โครงการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ต้านภัยค้ามนุษย์

โครงการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ต้านภัยค้ามนุษย์

รณรงค์ใน 4 พื้นที่เป้าหมาย คือ เชียงใหม่ พัทยา อุดรธานี และภูเก็ต โดยกระทรวงท่องเที่ยวฯ สุดคึกคักที่เชียงใหม่

 

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดโครงการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงภัยของการค้ามนุษย์ ที่แอบแฝงมากับการท่องเที่ยว จัดเสวนาและขบวนเดินรณรงค์ใน 4 พื้นที่เป้าหมาย คือเชียงใหม่ พัทยา อุดรธานี และภูเก็ต 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม 2561 ณ ณ ห้องสุพัตรา (ชั้น 2)  โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดโครงการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงภัยของการค้ามนุษย์ ที่แอบแฝงมากับการท่องเที่ยว โดยมี น.ส.ปราณปรียา พลเยี่ยม ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน

รวมถึงมีการเสวนา โดยวิทยากรคือ พ.ต.อ.พัลลภ สุภิญโญ ผู้กำกับการ ฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ,นายพรชัย จิตนวเสถียร กรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวเขตอารยธรรมล้านนา อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชียงใหม่ และอดีตนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ และนางวีรวรรณ  มอสบี้ ผู้ก่อตั้งโครงการฮัก (HUG Project) เพื่อช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ หญิงไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลนักต่อสู้ด้านการค้ามนุษย์ หรือ TIP (Trafficking in Person) Hero  จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ประจำปี ค.ศ. 2017 ที่กรุงวอชิงตัน

น.ส.ปราณปรียา พลเยี่ยม ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ร่วมสนับสนุนแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่แอบแฝงมากับการท่องเที่ยว และช่วยเป็นเครือข่ายและเป็นเจ้าบ้านในการแก้ปัญหา รวมถึงร่วมแชร์ข้อมูลกับตำรวจและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้จังหวัดเชียงใหม่ปลอดจากภัยดังกล่าว

พ.ต.อ.พัลลภ สุภิญโญ ผู้กำกับการ ฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว กล่าวว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งตำรวจมีกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมถึงมีตำรวจท่องเที่ยวและตรวจคนเข้าเมืองคอยสนับสนุน ซึ่งพยายามแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็กและสตรี รวมถึงให้การปราบปรามเมื่อเกิดเหตุ ทั่วประเทศมีปัญหาค้ามนุษย์ปีละกว่า 300 คดี โดยเป็นเรื่องของการค้าประเวณีถึง 280 คดี จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตา การค้ามนุษย์นี้ในทางกฎหมายมีโทษหนักมาก ยิ่งเหยื่อมีอายุน้อยลงเท่าใดโทษก็ยิ่งหนักมากขึ้น อยากให้ผู้ที่จะคิดทำในเรื่องนี้ได้ตระหนักไว้

ปัญหาหนึ่งที่แอบแฝงมากับการท่องเที่ยวคือเซ็กส์ทัวร์ ซึ่งทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศ ส่วนการค้ามนุษย์ในมุมมองของตนปัญหาจะลดลงหากครอบครัวมีความอบอุ่น ซึ่งตำรวจเองเมื่อทำคดีเหล่านี้ก็จะระมัดระวังมากกับผู้ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งจะมีนักสังคมสงเคราะห์หรือพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาช่วยดูแลร่วมด้วย

นายพรชัย จิตนวเสถียร กรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวเขตอารยธรรมล้านนา กล่าวว่า เชียงใหม่เป็นประเทศที่มีการเติบโตมากของจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งปัญหาหนึ่งที่เข้ามาคือกลุ่มมาเฟียหรือค้ามนุษย์ข้ามชาติ ในจำนวนนักท่องเที่ยว 100 เปอร์เซ็นต์นี้เราจะไม่ทราบว่าเป็นนักท่องเที่ยวหรือแฝงมาในรูปแบบอื่น ซึ่งนักท่องเที่ยวเข้ามาเชียงใหม่ปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นแม้เป็นเรื่องดีต่อภาคเศรษฐกิจ แต่ควรตระหนักถึงปัญหาอื่นๆที่จะตามมาด้วย

ปัญหาการค้ามนุษย์บางครั้งยังเกิดจากความไม่รู้ของชาวบ้านและตกเป็นเหยื่อ การมีพื้นฐานครอบครัวที่ดี อบอุ่น ชาวบ้านมีความรู้จะช่วยได้ ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายก็มีส่วน เพราะแต่ละท้องที่ไม่เหมือนกัน ขณะที่เทคโนโลยีต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปและทันสมัยขึ้นก็อาจส่งผลกระทบต่อเรื่องการค้ามนุษย์ได้เช่นกัน แต่เชียงใหม่มีจุดดีคือมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่ดีงามควรส่งเสริมในเรื่องนี้ จะช่วยลดปัญหาการค้ามนุษย์ให้น้อยลง

นางวีรวรรณ  มอสบี้ ผู้ก่อตั้งโครงการฮัก (HUG Project) เพื่อช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ กล่าวว่าจริงๆแล้วตนเองจบสายการสอนมา จึงทำงานอยู่กับเด็กเล็ก และมองเห็นปัญหาที่เกิดกับเหยื่อที่เป็นเด็ก จึงอยากช่วยแก้ปัญหานี้จริงจัง ประกอบกับตนมีธุรกิจด้านไอที จึงผสมผสานความช่วยเหลือตามแนวทางของตน ในการเปิดศูนย์ช่วยเหลือเด็ก ตนเองเห็นปัญหาเรื่องสื่อลามกมาเยอะ และทำงานด้านนี้ อยากให้ครอบครัวมีความอบอุ่นและดูแลกัน จะลดปัญหาได้

สื่อต่างๆในปัจจุบันมีผลทำให้เกิดการละเมิดทางเพศอย่างมาก รูปเพียงรูปเดียวอาจสื่อถึงเด็กเป็นพันๆคน อยากให้ระมัดระวังการใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดีย ผู้ปกครองก็ควรดูแลเด็กๆด้วย

ภายหลังจบการเสวนา มีการจัดขบวนเดินรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ เพื่อประชาสัมพันธ์และรณรงค์ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงภัยของการค้ามนุษย์ ที่แอบแฝงมากับการท่องเที่ยว บริเวณถนนนิมมานเหมินทร์อีกด้วย ภายใต้ Theme การเดินรณรงค์ในชุดเหนือ ได้รับความสนใจจากคนในเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก