โรงพยาบาลในฝัน... ออกแบบได้

โรงพยาบาลในฝัน... ออกแบบได้

 

เมื่อสามหน่วยงานต่างฝันเดียวกัน นั่นคืออยากมี “โรงพยาบาลในฝัน” ที่เป็นจริง

จึงนำมาสู่ครั้งแรกของการล้อมวงกระชับความร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อ “ปั้น” โรงพยาบาลชุมชนทั้ง 10 แห่งให้เป็นโรงพยาบาลในฝันของพี่น้องในชุมชนที่จะมี “อัตลักษณ์” ที่เปลี่ยนไปทั้งหน้าตาภายนอกและการบริการภายในจนหลายคนอาจอยากแอบมาใช้บริการ

ด้วยแนวคิด “โรงพยาบาลที่เป็นมากกว่าโรงพยาบาล” โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเกษตร และกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ร่วมมือร่วมใจกันนำร่องเปลี่ยนโฉม 10 โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ทั้ง10 แห่งทั่วประเทศ ที่อีกไม่นานนี้ทุกแห่งจะมีลุคใหม่ที่เปลี่ยนไปใครๆ ตะลึง

โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550เพื่อถวายพระเกียรติ มีเป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาล “นำร่อง” ด้านการบริหารจัดการแนวใหม่ ให้มีคุณภาพเท่าเทียมระดับสากล ด้วยระบบการบริหารโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และภาครัฐ ร่วมเป็นกรรมการโรงพยาบาล เพื่อพัฒนาสุขภาพแบบองค์รวมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

จากความมุ่งหวังให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล ด้วยความเชื่อที่ว่าคนทุกคนในสังคมมีสิทธิได้รับบริการสุขภาพที่ดี และการจัดสรรการบริการอย่างสะดวกและทั่วถึงโรงพยาบาลทั้งสิบแห่งจึงเน้นงานเวชศาสตร์ครอบครัว การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมโรค และการรักษา ฟื้นฟูแบบองค์รวม ในระดับปฐมภูมิ และระดับทุติยภูมิ ที่เชื่อมโยงสถานีอนามัย และหน่วยบริการด้านสุขภาพอื่นๆ จึงเป็นโรงพยาบาลที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่มิติการแก้ปัญหาความเจ็บป่วยทางกาย เพราะสำหรับชุมชนบางแห่งแล้ว “โรงพยาบาล” อาจเป็นมากกว่านั้น

“ที่ผ่านมาถ้าเราพูดถึงโรงพยาบาลชุมชน เรานึกถึงแค่ชุมชนทางกายภาพคือคนอยู่อาศัย แต่ในบางพื้นที่ชุมชนมีบทบาทมาก ในโรงพยาบาลของชุมชนตัวเอง บางแห่งชุมชนคือผู้บริจาคพื้นที่ให้ สนับสนุนตลอดเวลา ทำให้เราเรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วบทบาทชุมชนมีอิมแพ็คท์เยอะในการคงอยู่ของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง” ผศ.ดร.สรนารท สินอุไรพันธ์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์เพื่อสร้างสุขภาวะ  ผู้ริเริ่มแนวคิดและผู้รับผิดชอบโครงการออกแบบสถาปัตยกรรมและปรับปรุงสิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาลเอ่ยถึงแรงบันดาลใจของโครงการนี้

“การทำงานออกแบบทุกโรงพยาบาลทั้งสิบแห่งจะเริ่มจากกระบวนการมีส่วนร่วม ทีมวิจัยต้องถามความคิดเห็นคนในพื้นที่ ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการโรงพยาบาล จนถึงระดับล่างที่สุด ไปจนถึงประชาชนผู้ใช้บริการ เพราะฉะนั้นแม้แต่แม่บ้านคนหนึ่งก็มีสิทธิ์ออกเสียง เราเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาส่งเสียง ที่สำคัญเราเชื่อว่า “สุขภาวะ” เกิดจากสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ และในโรงพยาบาลสามารถมีบทบาทสำคัญมากกว่าการรักษาเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน เราจึงอยากให้โรงพยาบาลสามารถเป็นสถานที่ที่ไม่ต้องเจ็บป่วยก็สามารถไปได้ หรือช่วยเหลือเยียวยาด้านจิตใจของคนในชุมชน”

