อ.ส.ค. รุกตลาดนมพร้อมดื่ม UHT ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

อ.ส.ค. รุกตลาดนมพร้อมดื่ม UHT ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

ส่งทีมรุกขยายตลาดหัวเมืองหลักชิงส่วนแบ่งวางเป้าได้กำไรกว่า 100  ล้านบาท ชี้ยอดส่งออกกัมพูชา-ลาวเติบโตต่อเนื่อง

 

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (...) เปิดเผยว่า ขณะนี้ อ.ส.ค. ได้คัดเลือกและเพิ่มตัวแทนจำหน่ายหรือเอเย่นต์ที่มีศักยภาพรายใหม่ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์อีก 1 ราย จากเดิมที่มีเพียงรายเดียวซึ่งมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม UHT ไทย-เดนมาร์ค ผ่านแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่าเท่านั้น  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับสินค้าแบรนด์ไทย-เดนมาร์คในตลาดต่างประเทศ ทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายและขยายฐานผู้บริโภคในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เพิ่มมากขึ้น และเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดนมพร้อมดื่มในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ด้วย เบื้องต้น อ.ส.ค. ได้เข้าไปสำรวจความพร้อมของตัวแทนจำหน่ายรายใหม่ดังกล่าว ก่อนที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์นม UHT ไทย-เดนมาร์คไปทำตลาดในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์อย่างเป็นทางการ  

ขณะเดียวกัน อ.ส.ค. ยังมีการตรวจเยี่ยมสถานที่จัดเก็บรักษาคุณภาพหรือคลังสินค้าของตัวแทนจำหน่ายในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ รวมถึงระบบโลจิสติกส์และการกระจายสินค้า นอกจากนั้น ยังดำเนินการสำรวจตลาดและศึกษาความต้องการของผู้บริโภคในเมืองย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ รวมถึงเมืองอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงด้วย เพื่อจะได้วางแผนส่งเสริมสนับสนุนการทำตลาดของตัวแทนจำหน่ายรายใหม่ ให้ได้ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ปีแรก ประมาณ 60-100 ล้านบาท รวมตัวแทนจำหน่ายในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ 2 ราย อ.ส.ค. คาดว่า จะสามารถผลักดันส่งออกไปยังตลาดพม่าได้ถึง 100-200 ล้านบาท/ปี

“อ.ส.ค. ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เทรนด์ (Trend) การบริโภคนมพร้อมดื่มในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เป็นอย่างไร จึงจำเป็นต้องเร่งสำรวจ ศึกษา และทดลองตลาดนมไทย-เดนมาร์คในช่วงแรกอย่างเข้มข้น เพื่อที่จะสนองตอบความต้องการของลูกค้าได้ตรงทุกกลุ่มเป้าหมาย อาทิ รสชาติยอดนิยม และขนาดบรรจุ เป็นต้น อีกทั้งยังจะใช้ฐานข้อมูลการบริโภคนมไทย-เดนมาร์คในประเทศกัมพูชา และ สปป.ลาว มาเป็นแนวทางในการทำตลาดนมในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และช่วยโปรโมทสินค้าแบรนด์ไทย-เดนมาร์คเพื่อสร้างการรับรู้ ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของผู้บริโภคในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เพิ่มมากขึ้น เบื้องต้น อ.ส.ค. คาดว่า จะสามารถส่งออกนม UHT ไทย-เดนมาร์ค 3 รส ได้แก่ รสจืด รสหวาน และรสช็อกโกแลต ไปจำหน่ายในย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และเมืองใกล้เคียงได้ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2561 นี้” ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว

ผอ.อ.ส.ค. กล่าวอีกว่า สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม UHT ไทย-เดนมาร์คไปยังกัมพูชาและ สปป.ลาว มีแนวโน้มดีและเติบโตต่อเนื่อง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 ยอดขายโดยรวมอยู่ที่ 90-95% ซึ่งใกล้เคียงเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากเกิดปัญหาเรื่องโรคปากและเท้าเปื่อยหรือเอฟเอ็มดี (FMD) ระบาดในฟาร์มโคนมหลายพื้นที่ ทำให้น้ำนมดิบภายในประเทศขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อความต้องการแปรรูป ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวช่วงหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปริมาณน้ำนมดิบที่ป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูปนมของ อ.ส.ค. ทั้ง 5 แห่ง เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ จากวันละ ประมาณ 550 ตัน เพิ่มเป็น 730 ตัน/วัน ซึ่งในปีนี้ อ.ส.ค.  คาดว่า จะสามารถผลักดันส่งออกนมพร้อมดื่มไทย-เดนมาร์คไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท