งาน Wisdom Goods Expo

งาน Wisdom Goods Expo

15-19 พย. นี้ ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบพระชนมพรรษา จ.นครปฐม

สังคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะการออกแบบ (Design Art) ว่าเป็นกลไกขับเคลื่อนวิถีชีวิตของมนุษย์ เนื่องจากเป็นอาณาเขตของศาสตร์ที่บรรจบกันระหว่างการออกแบบพัฒนาเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและความงดงามทางศิลปะ ด้วยเหตุนี้ ศิลปะการออกแบบ จึงรังสรรค์ขึ้นเพื่อสร้างคุณค่าทั้งด้านกายภาพและจิตวิญญาณ โดยแต่ละพื้นที่ในโลกล้วนมีอารยะศิลปะอันเป็นปัจเจก ซึ่งสังคมมนุษย์เรียนรู้และพัฒนาตนเองจากสภาพแวดล้อมจนสั่งสมเป็นวัฒนธรรมประจำถิ่น ก่อนจะถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นต่อรุ่นไปสู่ความยั่งยืนของมวลมนุษย์

เพื่อนำเสนอนวัตกรรมศิลปะการออกแบบที่มีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งด้านคุณค่าและมูลค่า ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล จังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี โดยสำนักงานพัฒนาชุมชน ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดโครงการศิลปะ
การออกแบบเพื่อการพัฒนาสินค้าคืนสู่มาตรฐานสินค้าระดับสากลและการแสดงสินค้าเชิงปัญญาDesign Arts Project of Universal Standard Development for Local Goods and Wisdom Goods Expo เพื่อมุ่งหวังพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup)สู่ความเป็นเลิศในตลาดสากล

โครงการนี้จัดขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนใน 4 จังหวัดอาณาจักรทวารวดีเดิม ได้แก่ นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี ด้วยศิลปะการออกแบบที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลงานที่สร้างจากภูมิปัญญาดั้งเดิม จนได้เป็นสินค้าที่เหมาะกับชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะสร้างความแตกต่างให้แก่สินค้าต้นแบบที่รังสรรค์ขึ้นแล้ว ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้มองเห็นเส้นทางการพัฒนาผลงานต่อไป ภายใต้แบรนด์ที่ชื่อ dva dva” (ทวา ทวา)

รองศาสตราจารย์ปรีชา ปั้นกล่ำ ประธานกรรมการหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาศิลปะการออกแบบ และในฐานะประธานโครงการฯ กล่าวถึงที่มาของงานนี้ว่า “หลักสูตรศิลปะการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รับผิดชอบในการสร้างพลวัตด้านศิลปะการออกแบบ สร้างมหาบัณฑิตเข้าสู่สังคมเพื่อเป็นฟันเฟืองพัฒนาประเทศในด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้คณาจารย์ได้ลงพื้นที่เพื่อเฟ้นหา 40 ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนระดับ 4-5 ดาวผู้มีศักยภาพในเขตจังหวัดทวารวดี ประเมินศักยภาพเพื่อเข้าร่วมเวิร์คช็อปและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับดีไซเนอร์ที่มีผลงานประจักษ์ในเวทีระดับโลกด้านการออกแบบแต่ละด้าน เพื่อเติมความรู้ เสริมไอเดีย และเพิ่มมูลค่า เป็นสินค้าเชิงปัญญา หรือ Wisdom Goodsอันหมายถึงสินค้าที่สร้างสรรค์ขึ้นอย่างมีอัตลักษณ์ เพื่อนำเสนอภูมิปัญญาไทยสู่ระดับสากล”

ด้าน รัฐ เปลี่ยนสุข ผู้ก่อตั้ง Sumphat Gallery เจ้าของรางวัล DEmark (Design Excellence Award) ประเทศไทย และ G Mark (Good Design Award) จากประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในดีไซเนอร์เลือดไทยที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในโครงการฯ นี้ กล่าวว่า ทุกวันนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อสินค้าด้วย 2 เหตุผลหลัก ได้แก่ ซื้อเพราะประโยชน์ใช้สอยที่ตอบโจทย์การใช้งาน และซื้อเพราะสุนทรียภาพหรือความงดงามทางศิลปะ การผลักดันให้สินค้าชนิดหนึ่ง ๆ ไปไกลกว่าเพียงคุณค่าด้านการใช้สอย สู่คุณค่าทางอารมณ์และประสบการณ์
ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าได้มากขึ้นหลายเท่าตัว

