เกษตรฯ คลอดมาตรฐาน “ผักคะน้า” ปกป้องผู้บริโภค

เกษตรฯ คลอดมาตรฐาน “ผักคะน้า” ปกป้องผู้บริโภค

ลดความเสี่ยงสารตกค้าง-ปกป้องผู้บริโภค ชี้คนไทยนิยมเปิบคะน้าปีละ 7-8 หมื่นตัน พื้นที่ปลูกแนวโน้มขยายตัว

 นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่าคะน้าเป็นผักชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และเป็นที่นิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย เนื่องจากราคาไม่แพงและสามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลายเมนู ประกอบกับคะน้าเป็นผักที่ปลูกง่ายโตเร็ว เกษตรกรสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีและทั่วทุกภูมิภาค ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกคะน้ารวมกว่า 55,000 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม กำแพงเพชร สุพรรณบุรี พิษณุโลก ปทุมธานี ราชบุรี ศรีสะเกษ เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น และสงขลา ได้ผลผลิตปีละ 70,000-80,000 ตัน ซึ่งคาดว่า พื้นที่ปลูกจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไทยยังไม่มีเกณฑ์ทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัยของผักคะน้าที่เป็นมาตรฐานของประเทศ  มกอช.จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง ผักคะน้า ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางยกระดับการผลิตคะน้าให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัยและตรงตามความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังสามารถใช้เป็นเกณฑ์และกลไกอ้างอิงทางการค้า รองรับการเปิดตลาดการค้าเสรีสินค้าเกษตรในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่สำคัญยังช่วยลดความเสี่ยงสารพิษตกค้างปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในผักคะน้า และช่วยปกป้องคุ้มครองเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภคด้วย

 เลขาธิการ มกอช. กล่าวอีกว่า ร่างมาตรฐานฯ ผักคะน้านี้ มีเนื้อหาครอบคลุมพันธุ์คะน้าที่ผลิตเป็นการค้าทุกสายพันธุ์ ได้แก่ ผักคะน้าต้น คะน้ายอด คะน้าฮ่องกง และผักคะน้าเห็ดหอม ที่ผ่านการจัดเตรียมและบรรจุหีบห่อเพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภคในรูปคะน้าสด โดยมีสาระสำคัญ อาทิ ข้อกำหนดคุณภาพขั้นต่ำ การแบ่งชั้นคุณภาพคะน้าเป็น 3 เกรด ได้แก่ ชั้นพิเศษ (Extra Class) ถือเป็นเกรดที่ดีที่สุด และเกรดรองลงมา คือ ชั้นหนึ่ง และชั้นสองตามลำดับ นอกจากนั้น ยังมีการจัดขนาดคะน้าโดยผักคะน้าต้นและยอดต้องมีน้ำหนักต่อต้นไม่น้อยกว่า 15 กรัม หรือมีความยาว (วัดจากโคนต้นถึงปลายใบ) ไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร รวมทั้งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการบรรจุหีบห่อ ความสม่ำเสมอของสินค้า ภาชนะบรรจุ รวมถึงการแสดงฉลาก การแสดงเครื่องรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร

ที่สำคัญคือข้อกำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดซึ่งต้องเป็นไปตามกฎหมาย และมาตรฐานปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่กำหนดไว้ รวมถึงการผลิตและการปฏิบัติต่อผักคะน้าในขั้นตอนต่างๆ รวมถึงการบรรจุ การเก็บรักษา การขนส่ง จะต้องถูกปฏิบัติอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่จะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภค

“ขณะนี้ มกอช. อยู่ระหว่างเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงร่างมาตรฐานฯ ผักคะน้าให้ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ และอยู่ในแนวทางที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ก่อนเสนอให้คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรพิจารณาเห็นชอบและประกาศใช้เป็นมาตรฐานของประเทศต่อไป ซึ่งคาดว่า จะประกาศใช้มาตรฐานฯ ดังกล่าวภายในปี 2561 นี้” นางสาวเสริมสุข กล่าว