Checklist 4 ข้อในร่างกาย เพื่อเริ่มต้นดูแลรูปร่างตัวเอง

Checklist 4 ข้อในร่างกาย เพื่อเริ่มต้นดูแลรูปร่างตัวเอง

“อยากหุ่นดี น้ำหนักต้องลดลง” เชื่อว่าสำหรับใครที่กำลังอยากเริ่มต้นหันมาดูแลรูปร่างตัวเองอย่างจริงจัง

1. มวลกล้ามเนื้อ (Muscle Mass)

มวลกล้ามเนื้อมีหน้าที่สำคัญในการช่วยให้ระบบเผาผลาญในร่างกายดีขึ้น ช่วยซัพพอร์ทกระดูก ช่วยให้กลับมาอ้วนช้ากว่าปกติ  เวลาชั่งน้ำหนักถ้าจะให้ดีจึงต้องดูด้วยว่าในน้ำหนักรวมร่างกายมีมวลกล้ามเนื้อเท่าไหร่ ต่ำกว่ามาตรฐานไหม มากกว่ามวลไขมันหรือเปล่า ถึงแม้ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงดูแลตัวเอง แต่ถ้าน้ำหนักเพิ่มก็อย่าเพิ่งขวัญเสีย ถ้าสิ่งที่เพิ่มคือมวลกล้ามเนื้อ นั่นแปลว่าเรากำลังมีรูปร่างและสุขภาพที่ดี หายห่วงได้เลย

2. มวลไขมัน (Fat Mass)

เคยไหมล่ะที่ต้องมานั่งสงสัยว่าทำไมออกกำลังกายแล้วน้ำหนักไม่ลดลงเลยแต่กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ส่วนหนึ่งมักมาจากอาหารการกินของเราที่เต็มไปด้วยไขมัน ทำให้ค่ามวลไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้น หากปล่อยไว้ไม่ใช่แค่หุ่นเสีย แต่ยังอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ ซึ่งเราสามารถวัดค่ามวลไขมันในร่างกายได้จากเครื่องชั่งที่มีฟังก์ชั่นวัดละเอียด ที่สามารถตรวจมวลไขมันและแสดงผลให้ดูกันไปเลยว่าวิกฤติเบอร์ไหน ซึ่งความจริงแล้วแม้น้ำหนักไม่ลดลง แต่มวลไขมันลดลงก็บ่งบอกได้ว่าเรากำลังมีรูปร่างที่ดีขึ้น  

 

3. เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย (% Fat)

เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย ช่วยบอกให้เรารู้ว่าในร่างกายมีส่วนที่เป็นไขมันกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อแยกกับส่วนอื่น ๆ  (น้ำ กระดูก กล้ามเนื้อและช่วยเช็กได้ว่าในน้ำหนักตัวของเรามีเปอร์เซ็นต์ไขมันอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือเปล่า ทำให้สามารถกำหนดทิศทางการออกกำลังกาย และการกินอาหารได้ ซึ่งค่าเปอร์เซ็นต์ไขมันนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปร่างและน้ำหนัก เช่น คนที่ผอมมาก ๆ น้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน ก็มีโอกาสที่เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายจะสูงได้ ลักษณะที่คุ้นหูกันดีคือ “อาการผอมแต่ลงพุง” ที่เกิดจากการมีไขมันไปสะสมบริเวณหน้าท้อง เพราะมีกล้ามเนื้อน้อยเกินไป ถึงแม้ว่าน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ แต่ก็เต็มไปด้วยไขมันในร่างกายนั่นเอง

4. เส้นรอบวงเอวและสะโพก (Waist Circumference, Hip Circumference)

เส้นรอบวงเอวและสะโพก เป็นอีกข้อที่ห้ามพลาด เพราะสองค่านี้จะบอกได้ว่า เรามีปริมาณไขมันอยู่ใต้ผิวหนังเท่าไร ช่วยให้เช็กได้ว่า เรามีไขมันสะสมในช่องท้องมากเกินไปหรือยัง โดยค่ามาตรฐานความยาวเส้นรอบเอวสำหรับคนไทย คือ

สำหรับผู้ชาย ไม่ควรเกินกว่า 90 ซม. (36 นิ้ว)

สำหรับผู้หญิง ไม่ควรเกินกว่า 80 ซม. (32 นิ้ว)

ซึ่งถ้าเกิดมีเส้นรอบวงเอวเกินกว่านี้ นอกจากโอกาสที่จะทำให้มีรูปร่างอ้วนแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดหัวใจได้อีกด้วย

 

สำหรับคนที่เริ่มหันมาดูแลรูปร่างตัวเอง Checklist ทั้ง 4 ข้อนี้ ทุกคนสามารถตรวจวัดได้จากเครื่องชั่งที่มีฟังก์ชั่นในการวัดค่าดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เครื่องชั่งนี้จะมีให้บริการในฟิตเนส และเมื่อทราบข้อมูลตาม Checklist แล้วเราสามารถกำหนดแนวทางในการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารได้