สสส. ประสบความสำเร็จบูรณาการกิจกรรมโรงพยาบาลต้นแบบ 4 ภาค

สสส. ประสบความสำเร็จบูรณาการกิจกรรมโรงพยาบาลต้นแบบ 4 ภาค

โครงการ“พัฒนาต้นแบบโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพในด้านการจัดบริการอาหารสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม”

 

ทุกครั้งเวลาที่เราเจ็บป่วยจะต้องคิดถึงโรงพยาบาล ดังนั้นโรงพยาบาลจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม  โครงการ“พัฒนาต้นแบบโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพในด้านการจัดบริการอาหารสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม” โดยสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ หรือสสส. ได้ถูกบูรณาการขึ้นเพื่อต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโดยเน้นกลุ่มเป้าหมายทั้งประชาชนที่มารับบริการในโรงพยาบาลและบุคลากรโรงพยาบาล เพื่อสร้างเสริมสุขภาพต้นแบบ ในการลดหวานมันเค็ม ที่เกิดจากการสร้างพลังและการมีส่วนร่วมของบุคลากรในโรงพยาบาลและชุมชน โดยในปีนี้เป็นการนำร่องของโรงพยาบาลต้นแบบ จำนวน 4 แห่ง แบ่งเป็น 4 ภาค ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี (ภาคกลาง) โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี (ภาคใต้) โรงพยาบาลพะเยา (ภาคเหนือ) และโรงพยาบาลสุรินทร์ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เพื่อกำหนดเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาลดปัญหาโรควิถีชีวิตที่สำคัญ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดสมอง และไตเรื้อรัง ใน 4 ด้าน คือ ลดการเกิดโรค ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการตาย ลดภาระค่าใช้จ่าย  

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่าโครงการนี้เป็นนโยบายที่จะบูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้เกิดนโยบายและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาพ ทั้งในโรงพยาบาล และสังคม เพื่อให้บุคลากร นักศึกษา ผู้รับบริการและญาติ รวมถึงประชาชนทั่วไป มีสุขภาพที่ดีและเกิดสังคมสุขภาวะ  ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกอาหารสุขภาพที่เข้าถึงง่าย การสร้างความมีส่วนร่วมทั้งในระดับหน่วยงานและบุคคล เพื่อให้เกิดความตระหนักและเพิ่มทักษะในการเลือกอาหารสุขภาพ จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมช่วยกัน นำไปสู่การเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อให้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ  ตลอดจนการรณรงค์เพื่อสร้างกระแสให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและยกระดับคุณภาพของแต่ละโรงพยาบาลและชุมชน ส่งผลให้คนไทยลดการบริโภคอาหารหวาน  มัน  เค็ม เพิ่มการออกกำลังกาย ลดภาวะเครียด  ซึ่งคาดว่าทำให้เกิดการจัดการอาหารที่ปลอดภัย เกิดมาตรการทางสังคม  มีปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ  เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพต้นแบบในการลดหวานมันเค็ม  ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของบุคลากรในโรงพยาบาลและชุมชน

นท.พญ.วรวรรณ  ชัยลิมปมนตรีประธานโครงการโรงพยาบาลต้นแบบสร้างเสริมสุขภาพด้านการจัดบริการสุขภาพลดหวานมันเค็ม กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงในประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไปสูงขึ้นมาก ทั้งยังพบว่ามีอัตราการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตวาย เพิ่มขึ้นอย่างมาก โครงการ “พัฒนาต้นแบบโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพในด้านการจัดบริการอาหารสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม” ได้เข้ามามีส่วนสร้างระบบการจัดการบริการอาหารสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกบริโภคอาหารสุขภาพ รณรงค์สร้างกระแสให้ประชาชนรับรู้ ให้หันมาเลือกบริโภคอาหารสุขภาพลดหวาน มัน เค็ม เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงอาหารสุขภาพ และสามารถเป็นแบบอย่างให้กับโรงพยาบาลและสถานบริการของรัฐอื่น ๆ ต่อไป

นพ.สุพจน์ ภูเก้าล้วน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าวว่าโครงการฯนี้ ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดย รพ.สุราษฎร์ธานี ได้มีการปรับเมนูอาหารสุขภาพในร้านสวัสดิการ 7 ร้าน 7 เมนู ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวต้มยำทะเล, เส้นหมี่ราดหน้าหมูผักรวมมิตร, ก๋วยเตี๋ยวน้ำตำลึงหมูแดง, แกงส้มกุ้งผักรวม, ต้มส้มปลากระบอก, ข้าวหมูแดง, แกงส้มปลากระพงยอดมะพร้าวและปรับเมนูอาหารว่าง เป็น Healthy break  

พญ.จิรพร  ภัทรนุธาพร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพะเยา กล่าวว่า สำหรับรพ.พะเยา มีอาหารที่ปรับสูตรแล้ว 4  รายการ  ได้แก่ ข้าวมันไก่  ข้าวผัดหมู  น้ำพริกหนุ่ม และน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว รวมถึงกาแฟสด  นอกจากนี้ยังมีการคัดเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วย 10 เมนู ได้แก่ ข้าวต้มหมู ,ผัดผักรวมหมู ,ลาบหมูเมือง ,น้ำพริกอ่อง ,แกงส้มมะละกอ ,ยำไก่ใส่หัวปลี  ,แกงฮังเล ,พะโล้เต้าหู้แข็งไข่ไก่ ,แกงแคหมูและแกงจืดมะระยัดไส้

นพ.ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับรพ.สุรินทร์ มีร้านค้าเข้าร่วมประกวดเมนูอาหารลดหวานมันเค็ม จำนวน 15 ร้าน มีการจัดประกวดและประกาศผลผู้ที่ได้รับคัดเลือกเมนูสุขภาพอันดับ 1,2,3 และรางวัลชมเชย  ซึ่งทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

นพ.สมเกียรติ  ลีละศิธร  รองคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า รพ.รามาธิบดีได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ลดเค็ม เพื่อสุขภาพ” มีจำนวนผู้เข้าร่วมอบรมถึง 3 รุ่น มีการจัดประกวดคำขวัญ ประกวดอาหารลดเค็มเพื่อสุขภาพ มีร้านค้าที่เข้าร่วมกิจกรรมลดหวานมันเค็ม จำนวน  46 ร้าน ประกอบด้วย ร้านค้าอาคารวิจัย 24 ร้าน,ร้านค้าอาคารสมเด็จเทพรัตน์ 16 ร้าน ,ร้านค้าบริเวณพาวิลเลียน 4 ร้านและ อาหารฝ่ายโภชนาการ 2 เมนู นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย มีการคิดสูตรเมนูอาหารลดหวานมันเค็ม เช่น ยำมะระกุ้งสด ,แกงเห็ดเพื่อสุขภาพ พลอยชมพูหรือทับทิมกรอบ เป็นต้น

โครงการ “พัฒนาต้นแบบโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพในด้านการจัดบริการอาหารสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม” ซึ่งในปีหน้า จะเพิ่มเติมโรงพยาบาลต้นแบบอีกจำนวน 12 แห่งทั่วประเทศ   ซึ่งการปรับสูตรเมนูสุขภาพลดหวานมันเค็ม  เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ  เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในโรงพยาบาล แต่จะสะท้อนกลับไปยังสังคมครอบครัวทั้งที่บ้าน ต่อเนื่องไปยังโรงเรียนและสังคมอื่น ๆ  ต่อไป  อย่างน้อยหากดำเนินโครงการนี้ได้อย่างต่อเนื่อง โรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ก็น่าจะลดน้อยลงไปจากสังคมไทยในที่สุด