“ลูกเปลี่ยน เมื่อพ่อแม่เปลี่ยน”จุดเริ่มต้นสร้างเด็กสุขภาพดี

“ลูกเปลี่ยน เมื่อพ่อแม่เปลี่ยน”จุดเริ่มต้นสร้างเด็กสุขภาพดี

พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กคือบุคคลสำคัญที่สุดในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และพัฒนาการทางสังคม

ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของการปลูกฝังรากฐานพฤติกรรมด้านโภชนาการที่เหมาะสมของเยาวชนวัย 3-5 ปี โครงการ “รวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี” (United for Healthier Kids) นำโดยบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด พร้อมพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน จึงจัดกิจกรรม “1 วันสร้างสุขให้ลูกเปลี่ยน ปี 2” เพื่อจุดประกายให้พ่อแม่และผู้มีส่วนร่วมในการดูแลเด็กได้ริเริ่มปลูกฝัง 3 สุขนิสัยพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเด็กปฐมวัย ได้แก่  1) การเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลาย เพิ่มผักผลไม้ 2) การเลือกดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวาน และ 3) การขยันขยับเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น พร้อมนำจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยาคลินิกร่วมให้ความรู้และแนะนำเทคนิคการสื่อสารเชิงบวกเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสมให้กับเด็ก

แพทย์หญิงเบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แอดมิน Facebook เพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา’ กล่าวว่า พ่อแม่ คนในครอบครัว รวมถึงคุณครู สามารถปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีให้กับเด็กได้ตั้งแต่ยังเล็กๆ ทั้งในเรื่องของการควบคุมตนเอง การรู้จักยับยั้งชั่งใจ ตลอดจนพฤติกรรมเชิงบวกต่างๆ เพื่อเป็นรากฐานไปสู่พฤติกรรมที่เหมาะสมเมื่อโตขึ้น

 

“ก่อนที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมใดๆ ของเด็ก สัมพันธภาพพื้นฐานที่มีต่อกันระหว่างพ่อแม่และเด็กจะต้องดีก่อน ซึ่งสัมพันธภาพที่ดีต่อกันนี้ มาจากความเอาใจใส่ ผูกพันใกล้ชิด และการได้ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันจนทำให้เด็กเกิดความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยทางใจ และยังต้องมาพร้อมกับระเบียบวินัย ในทางกลับกัน หากเด็กขาดสัมพันธภาพพื้นฐานที่ดี และมีแต่กฏระเบียบควบคุม จะทำให้เกิดการต่อต้าน ดังนั้น การปรับให้เด็กวัยนี้เป็นคนว่านอนสอนง่าย พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องหาจุดสมดุลระหว่างสัมพันธภาพที่ดีและระเบียบวินัย”  

 

แพทย์หญิงเบญจพร แนะนำเทคนิคการสื่อสารเชิงบวกเพื่อสร้างกำลังใจให้ลูกเปลี่ยนมาแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมว่า “การบังคับจะยิ่งทำให้เด็กต่อต้าน ดังนั้นพ่อแม่และผู้ดูแลเด็กจะต้องสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก ด้วยการปฏิบัติกับพวกเขาบนพื้นฐานของความมีสติและเห็นอกเห็นใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ดี จะต้องชมทันที โดยชมอย่างจริงใจด้วยวาจาและภาษากาย และเน้นชมที่พฤติกรรมที่เราเห็นว่าดีและอยากให้เขาทำมากขึ้น มากกว่าการชมที่ผลลัพธ์จากการกระทำนั้น เช่น ปกติน้ำเย็นจะไม่ชอบทำการบ้าน อิดออดเสมอ แต่วันหนึ่งหลังกลับจากโรงเรียนน้ำเย็นนั่งทำการบ้านเองจนเสร็จเรียบร้อย แม่ควรจะชมน้ำเย็นว่า ‘น้ำเย็นมีความพยายามดีมาก ขนาดการบ้านมีตั้งหลายหน้า หนูก็นั่งทำจนเสร็จ แม่ชื่นใจจังเลยลูก’ การชมเช่นนี้จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ และสร้างกำลังใจให้เด็กมีแรงแรงจูงใจในการเปลี่ยนพฤติกรรม ในทางกลับกัน เมื่อเด็กทำผิด พ่อแม่ควรตักเตือนอย่างมีหลักการ ด้วยคำพูดที่ไม่ทำลายคุณค่าในตัวเอง แต่ชี้แจงลูกตรงๆ ถึงพฤติกรรมที่ไม่ดีและอยากให้ปรับ เช่น ‘แม่ไม่ชอบที่เต้ตีน้องแบบนี้ ลูกควรแบ่งปันของเล่นกันนะ’ ไม่ใช่ ‘ทำไมเต้ถึงเป็นเด็กนิสัยแย่อย่างนี้นะ ดูอย่างน้องตั้นสิ ไม่เคยต้องให้แม่โมโห’ และไม่ควรใช้อารมณ์ในการตักเตือน ไม่ประชด และไม่เปรียบเทียบ เพราะจะทำให้ลูกต่อต้านมากขึ้น”