 

กว่าจะมาเป็น ร.พ.วัดจันทร์ โฉมใหม่

โรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในโรงพยาบาลนำร่องของโครงการ เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กในอำเภอกัลยาณิวัฒนา ขนาด 10 เตียง ที่ได้รับการปรับปรุงพื้นที่ให้ขยายเป็นศูนย์สุขภาพเพื่อชุมชนมากขึ้น โดยทีมงานสถาปนิกสายจิตอาสา “ใจบ้านสตูดิโอ” 

ที่สำคัญครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนในพื้นที่อย่างพวกเขาจะมีส่วนร่วมในการออกแบบโรงพยาบาลชุมชนของตนเอง

แพรวพร สุขัษเฐียร สถาปนิกจากใจบ้านสตูดิโอ หนึ่งในเครือข่าย CAN ที่เป็นหนึ่งในทีมออกแบบโรงพยาบาลวัดจันทร์โฉมใหม่แห่งนี้ เล่าถึงแนวทางการออกแบบและกระบวนการทำงานว่า ทั้งทีมวิจัยและบุคลากรโรงพยาบาลอยากให้โรงพยาบาลเป็นมากกว่าโรงพยาบาล ที่ไม่ต้องป่วย แต่สามารถมาคุยเรื่องสุขภาวะได้ทุกเรื่อง

“เราเริ่มจากไปคุยกับคุณหมอที่โรงพยาบาล ทำให้พบว่าพื้นที่นี้มีหลายชาติพันธุ์หลายชนเผ่า ซึ่งมีวัฒนธรรมการดูแลรักษาไม่ใช่แค่ระบบสมัยใหม่อย่างเดียว โดยคุณหมอตั้งโจทย์ให้เราด้วยว่าต้องเชื่อมโยงการรักษาด้วยวัฒนธรรมวิถีชนเผ่าซึ่งการที่เราก็ได้มีโอกาสคุยปรึกษากับผู้นำชนเผ่าหรือชาวบ้านในชุมชน ทำให้เราทราบมากขึ้นว่าหัวใจการรักษาของเขาคือ “แม่เตาไฟ” ที่แม้วิถีจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ชาวบ้านยังคงมีพิธีกรรมส่วนใหญ่อยู่รอบๆ แม่เตาไฟ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เราออกแบบตามแนวคิดว่า ควรมีแม่เตาไฟเป็นพื้นที่อีกส่วนสำคัญของโรงพยาบาลที่เราจะสร้าง”

โรงพยาบาลวัดจันทร์ฯ ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอกัลยาณิวัฒนาแห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 60 ไร่ โดยร้อยละ 90 เป็นป่าสนผสมป่าเต็ง และมีการเตรียมพื้นที่ปลูกสมุนไพรพื้นบ้าน และจัดตั้งศูนย์องค์ความรู้สมุนไพร 3 ชาติพันธุ์ในพื้นที่โรงพยาบาล ดังนั้นในเรื่องของวัสดุที่ใช้ ทำให้ทีมสถาปนิกและหลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่าควรจะนำวัสดุพื้นถิ่นคือไม้ในพื้นที่มาเป็นส่วนประกอบของอาคารแห่งนี้

“มีหลายโครงการที่เราสร้างด้วยปูนหรือวัสดุสมัยใหม่เขากลับไม่ได้ใช้ เพราะอุณหภูมิร้อนที่สุดที่วัดจันทร์ฯคือ 26 องศา กลางคืนจะหนาวมาก เราก็คิดว่าเวลาที่ญาติต้องมาเฝ้าไข้คนป่วยก็จะหนาวมาก จึงมองว่าการใช้ไม้จะเหมาะกับสภาพแวดล้อมมากกว่าการออกแบบจึงมีพื้นที่นั่ง แม่เตาไฟ นิทรรศการ เพราะเราอยากให้เชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมกับวัฒนธรรมสมัยใหม่ ที่สำคัญพื้นที่วัดจันทร์เป็นพื้นที่ป่าสน ทรัพยากรไม้มีค่อนข้างเยอะ”

