพพลิเคชัน AI หรือแมชชีนเลิร์นนิงต่างๆ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญขององค์กรที่กำลังมองถึงการนำระบบ AI มาใช้ โดยผลการศึกษาของสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (Institute for Business Value หรือ IBV) ชี้ให้เห็นว่าแม้องค์กรถึง 82% จะมองถึงการนำ AI มาใช้ แต่ 60% ยังกังวลถึงความรับผิดชอบที่ต้องเกิดตามมาจากปัญหาต่างๆ ขณะที่ 63% ยังขาดบุคลากรด้าน AI

 

เทคโนโลยี IBM Trust and Transparency เป็นบริการซอฟต์แวร์ (software service) บนไอบีเอ็มคลาวด์ (IBM Cloud) ที่ช่วยให้องค์กรสามารถเข้าใจปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของ AI รวมถึงเหตุผลเบื้องหลังการแสดงระดับความมั่นใจของระบบ  เพื่อป้องกันการป้อนชุดข้อมูลและโมเดลแมชชีนเลิร์นนิงต่างๆ ที่ทำให้การทำนายของระบบมีความเอนเอียง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญหากต้องตรวจสอบที่มาของการตัดสินใจของระบบ AI

 

“ด้วยบทบาทของความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมและจากประสบการณ์ในการให้บริการลูกค้าในธุรกิจต่างๆ ไอบีเอ็มตระหนักถึงความสำคัญในการกำหนดหลักการและจริยธรรมด้าน trust และ transparency สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี AI ใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ของลูกค้า” นายกิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์ รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจคลาวด์และโซลูชัน บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว “ตอนนี้จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องนำหลักการเหล่านั้นมาสู่การปฏิบัติจริง เพื่อช่วยสร้างความโปร่งใสและช่วยป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการตัดสินใจผิดพลาดของระบบขององค์กรที่นำ AI มาใช้”

 

ความสามารถในการตรวจสอบที่มาการตัดสินใจของระบบ AI

เทคโนโลยี IBM Trust and Transparency บน IBM Cloud ได้รับการพัฒนาขึ้นจากเฟรมเวิร์คด้านแมชชีนเลิร์นนิ่งหลายรูปแบบ บนสภาพแวดล้อม AI เช่น Watson, Tensorflow, SparkML, AWS SageMaker และ AzureML ช่วยให้องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ในการควบคุมเฟรมเวิร์คของระบบ AI ต่างๆ ที่องค์กรนิยมใช้ โดยองค์กรสามารถตั้งค่าบริการซอฟต์แวร์ดังกล่าวให้ตรวจสอบปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเวิร์คโฟล์วธุรกิจแบบต่างๆ ที่ตนมีได้

 

บริการซอฟต์แวร์นี้สามารถอธิบายถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจ รวมถึงตรวจสอบความเอนเอียงของการตัดสินใจของระบบ AI ได้ในขณะที่ระบบกำลังทำงาน ทำให้สามารถตรวจจับผลลัพธ์ที่เอนเอียงได้ในขณะที่กำลังเกิดขึ้น นอกจากนี้ระบบยังสามารถแนะนำว่าควรเพิ่มเติมชุดข้อมูลใดเพื่อลดความเอนเอียงที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

 

คำอธิบายที่ระบบแนะนำจะอยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ผ่านแดชบอร์ดที่แสดงให้เห็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของระบบ AI ทั้งในทิศทางที่ระบบแสดงออกมาและในทิศทางตรงกันข้าม พร้อมระบุที่มาของคำแนะนำต่างๆ รวมถึงปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังระดับความมั่นใจนั้นๆ ระบบยังสามารถบันทึกความถูกต้องเที่ยงตรงของโมเดลต่างๆ ช่วยให้องค์กรสามารถตรวจสอบและเรียกดูข้อมูลย้อนหลังหากต้องการตรวจสอบปัญหาการบริการลูกค้าหรือการปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมายต่างๆ เช่น GDPR เป็นต้น

 

