กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดโครงการประชาสัมพันธ์และรณรงค์

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดโครงการประชาสัมพันธ์และรณรงค์

เพื่อสร้างการรับรู้ถึงภัยที่แอบแฝงมากับการท่องเที่ยวจัดเสวนาและขบวนเดินรณรงค์ใน 4 พื้นที่เป้าหมาย พัทยา เชียงใหม่ อุดรธานี ภูเก็ต

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดโครงการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงภัยของการค้ามนุษย์ ที่แอบแฝงมากับการท่องเที่ยว จัดเสวนาและขบวนเดินรณรงค์ใน 4 พื้นที่เป้าหมาย คือพัทยา เชียงใหม่ อุดรธานี และภูเก็ต 

เมื่อวันพฤหัสที่ 17 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องซันไชน์ การ์เด้น โรงแรมซันไชน์ การ์เด้นท์ รีสอร์ท พัทยา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดโครงการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงภัยของการค้ามนุษย์ ที่แอบแฝงมากับการท่องเที่ยว มีการเสวนา โดยวิทยากรคือนายสุขวัฒน์ สุขสวัสดิ์ รองนายกเมืองพัทยา นายเอกสิทธิ์ งามพิเชษฐ์ นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา และพ.ต.อ.อาชยน ไกรทอง รองผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว1 กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว พร้อมขบวนเดินรณรงค์โดยศิลปินโจนัส แอนเดอร์สัน

การต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทยถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ รัฐบาลจึงมีมาตรการในการป้องกันและแก้ไขอย่างเร่งด่วน และมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2560 ตลอดจนมีการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 - 2564) ที่ให้ความสำคัญยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการพัฒนากลไกเชิงนโยบายและการขับเคลื่อน  2) ด้านการดำเนินคดี 3) ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ 4) ด้านการป้องกัน และ 5) ด้านการพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย

ปัจจุบันการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทย มีความร่วมมือในระดับประเทศ ระดับทวิภาคี และระดับภูมิภาค รวมทั้งการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในกรอบสหประชาชาติ และได้ขยายความร่วมมือแบบบูรณาการอย่างครอบคลุมรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน และความร่วมมือในกรอบภูมิภาค

โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก (ACTIP) และความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยเฉพาะในการดำเนินการและพัฒนาบุคลากรด้านการบังคับใช้กฎหมาย

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นองค์กรสำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งต้องดำเนินการด้านมาตรฐานการท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเป็นจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยว และมีสถิตินักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2560 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวทั้งสิ้น  35,381,210 คน ขยายตัวร้อยละ 8.77 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และก่อให้เกิดรายได้รวม  1,824,042.35 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.66 สำหรับแนวโน้มในปี 2561 คาดว่าประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาทั้งหมดรวมกว่า 37 ล้านคน และมีรายได้จากตลาดต่างประเทศที่ 2 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.44%

 ดังนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในบ้านเรามาจากหลากหลายสัญชาติจากทั่วโลก ไทยจึงอยู่ในสายตาชาวโลก และต้องยึดหลักสากลในการอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติไมตรี ประเด็นการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในโลกนี้ทั้งการนำเข้า การส่งออก และเป็นประเทศจุดพักของเป้าหมาย จึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ละประเทศต่างมีกฎหมายในการควบคุมดูแลเรื่องของสิทธิมนุษยชนและการช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันการค้ามนุษย์ที่แอบแฝงมากับการท่องเที่ยว และเพื่อเป็นการสนองต่อนโยบายของรัฐบาล และสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2564) ในยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการป้องกัน จึงได้จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์และรณรงค์เพื่อสร้างการรับรู้ถึงภัยของการค้ามนุษย์ที่แอบแฝงมากับการท่องเที่ยวขึ้น โดยได้จัดการเสวนาใน 4 พื้นที่เป้าหมายคือพัทยา เชียงใหม่ อุดรธานี และภูเก็ต โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิร่วมหารือแนวทางแก้ไขปัญหา และการจัดขบวนเดินรณรงค์ในทุกพื้นที่ ซึ่งนับเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวหลักของประเทศที่มีความสำคัญ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กและสตรีในสถานที่ท่องเที่ยว ที่มีความเสี่ยงต่อการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงภัยของการค้ามนุษย์ที่แฝงมากับการท่องเที่ยว และพัฒนาความร่วมมือกับเครือข่าย ในการเฝ้าระวังป้องกันการท่องเที่ยวที่แสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีต่อการท่องเที่ยวไทย แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

