“สมิติเวช”ประกาศจุดยืนพลิกโฉมธุรกิจสุขภาพ

“สมิติเวช”ประกาศจุดยืนพลิกโฉมธุรกิจสุขภาพ

ดึงนวัตกรรมตรวจยีนพยากรณ์ สกัดโรคล่วงหน้า พร้อมส่งเสริมการรับวัคซีนเพิ่มภูมิต้านทานควบคู่โปรแกรมเช็คอัพร่างกายประจำปีตามวัย

 

“สมิติเวช”  เปิดมิติใหม่ด้านสาธารณสุขรับเมกะเทรนด์สุขภาพ “ป้องกันก่อนป่วย” ดึงเทคโนโลยีระดับสูงตรวจลึกระดับยีนรู้เท่าทันก่อนเกิดโรค ควบคู่โปรแกรมเช็คอัพร่างกายประจำปีตามวัย พร้อมส่งเสริมการรับวัคซีนเพิ่มภูมิต้านทาน เผยหลังทดสอบตลาดไม่กระทบยอดรายได้ ขณะที่ลูกค้าขานรับโมเดลธุรกิจใหม่ส่งผลครึ่งปี 61 เติบโต 11%

 

เปิดจุดยืนดิสรัปธุรกิจสุขภาพ

นายแพทย์ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช เปิดเผยว่า โรงพยาบาลได้ทดลองและดำเนินโมเดลทางธุรกิจใหม่ โดยเพิ่มความสำคัญให้กับบริการตรวจสุขภาพด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ระดับสูง เช่น การตรวจวิเคราะห์ที่ลงลึกระดับยีน เพื่อให้รู้เท่าทันหรือพยากรณ์ก่อนเกิดโรคโดยเฉพาะโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งจะนำมาสู่การวางแผนป้องกันไม่ให้มีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นในอนาคต

โมเดลธุรกิจใหม่นี้เป็นผลมาจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยขึ้น โดยเฉพาะการตรวจวิเคราะห์ลึกระดับยีนที่ทำให้การดูแล รักษาและป้องกันโรคแบบเฉพาะบุคคลทำได้สะดวก รวดเร็ว แม่นยำและน่าเชื่อถือมากขึ้น ประกอบกับวิชันใหม่ของโรงพยาบาลที่มุ่งสู่ความเป็น “องค์กรแห่งคุณค่า” มากกว่าองค์กรที่แสวงหาความสำเร็จด้านผลกำไร โดยตระหนักถึงความสูญเสียโอกาสการทำงานของผู้ป่วยที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจและจีดีพีของประเทศ

“เรามองเห็นและสัมผัสถึงความทุกข์ทรมานทั้งด้านจิตใจและร่างกายของผู้ป่วยและคนรอบข้าง ผู้ป่วย 1 คนก็จะมีมากกว่า 1 โรค และต้องการได้รับการรักษาที่ดีที่สุด โดยต้องใช้ทรัพยากรทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อุปกรณ์เครื่องมือ ยาและอื่นๆ ทำให้โดยเฉลี่ยแล้วประเทศไทยมีต้นทุนค่ารักษาพยาบาลกว่า 5% ของจีดีพี และจะขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น หากสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อรู้เท่าทันโรคภัยไข้เจ็บล่วงหน้าได้ย่อมจะส่งผลดีต่อจีดีพีของประเทศ แล้วส่งอานิสงส์ย้อนกลับมาให้กับภาคธุรกิจเอกชนซึ่งรวมถึงธุรกิจโรงพยาบาลด้วย”

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสมิติเวชได้ประกาศวิสัยทัศน์และจุดยืนใหม่เมื่อ 2-3 ปีก่อน ปรากฏว่า กระแสตอบรับดีมากจากสังคม ลูกค้าและผู้ถือหุ้น โดยสามารถลดจำนวนผู้ป่วยได้จริง ขณะเดียวกันก็มีจำนวนผู้รับบริการตรวจสุขภาพเพื่อให้รู้เท่าทันโรคในปัจจุบันและล่วงหน้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เห็นได้จากอัตราการเติบโตของทั้งสองโรงพยาบาลในปีที่ผ่านมา 9% ขยับเพิ่มเป็น 11% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561

 

 รู้เท่ากันโรคในปัจจุบัน-อนาคต

นายแพทย์ชัยรัตน์ ขยายความว่า เทคโนโลยีตรวจวิเคราะห์ระดับยีน ที่นำมาสู่การบริการในรูปแบบการแพทย์แบบเฉพาะเจาะจง ( Precision Medicine) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้รู้เท่าทันโรคในปัจจุบันและอนาคต 5-10 ปี อีกทั้งสามารถเจาะลึกได้ทุกโรค ยกตัวอย่างบ่งบอกความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้ล่วงหน้า ตั้งแต่ยังไม่ปรากฏสัญญาณเตือนใดๆ ช่วยให้แพทย์วางแผนป้องกันตั้งแต่การฉีดวัคซีนป้องกัน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอยู่และสภาพแวดล้อมจนถึงการควบคุมหรือตัดตอนเซลล์เป้าหมาย เพื่อลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุดจนถึงศูนย์

นอกจากนี้ จากเทคโนโลยีดังกล่าวยังประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการคัดกรองความเสี่ยงต่อโรคพันธุกรรมของทารกในครรภ์ได้กว่า 40 โรค เช่น ธาลัสซีเมียที่ลูกจากพ่อแม่ที่เป็นพาหะทั้งคู่มีความเสี่ยงเป็นโรค 25% แต่ด้วยเทคโนโลยีทำให้สามารถตรวจหาและคัดแยกเซลล์ตัวอ่อนได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ส่งผลให้ได้ทารกที่ไม่มียีนก่อโรคธาลัสซีเมีย

เช่นเดียวกับโรคเลือดออกง่าย (ฮีโมฟีเลีย) ที่ส่งต่อให้เฉพาะเพศชาย เทคโนโลยีจะช่วยเลือกให้เหลือเฉพาะเซลล์ตัวอ่อนเพศหญิงที่จะเจริญเติบโตเป็นทารกในครรภ์ เพื่อให้ปลอดภัยจากโรค ส่วนกรณีที่การตรวจคัดกรองไม่พบความเสี่ยงแต่มาพบในช่วงตั้งครรภ์หรือหลังคลอด เช่น ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนหรือโรคเอ๋อในทารก แพทย์จะให้ยารักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะป้องกันไม่ให้เกิดโรคในทารกได้

องค์ความรู้ด้านยีนยังนำมาสู่การพัฒนายาใหม่รักษามะเร็งที่เรียกว่า Targeted   Therapy ออกฤทธิ์มุ่งเป้าเฉพาะเซลล์ผิดปกติเท่านั้นโดยไม่รบกวนเซลล์ปกติข้างเคียง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ไม่ทุกข์ทรมานกับผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์

 

เอไอ-สมาร์ทดีไวซ์”พลิกโฉมบริการสุขภาพ

ทั้งนี้ นายแพทย์ชัยรัตน์ วิเคราะห์เทรนด์การรักษาพยาบาลในอนาคตว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนจาก 2 เทคโนโลยีหลัก คือ เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลผสานกับฟังก์ชั่นต่างๆบนสมาร์ทดีไวซ์ จะเปิดกว้างให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและคนยากจนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยได้อย่างสะดวกและในราคาถูก โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ยกเว้นกรณีที่มีอาการซับซ้อนรุนแรง

พร้อมกันนี้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอจะเข้ามามีบทบาทเป็นผู้ช่วยแพทย์ทำให้การตรวจรักษาแม่นยำขึ้น เช่น การวิเคราะห์รูปแบบอาการผิดปกติเปรียบเทียบกับอาการเดียวกันนี้จากฐานข้อมูลทั่วโลก แล้วสรุปให้รู้ว่าวิธีรักษาใดหรือยาใดใช้แล้วเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น      

 

สมิติเวช พลัส-ฟาสต์เพย์ เติมความสะดวก

นอกจากจุดเปลี่ยนด้านการดูแลสุขภาพแล้ว โรงพยาบาลสมิติเวชยังมีจุดเปลี่ยนด้านการบริการที่จะก้าวสู่สมาร์ทฮอสพิทัล โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลผสมกับทางการแพทย์มาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้รับบริการ ผ่าน 2 กิจกรรมหลักคือ แอพพลิเคชั่น “สมิติเวช พลัส” (Samitivej Plus)

ในแอพพลิเคชั่นนี้ ผู้ใช้บริการสามารถเปิดดูรายชื่อและประวัติของแพทย์ จองเวลานัดหมายแพทย์ด้วยตัวเอง หรือเมื่อมาถึงโรงพยาบาลก็สามารถรับรู้คิวตั้งแต่คิวพบแพทย์ การรอผลตรวจ การจ่ายเงินและรับยา พร้อมทั้งระบบแจ้งเตือน นอกจากนี้ยังสามารถเปิดดูเวชระเบียนหรือประวัติการรักษา ประวัติการสั่งจ่ายยาและผลตรวจจากแล็บ จึงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการติดต่อใช้บริการต่อเนื่องในสถานพยาบาลอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศหรือต่างจังหวัด ก็สามารถแสดงเวชระเบียนได้ทันทีทำให้ได้รับการรักษาได้ทันการณ์ หรือกรณีลืมยาที่ใช้ประจำก็เปิดดูข้อมูลประวัติการใช้ยาจากแอพฯ ได้

กิจกรรมถัดมาคือ “สมิติเวช ฟาสต์เพย์” ระบบการชำระเงินที่เชื่อมโยงกับระบบบิลของโรงพยาบาล ทำให้ผู้ใช้บริการเห็นค่าใช้จ่ายและชำระเงินได้อย่างสะดวกและรวดเร็วโดยไม่ต้องรอคิวจ่ายเงินที่หน้าเคาน์เตอร์ ผ่าน 2 ช่องทางคือ การสแกน QR Code ที่ FastPay Station และ การจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตผ่านแอพพลิเคชั่น   Samitivej Plus

“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ของสมิติเวช ถือเป็นการดิสรัปโมเดลธุรกิจของตัวเองให้เท่าทันเมกะเทรนด์โลก และที่สำคัญเพื่อให้คนไทยกว่า 90% ที่ไม่ป่วยยังคงมีสุขภาพที่ดี ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยการรู้เท่าทันสุขภาพของตนเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต”  นายแพทย์ชัยรัตน์ กล่าวสรุป