เหล่านี้จะช่วยให้องค์กรสามารถบริหารการตัดสินใจที่มาจากระบบ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องอาศัยบุคลากรที่มีทักษะด้าน AI ตลอดเวลา พร้อมกันนี้ไอบีเอ็มยังได้เปิดส่วนงานให้คำปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำด้านการออกแบบกระบวนการธุรกิจและการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรและระบบ AI เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากความเอนเอียงในการตัดสินใจของระบบ

 

สนับสนุนคอมมิวนิตี้โอเพนซอร์สในการสร้างระบบ AI ที่ปราศจากความเอนเอียง

ในการนี้ ศูนย์วิจัยไอบีเอ็มยังได้จัดทำชุด IBM AI Fairness 360 toolkit สำหรับคอมมิวนิตี้โอเพนซอร์ส โดยจะเป็นคลังที่รวบรวมอัลกอริธึม โค้ด และบทเรียนต่างๆ เพื่อเป็นองค์ความรู้และเครื่องมือให้แก่นักวิชาการ นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลในการผนวกระบบตรวจจับความเอนเอียงเข้ากับโมเดลแมชชีนเลิร์นนิงที่พัฒนาขึ้น โดยเครื่องมือและบทเรียนต่างๆ ในคอมมิวนิตี้โอเพนซอร์สจะเน้นไปที่การตรวจสอบความเอนเอียงในการเทรนข้อมูล ขณะที่ชุด IBM AI Fairness 360 toolkit ที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยไอบีเอ็มจะสามารถตรวจสอบและแนะนำแนวทางการแก้ไขความเอนเอียงของโมเดล AI ได้ด้วย โดยไอบีเอ็มยินดีเปิดให้คอมมิวนิตี้โอเพนซอร์สต่างๆ เข้ามาร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีนี้ร่วมกัน

 

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นลำดับความสำคัญและอุปสรรคของการนำ AI มาใช้

ผลการศึกษาผู้บริหารระดับสูง 5,000 คนจากรายงาน IBM Institute for Business Value AI 2018 Report ล่าสุด ชี้ให้เห็นทิศทางและมุมมองที่เปลี่ยนไปของผู้นำองค์กรที่มีต่อการนำ AI มาขับเคลื่อนและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ กล่าวคือ

  • 82% ขององค์กรและ 93% ขององค์กรที่มีผลประกอบการดี กำลังมองถึงการนำ AI มาใช้เพื่อสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ
  • 60% ของผู้บริหารยังกังวลถึงความรับผิดชอบที่ต้องเกิดตามมาจากปัญหาต่างๆ ของระบบ AI ขณะที่ 63% ยังขาดบุคลากรด้าน AI
  • กลุ่มซีอีโอว่ามองคุณค่าสูงสุดที่จะได้รับจากการนำ AI มาใช้ จะตกอยู่ในงานกลุ่มไอที ซิเคียวริตี้ นวัตกรรม งานบริการลูกค้า และงานบริหารความเสี่ยง
  • จะมีการนำ AI มาใช้มากขึ้นและเร็วขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความดิจิทัล อย่างอุตสาหกรรมการเงิน เป็นต้น

 

เกี่ยวกับไอบีเอ็มและ AI

ไอบีเอ็มเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในด้านซอฟต์แวร์ บริการ และเทคโนโลยี AI สำหรับธุรกิจ โดยที่ผ่านมาไอบีเอ็มได้นำโซลูชัน AI ที่ชื่อ Watson เข้าเสริมศักยภาพลูกค้ากว่า 16,000 ราย ใน 20 อุตสาหกรรม ใน 80 ประเทศ ครอบคลุม 7 ใน 10 บริษัทด้านยานยนต์ และ 8 ใน 10 บริษัทด้านน้ำมันและก๊าซที่ใหญ่ที่สุด ไอบีเอ็มเป็นผู้นำแพลตฟอร์มค็อกนิทิฟและ AI ตามการจัดอันดับของไอดีซี*

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: 

ปารณีย์ เรย์มองด็อง
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
โทรศัพท์: +66 2 273 4164 อีเมล: [email protected]