พณ.นครปฐม จับมือ สามพรานโมเดล รุกขยายตลาดอินทรีย์

พณ.นครปฐม จับมือ สามพรานโมเดล รุกขยายตลาดอินทรีย์

เปิดพื้นที่ตลาดสุขใจ เป็นจุดจำหน่าย ตลาดกลางสินค้าเกษตรอินทรีย์จังหวัดนครปฐม

จ.นครปฐม : เพื่อตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมและขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย และตอบสนองความต้องการสินค้าอินทรีย์ของผู้บริโภคที่มีการเติบโตสูงขึ้น พาณิชย์จังหวัดนครปฐมซึ่งมีนโยบายเชิงรุกในการขยายตลาดอินทรีย์ จึงจับมือ วิสาหกิจชุมชนสุขใจออร์แกนิก ภายใต้สามพรานโมเดล ขับเคลื่อนให้มีการพัฒนาและขยายช่องทางการตลาดสินค้าอินทรีย์ให้ ล่าสุดได้เลือก ตลาดสุขใจ เป็นจุดจำหน่ายตลาดกลางสินค้าเกษตรอินทรีย์จังหวัดนครปฐม พร้อมมอบห้องเย็นไว้เก็บรักษาคุณภาพผลผลิตระหว่างรอจำหน่าย ให้มีความใหม่สดและมีคุณภาพ รวมถึงยืดอายุการเน่าเสียของผลผลิต

นายภิญโญ  ประกอบผล รองผู้ว่าราชการ จังหวัดนครปฐม  กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาล และแผนพัฒนาจังหวัดนครปฐมให้เป็นแหล่งปลูกผลผลิตอินทรีย์ที่สำคัญของประเทศ ทางจังหวัดได้ให้การสนับสนุนให้มีการบูรณาการทำงานของภาคส่วนต่างๆ รวมถึงภาคเอกชน ภาควิชาการ เกษตรกร และ มูลนิธิสังคมสุขใจ เพื่อเพิ่มปริมาณพื้นที่ปลูกเกษตรอินทรีย์ และจำนวนเกษตรกรอินทรีย์ในจังหวัดนครปฐมให้             มากขึ้น โดยสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรที่ใช้เคมี  มาเป็นการทำเกษตรในระบบอินทรีย์ ซึ่งการที่พาณิชย์จังหวัดมีการทำงานเชิงรุก ในการตั้งจุดจำหน่ายตลาดหลางสินค้าเกษตรอินทรีย์ขึ้นภายในจังหวัดนครปฐม จะทำให้จังหวัดนครปฐมบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น  อันส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกร  สุขภาพของประชาชน  ตลอดจนสิ่งแวดล้อม และเป็นจุดขายที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้น

ด้านนางสุวรรณภา  ศุภประเสริฐ  ผู้อำนวยการกลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า  สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ตามนโยบายตามแผนพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติและแผนยุทธศาสตร์จังหวัดนครปฐม  ทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม และขยายตลาดอินทรีย์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถบริโภคอาหารที่ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และเข้าถึงแหล่งจำหน่ายผลผลิตอินทรีย์  ซึ่งขณะนี้เป็นที่น่ายินดี มีจำนวนเกษตรกรที่ได้มีการปรับเปลี่ยนการผลิตจากการใช้สารเคมี มาเพาะปลูกโดยระบบอินทรีย์มากขึ้น และเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดเกษตรอินทรีย์ ภายใต้งบประมาณปี 2561 ทางพาณิชย์จังหวัด ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาและขยายช่องทางการค้าการตลาดเชิงรุกโดยการจัดตั้งจุดจำหน่าย “ตลาดกลางสินค้าเกษตรอินทรีย์จังหวัดนครปฐม” เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ การกระจายสู่ผู้บริโภค ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จาก สามพราน ริเวอร์ไซด์ ให้ใช้พื้นที่บริเวณตลาดสุขใจ จัดตั้งตลาดกลางสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยมีกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสุขใจออร์แกนิก ทำหน้าที่บริหารจัดการ และยังได้จัดตั้งห้องเย็นเก็บรักษาผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ ในการเก็บรักษาผลผลิต ระหว่างการรอจำหน่าย”

นายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สามพราน ริเวอร์ไซด์ ผู้ก่อตั้งสามพรานโมเดล ในฐานะประธานกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสุขใจออร์แกนิก กล่าวว่า  การมีจุดจำหน่ายตลาดกลางสินค้าอินทรีย์นี้  ไม่เพียงจะทำให้เราสามารถบริหารจัดการผลผลิตให้มีคุณภาพ สดใหม่ ลดความสูญเสียการเน่าเสียของผัก  ยังจะทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ในการกระจายผลผลิตอินทรีย์ไปสู่ผู้บริโภคในวงกว้างขึ้น ซึ่งปัจจุบันจากการทำงานเชื่อมโยงและพัฒนาร่วมกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ การสนับสนุนของภาควิชาการทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนและเพิ่มผลผลิตอินทรีย์ได้มากขึ้นและต่อเนื่อง ทำอย่างไรที่จะสามารถรักษาผลผลิตเหล่านั้นให้มีความสดใหม่ ในส่วนผู้บริโภคที่มีจำนวนมากขึ้นที่ต้องการวัตถุดิบอินทรีย์ไปปรุงอาหารทุกวัน รวมไปถึงความตื่นตัวของร้านอาหาร โรงแรมที่อยากได้วัตถุดิบอินทรีย์ ทำอย่างไรเราจะสามารถจัดส่งผลผลิตเหล่านั้นไปถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นบ่อยขึ้น ดังนั้นการที่พาณิชย์จังหวัดนครปฐม เลือกตลาดสุขใจให้เป็นจุดจำหน่ายและตลาดกลางสินค้าอินทรีย์ รวมถึงสนับสนุนให้มีการตั้งห้องเย็น จะช่วยทำให้เราสามารถบริหารจัดการผลผลิตเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการรักษาคุณภาพสดใหม่ด้วย

“สำหรับ พื้นที่ตลาดสุขใจ ตลอด 8 ปี ที่ผ่านมา ภายใต้การดูแลของมูลนิธิสังคมสุขใจ มีการบริหารจัดการตลาดอย่างเป็นระบบ และมีการดึงการมีส่วนร่วมของเกษตรกรอินทรีย์และร้านค้า  เปิดให้บริการทุกเสาร์อาทิตย์  จุดเด่นของที่นี่ คือ เป็นจุดเชื่อมผู้บริโภคกับเกษตรกรอินทรีย์ได้มารู้จักกัน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์  โดยเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตเป็นผู้ขายเองด้วย แต่ละร้านยังมีการสื่อสารให้ผู้บริโภครู้ถึงราคาที่ชัดเจน การใช้วัตถุดิบในการปรุงอาหาร มีการสุ่มตรวจหาสารเคมีตกค้างในพืชผักที่นำมาจำหน่าย  โดยเฉลี่ยมีผู้บริโภคมาจับจ่ายซื้อของวันละประมาณ 1,000 คน ดังนั้นจึงคาดหมายว่าจากการตั้งจุดจำหน่ายและตลาดกลางสินค้าอินทรีย์นี้  ตลาดสุขใจ จะเป็นจุดเชื่อมสังคมอินทรีย์ที่สำคัญ  ซึ่งเราก็จะได้มีการพัฒนาการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเอื้อต่อการขยายจำนวนเกษตรกรอินทรีย์ และสัดส่วนการบริโภคเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยให้มากขึ้น” นายอรุษ กล่าว