“สิ่งที่ผู้ประกอบการจะได้รับคือ องค์ความรู้ด้านการออกแบบจากดีไซเนอร์และแนวคิดเรื่องการดัดแปลงวัสดุเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม อันเป็นการบริหารทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการมองเห็นตลาดสำหรับสินค้าของตนเอง และเข้าใจโครงสร้างราคาที่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างเครือข่ายรู้ว่าแต่ละคนอยู่ตรงจุดไหนของสายอาชีพ แล้วช่วยกันส่งเสริมทั้งระบบให้เติบโตไปด้วยกัน”

ด้าน 1 ใน 40 ผู้ประกอบการเจ้าของผลิตภัณฑ์ดอกไม้ประดิษฐ์จากดินไทย บุญตา เกตุบุญลือ วิสาหกิจชุมชนศิลปะประดิษฐ์ดินไทยไทยธรรม จากจังหวัดนครปฐม ที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า เดิมทีที่บ้านทำนาบัว จึงนำดินไทยมาปั้นเป็นดอกบัว ใบตอง และพานดอกไม้ในลักษณะเหมือนจริง ใช้สำหรับบูชาพระ หลังจากเข้าร่วมเวิร์คช็อป จึงนำเอาคำแนะนำจากนักออกแบบมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังคงไว้ซึ่งความพลิ้วไหว แต่เพิ่มเติมอารมณ์ความงดงามตามธรรมชาติในห้วงอารมณ์ต่าง ๆ ผ่านโทนสีที่ปรับให้ดูนุ่มนวลอ่อนหวานมากขึ้น จึงนอกจากจะทำขึ้นเพื่อไหว้พระ ก็ยังเป็นของตกแต่งบ้านได้ด้วย

“การเข้าร่วมโครงการฯ นี้จะทำให้ได้พัฒนาตัวเอง การสร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่างจะทำให้เป็นที่จดจำ โดยนักออกแบบมีส่วนช่วยในการเสริมไอเดียต่าง ๆ ที่คิดไม่ถึง ต้องเข้าใจด้วยว่าเราไม่ได้เป็นผู้ประกอบการรายเดียวในจังหวัด การที่เราตัดสินใจเข้าโครงการนี้เพราะต้องการเอาชนะตัวเองให้ได้ อย่าลืมว่าถ้าเราพัฒนาช้า คนอื่นที่เขาเร็วกว่าเราก็มี ถ้าเราพัฒนาให้เร็วได้ ย่อมดีกว่าจะไปทีละน้อย ทีละน้อย”

ร่วมชม ช้อป และสนับสนุนผลิตภัณฑ์โอทอปที่ผ่านการตีความใหม่ หากยังคงอัตลักษณ์แบบดั้งเดิม ได้ที่งาน“แสดงสินค้าเชิงปัญญา หรือ Wisdom Goods Expoในรูปแบบฮิปมาร์เก็ต ครอบคลุมสินค้าอาทิ งานหัตถกรรมจักสาน งานเครื่องหนัง งานปั้น งานผ้า และงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ ฯลฯ จำนวน 120 ร้าน ประกอบด้วย ผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมจากโครงการฯ จำนวน 40 ราย และผู้ประกอบการอีก 80 รายที่ผ่านการคัดเลือก ระหว่างวันที่ 15-19 พฤศจิกายนนี้ ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร จ.นครปฐม ตั้งแต่เวลา 11.00-18.00 น. รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/DesignArtsDvaravatiและ 081-920-8995

# # # # #

ข้อมูลประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม กรุณาติดต่อ :

ดวงสมร สกุลอารีย์มิตร 089 222 6969, วศินี อ่องจริต 086 559 9198, กัณฑิมา วรรณรัตน์ 087 337 7788