เปิดแผนปฏิบัติการลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์ในEEC

เปิดแผนปฏิบัติการลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์ในEEC

PTTGC ตอกเสาเข็ม รง.ผลิตโอเลฟินส์ 23 มี.ค.นี้ พื้นที่นำร่อง 3 จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา

แผนการพัฒนาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ทั้งจังหวัด ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เริ่มมีความชัดเจนในเชิงนโยบายของภาครัฐ และเข้าสู่การเดินหน้าแผนการสนับสนุนการลงทุน เพื่อดึงเม็ดเงินการลงทุนให้กับประเทศไทย และเพื่อเป็นการฐานของขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะ 20 ปี

ขณะที่ พ.ร.บ.อีอีซีซึ่งจะเป็นกฎหมายรองรับการดำเนินงานที่สำคัญต่อแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ผ่านความเห็นชอบจาก สภานิติบัญญัติ(สนช.)เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมาและคาดว่าจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการประมาณพ.ค.นี้

ส่งผลให้เกิดความเคลื่อนไหวของนักลงทุนทั้งไทยและเทศ โดยในวันที่ 23 มีนาคม นี้ ถือเป็นโครงการแรกภายใต้ การพัฒนาพื้นที่ EEC ที่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด(มหาชน ) หรือ PTTGC ได้ประกาศลงทุนที่เป็นรูปธรรมโครงการแรก ภายใต้ โครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตโอเลฟินส์ (Olefins Reconfiguration Project)

โครงการดังกล่าว ถือเป็นการลงทุนขนาดใหญ่กว่า 70,000 ล้านบาท เป็นรายแรกของไทย ในการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตโอเลฟินส์ (Olefins Reconfiguration Project) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันการผลิตโอเลฟินส์ ณ โรงงานที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ด้วยขนาดกำลังการผลิตเอทิลีน 500,000 ตันต่อปี และโพรพิลีน 250,000 ตันต่อปี โดยวันที่ 23 มีนาคม 2561นี้ กำหนดวางศิลาฤกษ์ เพื่อเดินหน้าโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 36 เดือน และสามารถเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2563 นอกจากนี้ยังมีอีกโครงการภายใต้แผนการลงทุนดังกล่าว ประกอบด้วย โครงการผลิตสารโพรพิลีนออกไซด์ ภายใต้บริษัทย่อยคือ GC Oxirane (GCO) และโครงการผลิตสารโพลิออลส์ ภายใต้บริษัทร่วมทุน GC Polyols (GCP) โดยโครงการผลิตภัณฑ์พลาสติกวิศวกรรมชั้นสูงทั้งสองโครงการเป็นการร่วมลงทุนกับพันธมิตรประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้โครงการดังกล่าว ถือเป็นโครงการที่มีเป้าหมายสำคัญ ต่อการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTGC กล่าวว่า “อีอีซีถือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีความแน่นอน ที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้น โดยยังคงรักษาความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน และจากการที่พ.ร.บ.อีอีซีเตรียมประกาศใช้ มีความชัดเจนว่าจะมีการดูแล เศรษฐกิจระดับชุมชน สิ่งแวดล้อม”

ดังนั้นเชื่อว่านับจากนี้ไปการลงทุนของภาคเอกชนโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายจะมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งจากไทยและต่างชาติที่แสดงความสนใจอย่างมากเพราะความชัดเจนในนโยบายของประเทศไทยในการส่งเสริมการลงทุนรวมไปถึงพ.ร.บ.อีอีซี ที่ได้วางกรอบการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมโดยมีการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีการกระจายความเจริญไปสู่ทุกระดับ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และเกษตรอีกด้วย

การลงทุนของภาคเอกชนและรัฐในพื้นที่อีอีซีจะมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่มีเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางในอนาคต ดังนั้นเราจะได้เห็นมิติใหม่ของการลงทุนไทยที่หยุดนิ่งมาเกือบ 10 ปีให้ขับเคลื่อนและไปสู่อุตสาหกรรมที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี โดยอีอีซีจะเป็นฐานการลงทุนของไทยเพื่อสร้างเทคโนโลยี สำหรับเจเนอเรชั่นต่อไป และเปิดประตูการค้าเชื่อมสู่เวทีโลก

สำหรับแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้วางเป้าหมายไว้ว่าการลงทุนของรัฐและเอกชนในพื้นที่อีอีซี จะมีมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทใน 5 ปีแรก อาทิ สนามบินอู่ตะเภา เมืองการบินภาคตะวันออก, ท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด เฟส 3 แหลมฉบัง เฟส 3 สัตหีบ, รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา, อุตสาหกรรมเป้าหมาย, เป็นต้น ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโต 5% ต่อปีเกิดการจ้างงานใหม่กว่า 100,000 อัตราต่อปี ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ 4 แสนล้านบาทต่อปี มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10 ล้านคนต่อปี และได้ฐานภาษีใหม่ 1 แสนล้านบาทต่อปี ฯลฯ