สมุนไพร รู้ก่อนใช้ ปลอดภัยกว่า

สมุนไพร รู้ก่อนใช้ ปลอดภัยกว่า

สมุนไพร รู้ก่อนใช้ ปลอดภัยกว่าควรอยู่ภายใต้การแนะนำของแพทย์ เภสัชกร และผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสมุนไพร

สมุนไพร ถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คนไทยเลือกใช้เพื่อรักษาอาการต่าง ๆ ตามที่เคยได้ยินกันมาแต่โบราณ ถึงสรรพคุณที่ช่วยบรรเทาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ขณะที่ประเทศไทยนั้น สามารถเรียกได้ว่าเป็นแหล่งของสมุนไพรชั้นเยี่ยมหลายชนิดและมีสรรพคุณโดดเด่นขึ้นชื่อต่างกันไป ซึ่งโดยทั่วไปมักเป็นพืชผักที่เราสามารถพบได้ในครัวเรือน เพราะแท้จริงแล้วสมุนไพรอยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างช้านาน แต่มักอยู่ในรูปของอาหาร เช่น กระเทียม พริกไทย ตะไคร้ ใบมะกรูด เป็นต้น จากเดิมผู้บริโภคสมัยก่อนมักใช้ใบหรือผลสดของสมุนไพรนั้น ๆ มาต้มน้ำดื่มได้ แต่ถึงแม้จะมีสรรพคุณทางยาอย่างไร แต่ “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” ก็ยังจะดูเป็นสำนวนที่นำพาคนไทยให้ถอยห่างจากสมุนไพรแล้วไปพึ่งพายาแผนปัจจุบันซึ่งอยู่ในรูปแบบที่พกพาสะดวก ไร้รสชาติ และรับประทานง่ายกว่า เมื่อวิถีชีวิตกับการใช้ยาของผู้คนเปลี่ยนไป วิวัฒนาการด้านการแปรรูปวัตถุดิบก็เข้ามาช่วยให้สมุนไพรง่ายต่อการบริโภคมากขึ้น สมุนไพรจึงถูกแปรสภาพให้มาอยู่ในรูปแบบของเม็ดหรือแคปซูลที่รับประทานง่าย

ไร้ปัญหาเรื่องรสชาติที่อาจไม่ถูกปาก อีกทั้งยังหาซื้อมารับประทานง่ายมีให้เลือกหลายยี่ห้อ แต่ก็ยังมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรว่าน่าจะดีและปลอดภัยกว่ายาแผนปัจจุบันซึ่งเป็นสารเคมี นี่อาจไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้องเสียทีเดียว ดังที่ คุณวรวุฒิ วงศ์อัมพรพินิต Product Support & Development Assistant Manager บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรมเจเอสพี จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพร ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ SME Champion ทางสถานีวิทยุราชมงคลธัญบุรี FM 89.5 MHz ว่า

“ข้อบ่งใช้ที่แท้จริงของสมุนไพรนั้น เหมาะสำหรับใช้เพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นที่ยังไม่รุนแรง เช่น การรับประทานขมิ้นชันเมื่อมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ หรือใช้ว่านหางจระเข้ทาผิวบริเวณที่โดนไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ทั้งนี้ ร่างกายของคนเราตอบสนองต่อการรักษาด้วยสมุนไพรไม่เท่ากัน เนื่องจากโครงสร้างร่างกายที่แตกต่าง อย่างคนตัวเล็ก ควรใช้ในปริมาณน้อย คนตัวใหญ่ควรใช้ในปริมาณมาก ถึงแม้จะมีโรคหรืออาการเดียวกันก็ตาม เพราะฉะนั้นการใช้สมุนไพรเพื่อเป็นยาที่เหมาะสม ควรอยู่ภายใต้การแนะนำของแพทย์ เภสัชกร และผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสมุนไพร เพราะการรับประทานยาไม่ว่าจะเป็นแผนปัจจุบันหรือสมุนไพรต่างก็ต้องอาศัยความเข้าใจที่ถูกต้อง สิ่งที่น่ากังวลสำหรับผู้บริโภคในปัจจุบันคือการซื้อยามารับประทานเองซึ่งง่าย และสะดวกโดยไม่ได้เข้าใจถึงประโยชน์และโทษอย่างถ่องแท้ และบางท่านก็ไม่ทราบว่าจริง ๆ แล้วตนเองมีอาการแพ้ยาชนิดใดบ้าง ซึ่งในแต่ละรายหากมีอาการแพ้ก็มีอาการมากน้อยแตกต่างกัน บางคนอาจมีอาการเพียงแค่ผื่นคันตามผิวหนังซึ่งถือว่ามีอาการไม่มาก ในขณะที่บางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นคลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก

ซึ่งหากมีอาการดังกล่าว ควรหยุดบริโภคและเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ กรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเป็นพิษ (Toxic Reaction) ของสมุนไพร เมื่อปี 2542 มีรายงานว่าใบขี้เหล็กถูกนำมาผลิตและจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ดทำให้เกิดพิษต่อตับ และเกิดอาการตับอักเสบเฉียบพลันในผู้ป่วย 9 ราย เมื่อแพทย์ได้ทำการซักประวัติก็ได้ข้อมูลที่ตรงกันว่าทั้ง 9 รายนี้มีการรับประทานยาสมุนไพรใบขี้เหล็กเหมือนกัน ซึ่งระดับความรุนแรงของภาวะตับอักเสบจะมีตั้งแต่ไม่มีอาการ ไปจนถึงมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ตัวเหลือง ตาเหลือง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงมีมติให้ระงับการผลิตและเก็บยาสมุนไพรขี้เหล็กออกจากตลาด จากรณีศึกษาจะเห็นได้ว่า แม้สมุนไพรจะเป็นยาที่สกัดได้จากผลิตผลของธรรมชาติแต่การใช้อย่างไม่รู้ขนาดที่เหมาะสม หรือใช้ไม่ถูกกับโรค และอาการที่เป็น ก็ทำให้สมุนไพรกลายเป็นสิ่งซึ่งมีโทษได้เช่นกัน แม้จะไม่ปรากฏข้อมูลมากนักถึงอันตรายของการใช้ยาสมุนไพร แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคควรตระหนักไว้อย่างมาก เนื่องจากยาสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้อย่างอิสระ และการควบคุมที่ไม่เคร่งครัดเหมือนยาแผนปัจจุบัน อีกทั้งความหลากหลายของแหล่งที่มา กระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ในบางยี่ห้อก็ไม่ระบุอย่างแน่ชัดถึงปริมาณของสารที่ออกฤทธิ์ แม้จะเป็นสมุนไพรชนิดเดียวกันก็ตาม ยังไม่รวมเรื่องจริยธรรมของผู้ประกอบการเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่อาจสื่อสาร

สรรพคุณ หรือปริมาณการใช้ที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงด้วยวัตถุประสงค์ทางการค้า ในผู้ป่วยบางรายอาจใช้สมุนไพรร่วมกับยาแผนปัจจุบันด้วยมุ่งหวังผลการรักษา โดยเข้าใจว่าจะทำให้มีประสิทธิภาพการรักษาที่ดีขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับสมุนไพรที่เป็นโทษต่อร่างกาย ดังนั้นก่อนจะใช้ยาสมุนไพร จึงควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ หรือเภสัชกร ให้แน่ใจถึงวิธีการและปริมาณรับประทานให้ถูกต้องเสียก่อน ก่อนที่จะเสียทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายที่จะต้องมารักษาอาการเจ็บป่วยหลังจากการใช้สมุนไพรที่ไม่ถูกต้อง” กล่าวโดยสรุปได้ว่า การใช้ยาสมุนไพรเพื่อการรักษาอาการใด ๆ ก็ตาม มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ผู้บริโภคต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้

โดยเบื้องต้นผู้บริโภคสามารถศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ อย่างน้อยก็ควรอ่านฉลากยานั้นให้ถี่ถ้วน เพื่อการใช้งานที่ถูกวิธี ถูกปริมาณ ถูกกับโรค ตรวจสอบชื่อยา เลขทะเบียนตำรับยา อ.ย. ปริมาณของสารสกัด หรือสมุนไพรที่บรรจุ เลขที่ หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต ชื่อหน่วยงานผู้ผลิต และสถานที่ผลิต วัน เดือน ปี ที่ผลิตและหมดอายุของตัวยา และก่อนตัดสินใจซื้อควรตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์หรือไม่ รวมทั้งเลือกซื้อเฉพาะร้านยาคุณภาพที่มีใบอนุญาต มีเภสัชกรคอยให้คำปรึกษาและจัดยาให้อย่างถูกต้อง เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถใช้ยาสมุนไพรได้อย่างปลอดภัยไร้กังวลออย่างแน่นอน