แต่กระบวนการดังกล่าวนำไปสู่ความเวทีความร่วมมือระหว่างผู้ออกแบบ ทีมโรงพยาบาลและชาวบ้านเพื่อทำความเข้าใจในการนำทรัพยากรส่วนกลางมาใช้ในพื้นที่สาธารณะ และรวมถึงการจัดสรรพื้นที่วัฒนธรรมจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลแห่งนี้ด้วย

“ประเด็นสำคัญคือเราต้องทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ ในการจะนำไม้นี้มาใช้ ว่าการรักษาหรือการอนุรักษ์ไม่ได้แปลว่าแค่เก็บต้นไม้ไว้ หรือห้ามนำมาใช้ แต่ควรเป็นการนำมาใช้ที่เกิดประโยชน์สูงสุด และเราจะปลูกคืนยังไงขณะเดียวกันเราก็ยังได้พบว่า เดิมปัญหาการจุดแม่เตาไฟจะทำให้มีควันอบอวลอยู่ในภายในบ้าน ที่ทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพด้านทางเดินหายใจ เราพยายามนำความรู้ทางสถาปัตยกรรม เช่นการเพิ่มหลังคาที่ช่วยระบายควันออก ซึ่งชาวบ้านนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ได้”

“โรงพยาบาลกับชุมชนไม่มีอาณาเขต เราเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน” นพ.ประจินต์ เหล่าเที่ยง ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลชุมชนวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรรษา เล่าถึงรูปแบบการทำงานที่แตกต่างจากการรักษาแบบเดิมๆ  โดยให้ข้อมูลว่าเดิมตัวชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งกว่าร้อยละ 90 คือชาวชาติพันธุ์จะมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเมื่อก่อนหลังจากมีโรงพยาบาลมียาเข้าไป ก็ทำให้ชาวบ้านหันมาใช้ยาแต่ด้วยแนวทางการดูแลรักษาแบบองค์รวม ทางโรงพยาบาลจึงมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาใช้สมุนไพรมากขึ้น

“มองว่าหากอันไหนเป็นสิ่งที่ดีเราก็อยากให้เขาใช้สมุนไพรมากกว่ายาแต่การที่เราจะเปลี่ยนพฤติกรรมใครสักคนต้องใช้เวลาเหมือนกัน ไม่ใช่เราพูดปุ๊บแล้วเขาจะเปลี่ยน อยู่ความศรัทธาและไว้วางใจ ดังนั้นการทำงานชุมชนจะอยู่ร่วมกันได้ต้องมีสร้างความผูกพัน เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ

ดังนั้นการทำงานของเราส่วนใหญ่เราจะเข้าไปที่ชุมชน เราใช้ชีวิตอยู่กินร่วมกับเขา เพราะมองว่าต้องไปศึกษาบริบทและชีวิตความเป็นอยู่ของเขาจึงจะเข้าใจ อาหารตัวไหน เขากินอย่างไร ตัวไหนดีเราส่งเสริม ตัวไหนขาดเราพยายามเสริม เพราะชาวบ้านเขาจะมีอาหารพืชผักสมุนไพรของเขา หากบางอย่างการกินของเขามีปัญหาต่อสุขภาพ เราก็แนะนำปรับวิธีการให้เขาใช้วิธีใหม่”

ด้าน นพ.วีระพันธุ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการคนที่ 2 กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการสนับสนุนโครงการว่า

“เมื่อสองปีที่แล้ว ดร.สรนารถและคณะเดินทางมาเสนอโครงการนี้กับ สสส. ก็แปลกใจว่าไม่ค่อยมีคนแปลกหน้าแบบสถาปนิกมาขอทุนเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะคนคนหนุ่มสาวเหล่านี้ต่างเป็นการทำด้วยใจ แม้จะมีอุปสรรคหลายเรื่องและความยากลำบาก แต่ทางทีมก็ไม่ลดละ ดังนั้น ความร่วมมือครั้งนี้จึงทำให้เราได้เห็นบรรยากาศว่ามีคุณหมอ พยาบาล สถาปนิก และชาวบ้านมานั่งคุยกันเรื่องสุขภาวะ

เป็นมิติใหม่ที่ สสส. มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้สังคมเราน่าอยู่ และจะเป็นแรงขับเคลื่อนฝ่าวิกฤติต่างๆ ในหลายๆ เรื่องได้ในอนาคต”