อาจารย์รณสิงห์ รือเรือง นักจิตวิทยาคลินิก ระดับชำนาญการพิเศษ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ อธิบายเพิ่มเติมว่า “หลายครั้งที่พ่อแม่พยายามปรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูก โดยมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนที่ลูกโดยตรงแต่พ่อแม่ไม่เปลี่ยน จึงกลายเป็นเรื่องยากและไม่ได้ผล แต่ถ้าพ่อแม่ปรับเปลี่ยนไปพร้อมกับเด็ก ตรงนี้จะเป็นตัวช่วยให้เด็กเปลี่ยนอย่างถาวร รวมถึงครอบครัวหรือพ่อแม่ก็จะเปลี่ยนตามลูกไปด้วย

อาจารย์รณสิงห์ ยกตัวอย่างเทคนิคในการปรับพฤติกรรมให้ลูกกินผัก ว่าแทนที่จะเปลี่ยนที่ลูกโดยตรง โดยบังคับให้ทานผัก การให้เด็กได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น เช่น ชวนเด็กไปซื้อหาผักมาปรุงอาหารด้วยกัน หรือแม้แต่การปลูกผักด้วยตัวเอง จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกรับผิดชอบในผักที่ได้มา และเกิดความรู้สึกรับผิดชอบในการทานผักชนิดนั้นตามมาด้วย

“หรืออย่างปัญหาเด็กติดหน้าจอ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เด็กใช้สมองมากกว่าการกระทำ เมื่อเลิกดูจอทีวีแล้วเด็กจะมีภาวะอยากเคลื่อนไหวไม่มีที่สิ้นสุด กลายเป็นเด็กซน ไม่นิ่ง พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถดึงเด็กออกมาจากโลกหน้าจอได้ด้วยเทคนิคการสร้างรูปแบบชีวิตประจำวัน ‘123 Easy Steps’ โดยขั้นแรกให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม เช่น การเป็นจิตอาสาภายในบ้าน ทำกิจกรรมเช่น ทำงานบ้านร่วมกับคนในบ้าน ขั้นต่อมาเป็นการมอบหมายให้เด็กได้มีหน้าที่รับผิดชอบส่วนตัว เช่น การอาบน้ำแต่งตัวเอง เพื่อสร้างวินัยให้กับตนเอง และขั้นสุดท้ายคือการให้เด็กได้ทำกิจกรรมเพื่อความสุขของเขาหลังจากที่ได้ทำตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ได้ดูทีวีหลังจากที่ทำการบ้านเสร็จแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนง่ายๆ 3 ขั้นตอนเพื่อปรับพฤติกรรมและสร้างระเบียบวินัยให้กับเด็กในระยะยาว”

 

 

 

 

นางกนกทิพย์ ปริญญานุสสรณ์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาและสื่อสารโภชนาการเพื่อสุขภาพ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย)  จำกัด กล่าวสรุปว่า “สภาพแวดล้อมรอบตัวมีความสำคัญอย่างมากต่อพฤติกรรมของเด็ก  ดังนั้น ในการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อปลูกฝังรากฐานพฤติกรรมที่เหมาะสมให้กับเด็ก ทุกฝ่ายทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ญาติใกล้ชิด และคุณครูจะต้องช่วยกัน และเป็นแบบอย่างให้เด็กได้เห็นบ่อยๆ เรื่องของโภชนาการก็เช่นเดียวกัน ทุกคนจะต้องรวมพลังเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกหลานของเรา และถ้าอยากให้เด็กปรับ ผู้ใหญ่ต้องเป็นฝ่ายเปลี่ยนก่อน โดยทุกคนสามารถร่วมเป็นหนึ่งพลังในการส่งเสริมและปลูกฝังรากฐานด้านพฤติกรรมเชิงบวกและโภชนาการของเด็กผ่านโครงการ “รวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี” (United for Healthier Kids) ได้ที่ Facebook.com/U4HKThailand หรือค้นหา United for Healthier Kids TH ผ่าน Facebook”   

ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ “รวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี” (United for Healthier Kids)

 

บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ผนึกกำลังกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวโครงการ “รวมพลังเพื่อเด็กสุขภาพดี” (United for Healthier Kids) เมื่อ 14 มิ.ย. 2559 เพื่อจุดประกายพ่อแม่ และผู้มีส่วนร่วมในการดูแลเด็ก เพื่อสร้างเยาวชนรุ่นใหม่วัย 3-12 ปีที่แข็งแรงโดยการปลูกฝัง 3 สุขนิสัยสำคัญ ได้แก่ การกินอาหารให้หลากหลายเพิ่มผักผลไม้ เลือกดื่มน้ำเปล่า และขยันขยับเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น พร้อมสร้างสรรค์เครื่องมือ “มื้ออาหารของฮีโร่” (Hero Meal) ที่ช่วยกระตุ้นการปรับเปลี่ยนและปลูกฝังพฤติกรรมที่พึงประสงค์เหล่านี้ และให้เคล็ดลับส่งเสริมสุขภาพมากมาย เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีสุขภาพแข็งแรงอย่างยั่งยืน