“การค้ามนุษย์” หมายถึง

การจัดหา การขนส่ง การส่งต่อ การจัดให้อยู่อาศัยหรือการรับไว้ซึ่งบุคคลด้วยวิธีการขู่เข็ญ หรือด้วยการใช้กำลัง หรือด้วยการบีบบังคับในรูปแบบอื่นใด ด้วยการลักพาตัว ด้วยการฉ้อโกง ด้วยการหลอกลวงด้วยการใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือด้วยการใช้สถานะความเสี่ยงภัยจากการค้ามนุษย์โดยมิชอบ หรือมีการให้ หรือรับเงิน หรือผลประโยชน์เพื่อให้ได้มาซึ่งความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจ ควบคุมบุคคลอื่น เพื่อความมุ่งประสงค์ในการแสวงประโยชน์ การแสวงประโยชน์อย่างน้อยที่สุด ให้รวมถึงการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีของบุคคลอื่น หรือการแสวงประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การบังคับใช้แรงงานหรือบริการการใช้คนเป็นทาสหรือการกระทำอื่นเสมือนการใช้คนเป็นทาส การทำให้ตกอยู่ใต้บังคับ หรือการตัดอวัยวะออกจากร่างกาย

 

รายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐ

กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา จะมีการจัดทำรายงานการค้ามนุษย์ของทุกปี เป็นรายงานประจำปีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีหน้าที่ต้องจัดทำตามกฎหมาย Trafficking Victims Protection Act of 2000 (TVPA) เพื่อเสนอต่อสภาสหรัฐเกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ประเทศต่างๆ ทั่วโลก รายงานฯ จะครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ซึ่งถูกตัดสินว่าเป็นประเทศต้นทาง ประเทศปลายทาง ประเทศทางผ่าน สำหรับผู้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ในรูปแบบที่ร้ายแรงจำนวนมาก

รายงานยังรวมถึงการประเมินผลว่าความพยายามในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ของรัฐบาลในแต่ละประเทศนั้นสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำ ในการขจัดการค้ามนุษย์ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย TVPA ตามที่ได้มีการแก้ไขแล้วหรือไม่ รายงานส่วนที่เหลือจะอธิบายถึงความพยายามของรัฐบาลแต่ละประเทศในการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ คุ้มครองผู้ตกเป็นเหยื่อ และป้องกันการค้ามนุษย์ รายงานของแต่ละประเทศจะอธิบายพื้นฐานในการจัดให้ประเทศอยู่ในระดับ 1, ระดับ 2, ระดับ 2 ที่ถูกจับตามอง, หรือระดับ 3 ถ้าประเทศใดถูกจัดให้อยู่ในระดับ 2 ที่ถูกจับตามอง รายงานจะอธิบายว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นโดยใช้คำอธิบายซึ่งมีอยู่ในกฎหมาย TVPA ตามที่ได้มีการแก้ไขแล้ว

ความหมายของการจัดระดับ : Tier 1, Tier 2, Tier 2 Watch list, Tier 3

ระดับ 1 (Tier 1) : ประเทศซึ่งรัฐบาลปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมาย TVPA โดยสมบูรณ์
ระดับ 2 (Tier 2) : ประเทศซึ่งรัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมาย TVPA โดยสมบูรณ์แต่กำลังใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะปฏิบัติให้ได้ตาม มาตรฐานเหล่านั้น
ระดับ 2 ที่ถูกจับตามอง (Tier 2 Watch list) : ประเทศที่รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมาย TVPA โดยสมบูรณ์แต่กำลังใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐานเหล่านั้น และ
ก) จำนวนสุทธิของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของรูปแบบที่รุนแรงของการค้ามนุษย์มีจำนวนมาก หรือกำลังเพิ่มขึ้นมาก หรือ
ข) ไม่สามารถแสดงหลักฐานว่ามีความพยายามเพิ่มขึ้นที่จะต่อสู้กับรูปแบบที่รุนแรงของการค้ามนุษย์จากปีที่ผ่านมา หรือ
ค) การตัดสินว่าประเทศนั้นกำลังใช้ความพยายามอย่างมากที่จะปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำมาจากการให้คำมั่นสัญญาของประเทศนั้น ว่าจะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมในปีถัดมา
ระดับ 3 (Tier 3 ) : ประเทศต่างๆ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำโดยสมบูรณ์และไม่ได้ใช้ความพยายาม อย่างมีนัยสำคัญที่จะดำเนินการดังกล่าว