กสอ.พาสื่อเยี่ยมชมโรงงานผู้นำด้านขนมหวานแช่แข็งไทย

กสอ.พาสื่อเยี่ยมชมโรงงานผู้นำด้านขนมหวานแช่แข็งไทย

 

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมบริษัท ไทยริชฟูดส์ กรุ๊ป จำกัด ผู้นำด้านผลไม้และขนมหวานแช่แข็ง(Thai Dessert) ที่มีตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนจากทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

นางตะวัน บุญฤทธิ์ลักขณา เจ้าของบริษัทไทยริชฟูดส์ กรุ๊ป จำกัด เล่าว่า เดิมตนเองเป็นคนจังหวัดสระแก้ว จบคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ  จุดเริ่มต้นคือการฝันอยากจะมีธุรกิจเป็นของตนเอง เลยมองเห็นว่าธุรกิจขนมหวานที่ขายตามร้านอาหารยังไม่มีใครทำ เลยคิดว่าจะต้องทำแบบแช่แข็งเพื่อเก็บรักษาไว้ให้ได้นานและให้ลูกค้าเวลานำไปรับประทานหรือจำหน่ายจะได้สะดวกมากยิ่งขึ้น คือ 1 ชุดต่อ 1 เสริฟ  เพราะหากพูดตามหลักแล้วขนมหวานไทยๆที่มีกะทิมันจะไม่สามารถอยู่ได้นานข้ามวันก็จะเสียแล้วหรือรสชาติก็จะเปลี่ยนไป จึงเห็นว่าตามร้านอาหารต่างๆบางครั้งขายไม่หมดก็ต้องทิ้งหรือแจกพนักงาน เรียกว่า ขาดทุน และทำให้ต้นทุนในการจำหน่ายขนมหวานตามร้านอาหารสูงขึ้นจึงมีเพียงแค่ผลไม้สดเป็นหลัก

นางตะวัน เล่าต่อว่า หากพูดย้อนไปตอนเด็กๆที่บ้าน พ่อแม่เป็นชาวนา และทำขนมหวานขายอยู่กับแป้ง ไปกินข้าวร้านอาหารก็เห็นจุดอ่อนของร้านอาหารว่า อาหารทำเองอยู่แล้ว ขนมหวานไม่ค่อยมี จึงมีแนวคิดและเริ่มทำการบ้านจากนั้นมา แนวคิดนี้เกิดตอนที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 2 ก็วางแผนไว้ประกอบกับได้ทำวิจัยเรื่องตลาดด้วย ทำให้ยิ่งเป็นแรงผลักดันก้าวเดินต่อ ซึ่งอยากบอกว่าหากเรามีความตั้งมั่นทำอะไรแล้วก็ต้องเดินมุ่งไปทางเดียวให้ถึงที่สุด จึงเป็นเหตุให้ขนมหวานไทยแบบแช่แข็งเกิดขึ้น โดยเมื่อปี 2538เมื่อเรียนจบจากมหาวิทยาลัย แนวคิดนี้ก็ทำต่อและอยากแก้ปัญหาร้านอาหารไม่ต้องยุ่งยากในการเสริฟลูกค้าที่ต้องมาตักแบ่งเป็นถ้วยๆ จึงพยายามหาวิธีง่ายๆ สำหรับลูกค้าจึงเกิดความคิดเหมือนกับในปัจจุบัน

“เริ่มแรกเงินลงทุนในการทำธุรกิจขนมหวานแช่แข็งมีเพียง8,000 บาท แต่โชคดีที่เราตั้งใจทำธุรกิจนี้ตัวเดียว เราไม่ได้ทำอย่างอื่น มุ่งเป้าชัดเจน โดยเริ่มจากการทำ“บัวลอยงาดำ” มุ่งส่งขายยังร้านอาหารจีนเป็นอันดับแรกแถวเยาวราชและทั่วไป เพราะเชื่อว่าแม้จะเป็นร้านอาหารจีนแต่คนทุกชาติก็เข้าไปกินร้านอาหารนั้น และความรู้สึกคนเราเมื่อทานอาหารคาวแล้วก็อยากทานขนมหวาน เหมือนกับตัวเราก็เลยไปคุยกับทางร้านการที่เราดูคือต้องส่งร้านอาหารที่มีกำลังซื้อสูง ภัตตราคารจีน ,ร้านอาหารจีนในกลุ่มภัตตาคารจีน และส่งร้านอาหารไทยด้วย โดยในปี 2539 นำขนมหวานแช่แข็งไปขายใน ร้านอาหารไทยเริ่มที่ร้านอาหารบัวเป็นเจ้าแรกซึ่งมีอยู่ 7-8 สาขาขอบคุณร้านอาหารบัวที่เปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่เข้าไปทำธุรกิจด้วย

จากบัวลอยงาดำ เป็นบัวลอยเผือกมะพร้าว,ทับทิมแก้ว,เต้าทึง จบปัจจุบันเรามีขนมหวานอยู่ประมาณ 40-50 เมนู ทำตามที่ลูกค้าบอกว่าอยากได้อะไร ซึ่งหลักในการดำเนินงานก็คือ จะไม่หยุดนิ่งและพัฒนาไปเรื่อยๆ ปัจจุบันนี้เราเริ่มส่งไปตามห้างร้านต่างๆ เช่น ยำแซ่บ  บาบีคิว เอ็มเค เป็นต้น สูตรเราพัฒนาเอง อยู่กับมันทำกับมัน อะไรก็แล้วแต่ขอให้เราได้ลงมือทำ หากมัวแต่คิดแล้วไม่ลงมือทำมันก็ไม่เกิดการพัฒนา ส่วนเรื่องการพัฒนาแป้งที่ทำขนมหวานนี้เรามีการพัฒนาทุกปีสิ่งสำคัญที่ทำให้ตนและครอบครัวเดินหน้าต่อมาได้เกือบ 20 ปีกับธุรกิจเล็กๆขนมหวานแช่แข็งจนสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ คือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ให้ความรู้ ความเข้าใจ อบรมในการทำธุรกิจที่ต่อยอดหรือสร้างเครือข่ายให้กับผู้ประกอบการในธุรกิจได้ต่อยอด ซึ่งถือว่าดีมากและอยากขอบคุณจากใจถ้าไม่มี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้ามาช่วย ก็คงไม่มีธุรกิจในวันนี้”

“ตอนที่ทำธุรกิจไม่รู้จักใคร มารู้จักกรมส่งเสริมฯจากเพื่อนที่ทำธุรกิจอื่นๆแล้วแนะนำว่า กรมส่งเสริมเขามีโครงการผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมาก โดยเข้าร่วมกับกสอ.ประมาณเกือบ 20 ปีแล้ว ช่วงแรกเขามีอบรม 2 แห่ง คือ กรุงเทพฯกับอยุธยา แต่กรุงเทพฯเต็ม เลยไปที่อยุธยา จึงได้เพื่อนกลุ่มที่มาต่อยอดธุรกิจของเราได้อีก เช่น แป้ง,น้ำมัน การอบรมผู้ประกอบการ คพอ.นั้นต้องทุ่มเวลาเพราะอบรมเป็นเดือน เลยมีการสนิทกัน กลายเป็นพี่กลุ่มบริษัทใหญ่ๆช่วยเหลือน้อง ถือเป็นโครงการเยี่ยมและวิเศษมากของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมาก”

นางตะวัน  บอกด้วยว่า นอกจากรู้จักเพื่อนอยุธยาแล้วก็มารู้จักเพื่อนที่กรุงเทพฯอีก เลยมีเครือข่ายที่สานต่อกันเป็นใยแมงมุมรู้จักกันทั่วประเทศซึ่งประทับใจโครงการนี้มาก จุดเริ่มต้นหน่วยงานรัฐเข้ามาและเป็นแนวคิดที่ดีของภาครัฐที่จะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแบบเราที่จัดอยู่ระดับเล็กๆที่ก้าวเติบโตไปเป็นระดับกลางและระดับที่ใหญ่ขึ้น เราเพิ่งรู้มีเข็มทิศนำทางเราไม่ได้ทำอยู่คนเดียวหรือโดดเดี่ยวในธุรกิจ ซึ่งกสอ.ให้เรื่องของความรู้ การให้คำปรึกษาแนะแนวทาง แต่ทั้งนี้มันขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการว่าจะไปเอาข้อมูลส่วนนี้มาใช้กับตัวเองได้อย่างไร เรียกว่า มีตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการว่าอยากได้หรือไม่ และในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจซบเซา แต่การส่งออกขแงบริษัทฯ ถือว่าดีขึ้นระดับหนึ่ง แต่ถ้าเทียบตลาดในประเทศเยอะกว่าคิดประมาณ 90% ต่างประเทศที่มองหรือวางแผนไว้ 3-5 ปีข้างหน้าให้จะโตประมาณ 10% มองว่าอนาคตต่างประเทศน่าจะช่วยตัวเลขเราได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาดส่งออกของเราจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาบรูไนเวียดนาม และกัมพูชา เป็นต้น ส่วนประเทศจีนและไต้หวันกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากันอยู่ โดยเฉพาะผลไม้ มะม่วงสติก ที่ทำเหมือนไอศกรีมแท่งแต่เป็นเนื้อผลไม้สดล้วนๆ ซึ่งประเทศบรูไนชอบมาก รวมทั้งประเทศจีนและไต้หวันด้วย